ปลาบู่รำไพ ปลาขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร
ปลาบู่รำไพ (Queen of Siam goby, Queen Rambai’s goby) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mugilogobius rambaiae ปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) มีลำตัวยาวทรงกระบอก หัวเล็ก ปากกว้างในตัวผู้ เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวมีสีคล้ำหรือสีน้ำตาล ขอบเกล็ดมีแต้มสีคล้ำหลังช่องเหงือกด้านบนมีดวงรีสีดำและขอบสีจาง ครีบหลังมีลายสีดำและขอบสีจาง ครีบหางมีลายเส้นสีคล้ำ
ประวัติการพบเจอ ปลาบู่รำไพ
ต่อไปจะอ้างอิงข้อมูลจาก ‘เพจหนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong’ ระบุว่า ในวันที่ 28 พ.ศ. 2488 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
Huge M. Smith (ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ) นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรกของไทย สำรวจปลาในคลองแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครฯ และได้ตักปลาบู่ตัวเล็กๆ สีน้ำตาลที่มีลวดลายสวยงามได้หลายตัว ปลาบู่เหล่านี้ถูกนำไปเลี้ยงในโหลที่กรมรักษาสัตว์น้ำ
ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า Vaimosa rambaiae Smith, 1945 ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นได้รับพระราชทานอนุญาตจาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระอัครมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้นำพระนามมาใช้ เป็นที่มาของชื่อสามัญ Queen of Siam Goby ..หลังจากนั้นปลาบู่ในสกุลนี้ ถูกย้ายมาอยู่ในสกุลใหม่ จึงใช้ชื่อ Mugilogobius rambaiae (Smith, 1945)
“มีคอนเมนท์จากคุณ (ขอปิดชื่อเพราะอาจต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ดูจากโปรไฟล์แล้ว น่าจะเป็นนักชีววิทยาประมงเก่า) ได้บอกไว้ว่าปลาบู่รำไพ ตัวแรกเก็บได้ที่ คลองโอ่งอ่าง ใกล้ๆ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ที่ตั้งกรมประมงยุคนั้น ปัจจุบันเป็นสำนักเกษตร กทม ส่วน type locality วันนี้ก็คือย่านตลาดสพานหัน พาหุรัตนั่นเอง”
จากการแชร์เรื่องราวของ เพจหนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong ระบุไว้ว่า เคยเดินทางไปที่ “บ้านทับหลี” บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำกระบุรี ในตอนนั้นเดินผ่านแนวป่าจาก ก็เป็นป่าโกงกาง บริเวณริมน้ำเป็นพวกต้นพู และได้จับพวกมันได้แถวนั้น แต่หลังจากนั้น 3 – 4 ปีก็ไม่ได้พบอีกเลย
บันทึกการพบในปี 2551 ที่บางกะเจ้า โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
การเยือนบางกะเจ้า ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 ตอนนั้นผมศึกษาปลากัดในพื้นที่แถวนั้นพอได้ยินว่าที่บางกะเจ้ามีสภาพธรรมชาติสวยงามก็รีบตามไปดูเลย ตอนนั้นบางกะเจ้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักอะไรมากมายนัก จำได้ว่าตื่นเต้นกับสภาพพื้นที่ ร่องสวน และทางน้ำใหญ่น้อย ทั้งนิ่งทั้งไหล อารมณ์ย้อนยุคเหมือนที่เคยวาดภาพว่ากรุงเทพฯสมัยก่อนคงเป็นประมาณนี้แน่ๆ
วันนั้นผมหาปลากัดไม่เจอแต่ได้ปลาที่น่าสนใจและตื่นเต้นมากหนึ่งชนิดคือ ‘ปลาบู่รำไพ’ ปลาบู่ขนาดเล็กที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่งของไทย ได้รับพระราชทานนามเพื่อตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์จาก พันเอก (หญิง) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ปลาบู่ชนิดนี้เจอครั้งแรกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากแม่น้ำ แต่ด้วยความเจริญที่ถาโถมเข้ามาในบริเวณนี้มากมายทำให้ปลาชนิดนี้หายไปจากสารบบของลุ่มน้ำนานมาก จนกระทั่งเรามาพบอีกครั้งที่บางกะเจ้าในวันนั้น
จำได้ดีว่าเรายังได้ปลาที่น่าสนใจอีกหลายชนิด โดยเฉพาะพวกกลุ่มปลาปากแม่น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยๆจืดๆตามแต่สถานการณ์ ปลาบู่ในบางกะเจ้ามีมากและน่าสนใจจนอีก 2 ปีต่อมา นิสิตป.โท คณะประมง ม.เกษตรฯ ต้องตามมาทำวิทยานิพนธ์ที่นี่ ..จนได้กลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2557 ก็ไม่ได้พบปลาจริดนี้อีก
ลิงค์เรื่อง จดหมายเหตุ: ถึงชาวบางกะเจ้าจากผู้มาเยือน
สถานะของปลาบู่รำไพ
ปัจจุบันเป็นปลาที่แนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และไม่ทราบสถานะที่แน่ชัดว่าจะยังมีอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางของไทย แต่สำหรับในภาคใต้ยังพบได้อยู่ และพบมากที่จังหวัดกระบี่
โดยจะพบในพื้นที่ๆ เป็นแอ่งน้ำในป่าหรือพรุ หรือลำน้ำขนาดเล็กที่มีแร่ธาตุจำพวกคอร์บอเนตสูง จึงมีสีของน้ำออกเป็นสีฟ้า ไม่พบในลำคลอง หรือแม่น้ำสายใหญ่ ปลาจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามรากไม้หรือกองใบไม้ที่ทับถมกัน นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งสามารถนำมาเลี้ยงได้เป็นอย่างดีในตู้ไม้น้ำน้ำจืด
สำหรับปลาบู่รำไพ เท่าที่ผม (แอคแมว) หาข้อมูล คงต้องบอกว่ามันเป็นปลาที่มีข้อมูลน้อยมากๆ แม้แต่ภาพถ่ายที่ยืนยันว่าใช่ปลาบู่รำไพ แบบสวยและชัดก็มีเพียงของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ และผมเองก็หาคลิปของปลาชนิดนี้ก็ยังไม่เจอ เอาไว้ถ้าเจอจะเอามาลงให้ดูกันต่อไป