ปริศนา หอยงวงช้างกระดาษ ความจริงคือหมึก

บนโลกมีสัตว์แปลกๆ และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือสัตว์ทะเลอย่าง “หอยงวงช้างกระดาษ” ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนคิดว่า มันต้องเป็นหอยแน่ๆ แต่บอกเลยว่ามันไม่ใช่หอย แต่เป็น “หมึก” โดยหอยงวงช้างกระดาษนอกจากหน้าตาจะแปลกแล้ว เรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวมันก็แปลกด้วย และนี่คือเรื่องราวของ “หอยงวงช้างกระดาษ”

หอยงวงช้างกระดาษ คืออะไร?

Advertisements

หอยงวงช้างกระดาษ จริงๆ ก็คือ หมึกสาย หรือ หมึกยักษ์ (octopus) มันแปลกประหลาด สวยงาม และพบเห็นได้ค่อนข้างยาก …และเพื่อไม่ให้สับสน ผมขอเรียกว่า “หอยงวงช้างกระดาษ” จะไม่ขอเรียกว่าหมึกนะครับ แต่ก็ขอให้เข้าใจตรงกันว่า มันคือก็คือ หมึก

หอยงวงช้างกระดาษ (Paper nautilus) อยู่ในสกุล อาร์โกเนาตา (Argonauta) มีอยู่อย่างน้อย 7 ชนิด โดยมี อาร์โกเนาตา อาร์โก เป็นชนิดต้นแบบ (Argonauta argo) ในน่านน้ำไทยบางแหล่งข้อมูลบอกว่ามี 3 ชนิด แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุชนิดที่ชัดเจนได้ ผมจึงต้องขอข้ามการพูดถึงทั้ง 3 ชนิดไปก่อน

หอยงวงช้างกระดาษ ตัวเมียอาจยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวผู้จะไม่เกิน 3 เซนติเมตร มันเป็นขนาดที่ต่างกันจนไม่คิดว่ามันคือหอยงวงช้างกระดาษเหมือนกัน ส่วนเรื่องเปลือกหอย จริงๆ แล้วจะมีในตัวเมียเท่านั้น ซึ่งเปลือกของมันไม่ได้สร้างมาจาก อาราโกไนต์ (Aragonite) เหมือนกับเปลือกหอยทั่วไป แต่เป็น แคลไซต์ (Calcite) และมีสัดส่วนของแมกนีเซียมคาร์บอเนตที่สูงกว่า (7%) โดยรวมแล้ว เปลือกของหอยงวงช้างกระดาษจะเปราะบางคล้ายกระดาษ และมันก็เป็นที่มาของชื่อ โดยเปลือกมีหน้าที่สำคัญคือ เอาไว้วางไข่ มิได้เอาไว้ป้องกันตัวแต่อย่างใด

โดยทั่วไปหอยงวงช้างกระดาษ จะอาศัยในทะเลที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตั้งแต่ระดับผิวน้ำไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ 100 เมตร พวกมันมีลักษณะการใช้ชีวิตที่ต่างกัน บางทีก็ลอยไปตามน้ำ บางทีก็ว่ายน้ำเอง บางทีก็เกาะกันเป็นกลุ่มหลายสิบตัวแล้วก็ลอยไปเรื่อยๆ บางทีก็ไปเกาะติดกับแมงกะพรุน หรืออะไรสักอย่าง

การผสมพันธุ์ที่แปลกประหลาด

เพราะเมียหนักกว่าตัวผู้หลายร้อยเท่า การผสมพันธุ์แบบทั่วไปจึงไม่สามารถทำได้ …ความจริงมันใกล้เคียงกับปลาแองเกลอร์ฟิช ในแง่ที่ว่า ตัวผู้มีขนาดเล็กมากๆ และเพื่อที่จะได้ผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเข้าไปเกาะติดกับตัวเมียที่ใหญ่กว่ามันมากๆ จากนั้นก็หลอมรวมเข้ากับตัวเมียจนดูคล้ายเมล็ดสิว และเมื่อมันทำแบบนั้นก็จะไม่สามารถจากไปได้อีกเลย!

แต่หอยงวงช้างกระดาษ มีวิธีที่ต่างกัน! เพราะถึงยังไงซะ มันก็คือหมึก! ตัวผู้จะมีหนวดอยู่หนึ่งเส้นที่ได้รับการพัฒนาเอาไว้ใช้สืบพันธุ์ ซึ่งจะเรียกว่า เฮกโตโคไทลัส (Hectocotylus) …มันก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของหมึกนั้นละ

Advertisements

โดยความพิเศษของหนวดเส้นนี้คือ สามารถแยกออกจากร่างกายได้ แถมเมื่อแยกออกไปยังเคลื่อนที่เองได้อีก จริงๆ มันคล้ายจรวดนำวิถี ที่เมื่อถูกยิงออกไปก็จะตามไปหาตัวเมียเป้าหมายได้ แน่นอนว่ามีพลาดเป้า แถมเมื่อติดตัวเมียได้แล้ว หนวดยังกระดืบๆ ต่อไปได้จนกว่าจะได้ปลดปล่อยสเปิร์มในตัวเมีย

หลังจากที่ผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะเริ่มสร้างเปลือกโดยการหลั่งแคลไซต์ออกมาจากปลายหนวด มันจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและต่อเนื่อง เมื่อเสร็จสิ้นก็จะกลายเป็นเปลือกกระดาษที่สวยงาม และภายในเปลือกก็จะอัดแน่นไปด้วยไข่

ส่วนเรื่องที่ตัวผู้หลังจากยิงหนวดออกไปแล้วจะเป็นเช่นไร? บางแหล่งข้อมูลบอกว่าจะตายจากไป แต่! ข้อมูลนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ ส่วนหนวดจะงอกออกมาหรือไม่? คำตอบคือไม่! อย่างน้อยในตอนนี้นักวิจัยก็ยังไม่พบหลักฐานการงอกใหม่ของหนวด

Advertisements

สุดท้าย! อย่างที่บอกเอาไว้ หอยงวงช้างกระดาษ มักจะอาศัยอยู่ในบริเวณผิวน้ำมากกว่าพื้นทะเล โดยเปลือกมีวิธีการใช้งานที่พิเศษอีกอย่างคือ มันจะลอยขึ้นไปที่ผิวน้ำ ดูดกลืนอากาศเอาไปเก็บไว้ที่เปลือกบางส่วน จากนั้นก็ดำลงไปจนกว่าฟองอากาศที่ติดอยู่ในเปลือกจะอยู่ในจุดสมดุลย์ จากนั้นมันจะสามารถรักษาตำแหน่งความลึกเอาไว้ได้โดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานเลย มันก็แค่ต้องออกแรงมากขึ้นเมื่อต้องการจะหนี เปลี่ยนทิศ หรือจะไปให้เร็วขึ้น

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements