สำหรับ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” เป็นผึ้งที่มีลักษณะการดำรงชีวีติที่โดดเด่น หากเอามาเทียบกับผึ้งที่ให้น้ำหวานทั่วไป ที่มีการแบ่งวรรณะ มีนางพญา ผึ้งงาน ผึ้งเพศผู้ และทั้งหมดจะอาศัยอยู่รวมกันในรังจำนวนมาก
แต่สำหรับผึ้งหยาดอำพันภูจองนั้นต่างออกไป พวกมันเป็นผึ้งที่ดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยว ซึ่งตัวเมียจะสร้างรังและดูแลเพียงลำพัง มันจะสะสมยางไม้มาเพื่อสร้างรัง จนกลายเป็นท่อยางไม้ที่สวยงาม ภายในจะเป็นห้องที่แบ่งเป็นห้องย่อยๆ โดยตัวเมียจะใช้เพื่อวางไข่ สะสมอาหารไว้ให้ตัวอ่อน แล้วจะปิดห้องให้ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนกินอาหารที่แม่มันสะสมไว้ จนกลายเป็นตัวอ่อน และเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phuchong rotund resin bees) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anthidiellum phuchongensis เป็นผึ้งที่มีลักษณะภายนอกคล้ายชันโรงขนาดใหญ่ รูปร่างสันทัด ตัวมีสีโทนส้มและมีลายสีดำพาดบนส่วน scutum และปลายของแผ่น tergite บนส่วน metasoma ในขณะที่ tergite แผ่นที่ 6 มีสีส้ม
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง เป็นผึ้งที่พบได้ยากมากในธรรมชาติ แม้แต่การสำรวจโดยทีมวิจัย ดร. ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ ที่ค้นพบผึ้งชนิดนี้ ก็ยังไม่เคยเห็นมันบินตามแหล่งอาหาร เช่นทุ่งดอกไม้ต่างๆ ในอุทยาน และถึงจะพยายามสำรวจเพิ่มเติมมากกว่า 20 ครั้งในช่วง 3 ปี ก็ยังไม่พบผึ้นชนิดนี้
การพบตัวผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงมาจากการพบรังผาตัดที่มีโพรงดิน ใกล้แหล่งน้ำ เช่น บริเวณของแก่งกะเลา แถมยังพบตัวผึ้นอยู่ในรังเพียงเท่านั้น
ข้อมูลทางอนุกรมวิธาน
- Order: Hymenoptera
- Family: Megachilidae
- Tribe: Anthidiini
- Genus: Anthidiellum
- Subgenus: Ranthidiellum
- Specific epithet: phuchongensis
- Authorship: Nalinrachatakan & Warrit, 2020
- Scientific Name: Anthidiellum (Ranthidiellum) phuchongensis Nalinrachatakan & Warrit, 2020
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้นำโดย ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และ นายภากร นลินรชตกัณฑ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพพื้นถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.ในการพัฒนาพื้นที่อุทยานให้เป็นแหล่ง ecotourism ที่สำคัญของประเทศและของโลก