การวิจัยใหม่เผย!! เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘ปลาช่อน’

ปลาช่อนเป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยรู้จักดีที่สุด ทั้งยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ จุดเด่นของปลาช่อนคือถึกทนมีลูกเยอะ แต่แค่นี้ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ปลาช่อนประสบความสำเร็จในโลกที่โหดร้ายนี้ได้ พวกมันมีมากกว่านั้น นอกจากมันจะเลี้ยงลูกอย่างดีแล้ว มันยังเตรียมสิ่งที่เรียกว่า "ไข่โภชนาการ" เอาไว้ให้ลูกๆ ของมันอีกด้วย ...เดี๋ยวเรามาดูกันว่าปลาช่อนทำยังไงถึงประสบความสำเร็จขนาดนี้

การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นว่า การปรับตัวที่พิเศษของปลาในสกุลปลาช่อน ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปลาช่อนเมื่อประมาณ 12 ล้านปีก่อน พฤติกรรมนี้อาจทำให้ปลาสามารถเอาชนะสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และนำไปสู่ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่พบในกลุ่มปลาช่อนโดยเฉพาะ

แม้ว่าสายพันธุ์ปลา 20-25% ของโลก จะดูแลลูกของมัน แต่การดูแลโดยพ่อแม่มักจะจำกัดอยู่แค่การปกป้องหรือดูแลไข่และลูกปลาเท่านั้น เฉพาะในกรณีที่หายากเท่านั้น ที่พ่อแม่จะจัดเตรียมอาหารให้ลูกโดยตรง

ทั้งนี้มีปลาจำนวนหนึ่งสามารถสร้างเมือกที่ผิวหนัง ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหาร เพื่อให้ลูกปลากินเป็นอาหารเสริมในช่วงสองสามสัปดาห์แรก ซึ่งจนถึงตอนนี้ ปลาดุกกัมปางโก (Kampango catfish) ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบมาลาวี ดูเหมือนจะเป็นชนิดเดียวในบรรดาปลากระดูก (Bony fish) เกือบ 30,000 ชนิด ที่นักวิจัยรู้จักว่ามันจะผลิตไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิเพื่อใช้เป็นอาหารให้แก่ลูกของมัน

กัมปางโก (Kampango catfish)

แล้วจากการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ พวกเขาพบว่าปลาช่อนบางชนิดที่อยู่ในสกุลชานนา ยังให้อาหารลูกด้วยไข่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วย ซึ่งปลาช่อนพวกนี้มีอย่างน้อย 35 ชนิดที่อาศัยอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย แน่นอนว่าพวกมันทั้งหมดเป็นสัตว์กินเนื้อ และบางชนิดสามารถยาวได้ถึง 120 เซนติเมตร

โดยการใช้ไข่ให้อาหารเป็นรูปแบบของการจัดหาสารอาหารของผู้ปกครอง ซึ่งพบได้บ่อยในแมลง แมงมุมและกบมากกว่าในปลา ตัวอย่างเช่น ในกบ การใช้ไข่โภชนาการมีวิวัฒนาการอย่างอิสระหลายครั้ง ซึ่งมักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดสารอาหาร

ไข่โภชนาการ อาจสร้างโอกาสทางนิเวศวิทยาใหม่ได้

Advertisements

การศึกษานี้ใช้การทดลองในตู้ปลา เพื่อจำกัดให้แคบลงว่าปลาช่อนชนิดใด ที่มีการจัดหาไข่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนแผนภูมิต้นไม้ของสกุลปลาช่อนนั้นมีอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ทำแผนที่พฤติกรรมบนต้นไม้ต้นนี้

ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมดังกล่าว พบว่าปลาในสกุลปลาช่อนส่วนใหญ่จะสืบพันธุ์แล้วออกไข่ที่ลอยน้ำอยู่ในรังที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ หลังจากนั้นตัวพ่อหรือทั้งพ่อและแม่ปลา จะดูแลลูกเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าลูกปลาจะโตมากพอ และมันก็ยังผลิตไข่ที่ไม่ได้การปฏิสนธิ เพื่อใช้เลี้ยงดูลูกๆ ของพวกมัน

ภาพ A คือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นของปลาก้าง
ภาพ B คือไข่โภชนาการ และเป็นของปลาก้างเช่นกัน
Advertisements

และดูเหมือนพวกมันจะทำแบบนี้มาได้ประมาณ 12 ล้านปีมาแล้ว และการเลี้ยงลูกแบบนี้มีแนวโน้มมากที่สุดในปลาช่อน 20 ชนิดที่มีชีวิตในปัจจุบัน

และเพราะความสามารถในการให้อาหารลูกอ่อนของพวกมัน ทำให้ปลาเหล่านี้สามารถแพร่กระจายไปยังสภาพแวดล้อมที่ขาดอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกปลา ทำให้พวกมันขยายไปยังภูมิภาคใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น

จากนี้เดี๋ยวมาลองดูการพัฒนาของลูกปลาช่อนตั้งแต่วันแรก ซึ่งปลาเหล่านี้ได้รับเพียงไข่โภชนาการจากพ่อแม่เท่านั้น

วันที่ 1 – เป็นลูกปลาช่อนขนาดเล็กมาก ที่ดูไม่เหมือนปลาช่อน
วันที่ 7 – ดูเหมือนปลาจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และหากมองดีๆ จะเห็นไข่โภชนาการในท้อง
Advertisements
วันที่ 14 – หากมองดีๆ ลูกปลาช่อนยังมีไข่โภชนาการอยู่ในท้องที่เริ่มหนาขึ้น
วันที่ 20 – อาจพูดได้ว่ามองไม่เห็น ไข่โภชนาการแต่ก็ยังมีร่องลอยเหลืออยู่ และปลาก็ดูเหมือนปลาช่อนมากขึ้น
วันที่ 34 – เกือบจะไม่ต่างจากวันที่ 20 นอกจากความยาวที่เพิ่มขึ้น ความเป็นปลาช่อนก็มากขึ้นเช่นกัน
Advertisements
วันที่ 42 – เป็นภาพสุดท้ายของการทดลอง สภาพโดยรวมไม่ต่างจากวันที่ 34

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือ จากตัวอย่างลูกปลาก้าง (Channa gachua) และลูกปลาช่อนแอนดริว (Channa andrao) ที่อายุน้อยกว่า 7 วัน นักวิจัยได้แยกลูกปลาออกจากพ่อแม่ ผลคือพวกมันอดตาย แม้จะมีการให้อาหารที่คิดว่าเหมาะสมอย่าง “อาร์ทีเมีย” ที่มีชีวิต สิ่งนี้ทำให้รู้ว่า ลูกปลาเหล่านี้ล้มเหลวในการรับรู้แหล่งอาหารอื่น และพวกมันจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่อย่างน้อยก็สัปดาห์แรกของชีวิต

ในกรณีของปลาช่อนพัลชรา (Channa pulchra) ค่อนข้างแตกต่าง เมื่อเทียบกับปลาก้างและปลาช่อนแอนดริว ..ไข่ของปลาช่อนพัลชราค่อนข้างใหญ่กว่า และจากการเฝ้าติดตามก็พบว่า พวกมันไม่มีไข่โภชนาการ แถมยังวางไข่อย่างต่อเนื่องเป็นชุดๆ ซึ่งห่างกันประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมันก็ทำแบบนี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ลูกปลาจึงมีพี่น้องที่มีอายุและขนาดที่ต่างกัน แต่ก็ไม่พบการกินกันเอง และเมื่อแยกลูกปลาอายุน้อยกว่า 7 วันไปเลี้ยง พวกมันยอมรับอาร์ทีเมีย และมันก็เติบโตได้โดยไม่มีพ่อแม่

แต่! คุณต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นการทดลองในสภาพกักขัง ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นในสภาพธรรมชาติ และอย่างไรก็ตามเนื่องจากเรายังรู้ชีวิตของปลาเหล่านี้ไม่มากพอ โดยเฉพาะในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมัน นี่ถือเป็นศึกษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเราต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ต่อไป

ทำไมปลาที่จัดเตรียมอาหารให้ลูกจึงหายาก?

เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ..เหตุใดการจัดเตรียมอาหารสำหรับลูกปลาจึงหาได้ยากนัก? ในเมื่อดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในบางสถานการณ์?

นั้นเพราะการผลิตไข่โภชนาการ ต้องใช้พลังงานอย่างมาก หากตัวพ่อไม่คอยช่วยเหลือตัวแม่ด้วยการเฝ้าดูลูก ตัวแม่ก็อาจจะไม่สามารถหาอาหารให้มากพอสำหรับใช้พลังงานเพิ่มเติมนี้ได้

และปัจจัยจำกัดอาจเป็นเพราะลูกหลานต้องการช่องว่างขนาดใหญ่พอที่จะกลืนไข่ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการทั้งหมด ซึ่งใหญ่พอๆ กับหัวของลูกปลาที่เพิ่งฟักออกมา ด้วยเหตุนี้ปลาช่อนที่มีหัวโต จึงมีคุณสมบัติที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวสำหรับพฤติกรรมดังกล่าว …จบ

อ่านเพิ่มเติม

Advertisements
แหล่งที่มาphys.org