จากพลังทำลายล้างของพายุ ทำให้ประชาชนจำนวนที่อยู่บนเกาะไม่มีสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า อาหาร น้ำประปา และที่พัก อย่างไรก็ตามพายุนี้ยังคุกคามประชากรลิงวอก ประมาณ 1,500 ตัว ที่อาศัยอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกของเปอร์โตริโกบนเกาะ Cayo Santiago เป็นระยะทางหนึ่งไมล์
การมาถึงของลิง
เกาะนี้รู้จักกันในชื่อ เกาะลิง (Monkey Island) เป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1930 เมื่อนักไพรมาติวิทยา Clarence Carpenter นำลิงประมาณ 450 ตัว จากอินเดียไปยังเกาะขนาด 38 เอเคอร์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางสังคมและทางเพศของพวกมัน
ใช่แล้วพวกมันไม่ได้อยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก จากการบุกเบิกการวิจัยครั้งแรกนั้น เกาะที่มีต้นไม้เรียงรายนี้จึงกลายเป็นศูนย์วิจัยไพรเมตแห่งแคริบเบียน ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาและวิจัยลิงที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเปอร์โตริโก
หลายปีที่ผ่านมา ลิงรุ่นต่อรุ่นได้สืบเชื้อสายมาจากสมาชิกรุ่นเดิม และปัจจุบันลูกหลานเหล่านั้นเดินไปทั่วเกาะอย่างอิสระ เล่นบนหาดทรายและสำรวจยอดไม้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ลิงวอกแต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 20 ปอนด์ และเป็นที่รู้จักจากหางยาวนุ่มและขนสีฟาง พวกมันอาศัยอยู่โดยแทบไม่ได้รับการรบกวนจากมนุษย์
หลังพายุผ่านไป
หลังจากพายุเฮอริเคนถล่มเปอร์โตริโก นักวิจัยจากศูนย์วิจัย กลัวว่าจะเกิดสิ่งเลวร้ายที่สุดกับพวกลิง พวกเขาไม่แน่ใจว่าพวกมันจะรอดจากพายุหรือไม่ (รายงานข่าวเบื้องต้นระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตของมนุษย์อยู่ที่ 65 ราย) อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขากลับมายังเกาะ นักวิทยาศาสตร์ก็ประหลาดใจที่พบว่าพวกมันยังดูสุขสบายดี
Alyssa Arre ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของศูนย์กล่าวว่า “สองวันหลังจากเกิดพายุ เจ้าหน้าที่ของเราได้นั่งเรือไปที่เกาะเพื่อตรวจสอบพวกมัน “ทุกคนกังวลว่าลิงเหล่านั้นจะล้มตายจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราเห็นกลับไม่ใช่อย่างนั้น”
Arre กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดอย่างแน่ชัดว่า ลิงทุกตัวจะรอดชีวิตจากพายุ อย่างไรก็ตาม คนงานที่ได้รับมอบหมายให้นับจำนวนประชากรในแต่ละวันพบว่าจำนวนพวกมันยังคงปกติ
แม้ว่าบนเกาะจะไม่มีกล้องถ่ายภาพ ที่ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลิงแสดงท่าทีอย่างไรในช่วงพายุถล่ม Arre สงสัยว่าพวกมันหาที่หลบภัยโดยปีนขึ้นไปบนเนินเขาหนึ่งในสองแห่งของเกาะแลอยู่ในที่กำบัง ซึ่งน่าจะเป็นอาคารวิจัยที่เป็นสิ่งก่อสร้างเดียวบนเกาะแห่งนี้
“พายุเฮอริเคนทำลายพืชทั้งหมดที่ลิงใช้เป็นอาหาร” Arre กล่าว “ลมพายุทำลายกิ่งไม้และต้นไม้ ดังนั้นเราจึงไม่คิดว่าพวกมันจะปีนขึ้นไปหลบบนต้นไม้”
การแทรกแซงของมนุษย์ เพียงอย่างเดียวในแต่ละวันคือการให้อาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลิงรุ่นก่อนกินพืชบนเกาะตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนลดลงอย่างมาก
“เดิมทีพวกเราคิดว่าลิงจะอาศัยอยู่บนเกาะโดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์ แต่ลิงได้กินพืชพรรณบนเกาะอย่างรวดเร็ว” Arre กล่าว “ดังนั้น พวกเราจึงตระหนักว่าจะต้องเริ่มรักษาประชากรด้วยอาหาร และมันก็เป็นอย่างนั้นตั้งแต่ต้น”
ปัจจุบันอาหารของพวกมันได้แก่ มะพร้าว, ข้าวโพด, เมล็ดพืช, แอปเปิล, มะละกอ และอาหารลิงสำเร็จรูป ซึ่งเป็นบิสกิตทรงไข่มีสีเหลือง Arre ยืนยันว่าลิงเหล่านี้ไม่ค่อยชอบกินกล้วยแม้ว่าภาพยนตร์และสื่อจะทำให้พวกมันดูชอบกันมาก
“พวกมันชอบเอาอาหารลิงสำเร็จรูปแช่น้ำแล้วปั้นให้นิ่ม ก่อนที่พวกมันจะกิน” เธอกล่าว
Arre กล่าวว่า “หลังจากพายุเฮอริเคนมาเรีย ลิงมีปฏิสัมพันธ์ที่สัมพันธ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมของพวกมัน และเครือข่ายสังคมของพวกมันก็ขยายตัวขึ้นเช่นกัน” Arre กล่าว “นักวิจัยยังศึกษาว่าการบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ยากในวัยเด็ก เช่น พายุเฮอริเคน สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมและสุขภาพของลิงได้อย่างไร”
ในที่สุดงานวิจัยชิ้นนั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีที่แล้วใน Current Biology โดยสรุปว่าลิงวอก “เข้าสังคมมากขึ้น” และลิงที่แยกตัวออกไปก่อนเกิดพายุเฮอริเคน “มีการเข้าหาและพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น” การศึกษายังพบว่าตัวเมียมีการสืบพันธุ์ไม่บ่อยหลังจากพายุเฮอริเคน
จากบทความปี 1939 ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Life และถ่ายภาพโดยช่างภาพชาวเยอรมัน Hansel Mieth ยังได้เพิ่ม เกาะลิง ไว้บนแผนที่อีกด้วย ภาพหนึ่งของ Mieth ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในภาพถ่ายสัตว์ที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ มีลิงวอกที่นั่งอยู่ในน้ำ
ในการสัมภาษณ์ในภายหลัง Mieth อธิบายว่าเธอถ่ายมันได้อย่างไร โดยกล่าวว่า “บ่ายวันหนึ่ง หมอทั้งหมดไม่อยู่ และเด็กน้อยคนหนึ่งวิ่งมาหาฉันและพูดว่า “มีลิงอยู่ในน้ำ” ฉันไม่คิดว่าพวกมันจะชอบฉัน แต่ลิงพวกนั้นก็นั่งอยู่บนแนวปะการัง ฉันถ่ายไปได้หลายสิบภาพ
ปัจจุบันเกาะนี้ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม เพื่อป้องกันการสัมผัสของมนุษย์โดยไม่จำเป็นกับลิง ในแต่ละปี นักวิจัยที่มาเยี่ยมเยือนเกาะแห่งนี้เพื่อศึกษาลิงและเจาะลึกฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเกาะที่มีข้อมูลที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
จากข้อมูลประชากรพื้นฐาน (อายุ,กลุ่มทางสังคม และอัตรากาให้กำเนิด) มากกว่า 11,000 ตัว จนไปจนถึงข้อมูลทางพันธุกรรมและข้อมูลของโครงกระดูกลิงมากกว่า 3,300 ตัว การศึกษาของพวกเขายังคงเดินหน้าในความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพฤติกรรมของไพรเมตและความหมายของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของมนุษย์
Arre กล่าวว่า “ลิงพวกนี้เป็นแบบจำลองที่ดีสำหรับมนุษย์ เนื่องจากเรามีลักษณะทางชีววิทยาหลายอย่างเหมือนกัน และมีทักษะทางสังคมระดับสูงเช่นเดียวกัน” โครงการวิจัยลิงที่เกาะ Caya Santiago ช่วยให้เราเข้าใจสังคมและสุขภาพของมนุษย์ได้ดีขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ มันจะช่วยให้เราได้ศึกษาถึงความทุกข์ยากและบาดแผลทางกายและใจที่อาจส่งผลต่อชีวิตของบุคคลนั้นเป็นอย่างไร”