สุสานยางรถ สองล้านเส้น อ้างเพื่อสิ่งแวดล้อม สุดท้ายกลายเป็นหายนะ

แนวปะการังออสบอร์น (Osborne Reef) เป็นโครงการสร้างแนวปะการังเทียมบริเวณรอบๆ ชายฝั่งของรัฐฟลอริดา มันเป็นหนึ่งในความพยายามครั้งใหญ่ เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากคำว่า "เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" และเพราะโครงการนี้ ทำให้ใต้ทะเลมียางรถยนต์เก่าหลายล้านเส้น จนในตอนนี้สิ่งที่พวกเขาเคยทำ มันได้กลายเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ...และนี่คือเรื่องราวของการสร้างแนวปะการังออสบอร์น

จุดเริ่มต้นของแนวปะการังออสบอร์น (Osborne Reef)

Advertisements

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2515 องค์กรไม่แสวงหากำไรได้คิดที่จะสร้างแนวปะการังขึ้นมาใหม่ ด้วยการทิ้งยางรถยนต์มากกว่า 2 ล้านเส้นลงไปในน่านน้ำชายฝั่งของฟลอริดา โดยพวกเขาหวังว่า จะสร้างสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจะเติบโตได้ดี …หากเป็นสมัยนี้มันเป็นความคิดที่บ้ามากๆ

แต่ในตอนนั้น โครงการนี้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก แถมยังได้รับการอนุมัติจากกองวิศวกรของกองทัพสหรัฐฯ จากนั้นไม่นานปฏิบัติการทิ้งขยะก็เริ่มต้นขึ้น ภายใต้การดูแลโดยเรือกวาดทุ่นระเบิดของกองทัพเรือสหรัฐฯ รวมทั้งเรือจากชาวเมือง

ส่วนผู้จัดหายางนับล้านเส้นก็คือกู๊ดเยียร์ และพวกเขาก็ออกข่าวประชาสัมพันธ์สวยๆ ประมาณว่า “แนวปะการังจะเป็นสวรรค์สำหรับปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ” ตบท้ายด้วยคำว่า “คุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของยางเก่าจะเป็นวัสดุสำหรับแนวปะการัง” …ส่วนเบื้องหลังโครงการที่ไม่ได้พูดถึงในตอนนั้นคือ มันเป็นการกำจัดยางที่กำลังเต็มในหลุมฝังกลบ

วิธีการทิ้งยางของพวกเขาคือการนำยางมาหลายๆ เส้นมัดรวมกันด้วยเชือกเส้นใหญ่ๆ จากนั้นก็โยนลงทะเล หรือไม่ก็โยนลงไปทีละเส้น โดยบางพื้นที่ ยางเหล่านี้ได้แทนที่ทุ่งหญ้าทะเลขนาด 31 สนามฟุตบอล …มันเป็นการทิ้งขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

หลายปีต่อมาความล้มเหลวของโครงการก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน มีสิ่งมีชีวิตในทะเลขนาดเล็กๆ เกิดและอาศัยบนยาง แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากปะการังจะไม่เกิดที่ยางแล้ว มันยังส่งผลกระทบไปถึงแนวปะการังธรรมชาติใกล้เคียงที่อยู่ลึกลงไป นั้นเพราะเมื่อยางที่ถูกมัดรวมกันได้แตกออกเพราะเชือกขาด จึงส่งผลให้ยางนับล้านเส้นกระจายตัวออกไปตามกระแสน้ำ

Advertisements

ที่น่าตลกคือมีหลายประเทศทำตาม อย่างเช่นอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก็มีโครงการสร้างแนวปะการังเทียมด้วยยางรถ ซึ่งทำหลังโครงการแนวปะการังออสบอร์น ประมาณ 10 ปี และจนถึงวันนี้พวกเขาก็ต้องคอยตามเก็บสิ่งที่ทิ้งลงไปกลับมา กล่าวโดยสรุปคือ อาจมียางรถเก่าหลายสิบล้านเส้นกำลังเคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำของมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเงียบๆ

เกิดอะไรขึ้นกับแนวปะการังออสบอร์นในตอนนี้?

เมื่อเร็วๆ นี้ 4ocean ได้โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมว่า “ในที่สุดโครงการที่มีเจตนาดีก็ล้มเหลว” พร้อมภาพถ่ายที่น่าขนลุกของแนวปะการัง โดยเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ 4ocean เข้ามาทำความสะอาดขยะที่เป็นยางเหล่านี้ ซึ่งได้กลายเป็นงานหลักขององค์กรไปแล้ว

4ocean ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “มันเป็นปฏิบัติการที่ยากลำบากมาก” หลายปีที่ผ่านมามีการเก็บยางขึ้นมาจากใต้ทะเลมากมาย ความพยายามในการทำความสะอาดยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยในปี พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่รัฐได้ประเมินว่า มียางอยู่ที่ชายฝั่งประมาณ 650,000 เส้น จนในปี พ.ศ. 2565 4ocean ได้ประเมินว่ามียางเหลืออยู่มากกว่า 500,000 เส้น …แน่นอนว่านี่ไม่นับยางที่ขยับไปใต้ทะเลที่ลึกกว่า

Advertisements

สรุปคือโครงการสร้างแนวปะการังเทียมออสบอร์น คือความล้มเหลวครั้งใหญ่ เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเก็บกลับมา ซึ่งหากลองคิดเงินดู ตามรายงานระบุว่า การนำยางขึ้นมา 1 เส้น ต้องใช้เงิน 28 ดอลลาร์สหรัฐ หากนำยางขึ้นมา 5 แสนเส้นก็เท่ากับ 14,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 498,000,000 บาท นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายสำหรับที่เก็บหรือทำลายยางเหล่านี้ …สุดท้ายยางที่ทิ้งลงไปกว่าครึ่งก็กลับมาอยู่ที่เดิม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements