ปลาเพียงชนิดเดียว ที่พบเฉพาะในไทยและสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ

ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ. 2563 ระบุว่าปลาที่พบในประเทศไทย มีอยู่ 2,940 ชนิด อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ 72 ชนิด และใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต 53 ชนิด แต่มีปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่พบได้เฉพาะในไทยและสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ "ปลาหวีเกศ" แม้จะมีคนชอบบอกว่าเคยเห็นอยู่ที่นั้นที่นี้ แต่เชื่อเหอว่าคุณเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาเคยมีความพยายามค้นหาปลาชนิดนี้มาหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบเลย ...นี่คือเรื่องราวของปลาเพียงชนิดเดียว ที่พบได้เฉพาะในไทยและสูญพันธุ์ไปแล้ว และสำหรับเรื่องนี้ก็มีภาพน้อยมากๆ อีกเช่นกัน เพราะยังไงซะก็ไม่มีภาพของปลาชนิดนี้ขณะที่มีชีวิตเลย

ปลาหวีเกศ

ปลาหวีเกศคืออะไร?

Advertisements

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ปลาชนิดนี้มีข้อมูลน้อยมากๆ แต่ผมเองก็อยากจะรวบรวมมาแนะนำให้รู้จักกัน! โดย ปลาหวีเกศ (Siamese schilbeid catfish) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาหวีเกศ หรือ ชิล-ไบ-ดี (Schilbeidae) ซึ่งปลาในวงศ์นี้เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีหนวด มีก้านครีบแข็งที่ครีบอกและครีบหลังและมีครีบไขมัน ความจริงมันใกล้เคียงกับปลาในวงศ์ปลาสวาย …แต่ก็ไม่ใช่

ปลาหวีเกศ หรือ เกด หรือ สายยู อยู่ในสกุล พลาตีโทรปิอุส (Platytropius) ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว และพบได้เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไทย ถูกประกาศให้สูญพันธุ์ไปแล้วจากโลก ในปี พ.ศ. 2554 โดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เนื่องจากมีการสำรวจอยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยพบปลาชนิดนี้เลย

ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) / ภาพจาก หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

ปลาหวีเกศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พลาตีโทรปิอุส สยามเอ็นสิส (Platytropius siamensis) มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีลักษณะของปลาสังกะวาดและปลาเนื้ออ่อนผสมกัน ลำตัวเรียวยาว มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนหลังเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กมาก มีลักษณะเด่นคือ มีหนวดยาวแต่จะแบน ดูไม่เป็นเส้น แต่คล้ายกับเส้นผมของผู้หญิง จึงเป็นที่มาของชื่อ “หวีเกศ” เป็นปลาที่กินแมลงเป็นอาหาร

ประวัติการค้นพบปลาหวีเกศ

ในหนังสือปลาน้ำจืดไทยให้รายละเอียดไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2426 (1883) เป็น ด.ร. ฮาร์มันด์ (Dr.Harmand) ที่เก็บตัวอย่างปลาหวีเกศได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็ไม่มีการบันทึกถึงปลาชนิดนี้อีกเลย

40 ปีต่อมา ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ คนแรกของประเทศไทย ได้เขียนไว้ในหนังสือ The fresh-water fishes of Siam, or Thailand ว่าพบปลาชนิดนี้ค่อนข้างมาก ทางตอนบนของแม่น้ำสายเดียวกันรวมถึงแม่น้ำนครนายก

มีประวัติการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากบริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นปลาที่มักจะเข้ามาติดกับอุปกรณ์จับปลาขนาดใหญ่ เช่น ลี่ ซึ่งชาวบ้านมักจะสร้างกั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในตอนนี้ไม่ได้พบเห็นมาหลายสิบปีแล้ว จนนำไปสู่การประกาศการสูญพันธุ์โดย IUCN

ในตอนนี้ ปลาหวีเกศ เหลือเพียงซากที่ถูกดองเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในสถาบันสมิธโซเนียนเท่านั้น โดย ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) เป็นผู้เก็บตัวอย่างได้จากตลาดปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2486 (1943) และยังมีภาพถ่ายที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช่หรือไม่?

สรุป! ในตอนนี้ ปลาหวีเกศ ถือว่าสูญพันธุ์ไปแล้วทั้งจากธรรมชาติและในที่เลี้ยง นอกจากนี้ ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้ระบุว่า นอกจากปลาหวีเกศแล้ว ยังมีปลาอีก 4 ชนิด ที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ซึ่งก็คือ ฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) , ฉนากจะงอยแคบ (Knifetooth Sawfish), ฉนากจะงอยปากกว้าง (Largetooth Sawfish) และ ฉนากเขียว (Narrowsnout Sawfish)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements