จระเข้สีส้มที่แปลกประหลาด
ตัวของจระเข้ที่พบนี้เป็น “สีส้ม” มันอาศัยอยู่ในถ้ำและมันอาศัยอยู่กับค้างคาว-จิ้งหรีด จำนวนมหาศาล “เราสามารถพูดได้ว่าเรามีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ เพราะจระเข้ในถ้ำมีพันธุกรรมฮัพโปลไทป์ (haplotype) ที่ต่างกันไปแล้ว” ซึ่งผลลัพธ์นี้ ได้มาจากการเก็บตัวอย่างของจระเข้ประมาณ 200 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำและรอบๆ ถ้ำ
ริชาร์ด ออสลิสลี (Richard Oslisly) ผู้ค้นพบจระเข้ในถ้ำครั้งแรกในปี พ.ศ.2551 กล่าวว่า “อาหารของจระเข้ในถ้ำพวกนี้แตกต่างกัน มันเป็นสายพันธุ์ที่ปรับให้เข้ากับโลกใต้ดิน พวกมันอยู่ในคุกของตัวเอง พวกมันกินค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำ และยังกินจิ้งหรีดที่อยู่เกาะอยู่ตามกำแพงอีกด้วย”
เมื่อเวลาผ่านไป จระเข้ที่มีอายุมากกว่าจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้ม นักวิจัยตั้งทฤษฎีว่า การเปลี่ยนสีเกิดจากการที่จระเข้ใช้เวลาอยู่ในน้ำผสมอัลคาไลน์นานเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นของเหลวที่ประกอบไปด้วยมูลค้างคาว จนทำให้ผิวหนังของจระเข้ขาวขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามันอยู่นานกว่านี้หรือผ่านไปหลายๆ รุ่นบางทีมันอาจกลายเป็นสีขาวไปจริงๆ
เป็นที่รู้กันว่าจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น ซึ่งหมายความว่าพวกมันต้องการความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาชีวิตรอด ทุกๆ วันมันจึงต้องขึ้นมาตากแดด แต่สภาพแวดล้อมของจระเข้ในถ้ำนั้นหนาวเย็น แทนที่จระเข้พวกนี้จะขยับตัวไม่ค่อยได้เพราะขาดความร้อน แต่พวกมันกลับสามารถล่าเหยื่อในความมืดได้เหมือนอยู่ข้างนอก
จระเข้สีส้มที่อยู่ในถ้ำนี้ มีความคล้ายกับจระเข้แคระแอฟริกันมากที่สุด โดยจระเข้แคระแอฟริกัน (African dwarf crocodiles) พบในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง มันเป็นหนึ่งในจระเข้ขนาดเล็กที่สุดในโลก มันมีความยาวไม่เกิน 2 เมตร แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่โตเกิน 1.5 เมตร แต่การวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า อาจมีสามสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในภูมิภาคนี้ ..นี่ยังไม่รวมจระเข้ในถ้ำที่แปลกประหลาดนี้
น่าแปลกที่หลักฐานทางพันธุกรรมจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าจระเข้ในถ้ำนี้ อาจแยกออกจากญาติที่อยู่ภายนอกของพวกมัน ..“จระเข้ในถ้ำอเบนด้า มันโดดเด่นในฐานะกลุ่มพันธุกรรมที่แยกออกมาได้” ออสลิสลีบอกว่า ข้อมูลจนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าจระเข้กลุ่มที่อยู่ในถ้ำนี้ แยกตัวออกจากญาติที่อยู่ข้างนอกเมื่อหลายพันปีก่อน
แต่ DNA ของจระเข้ในถ้ำทำให้เกิดคำถาม สัตว์พวกนี้ผสมพันธุ์กันที่ไหน? ตัวที่เล็กกว่าอาจออกจากถ้ำเพื่อผสมพันธุ์หรือไม่? แต่ถ้าจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดติดอยู่ในถ้ำจริง พวกมันจะทำรังอยู่ในถ้ำแบบไหน? ..หรือพวกมันจะเลิกทำกิจกรรมเกี้ยวพาราสีทั้งหมดหรือไม่?
คุณต้องรู้ว่า ในธรรมชาติจระเข้แคระแอฟริกัน มักต้องการพืชผักสำหรับวางไข่ของพวกมัน แต่ไม่มีสิ่งใดในถ้ำแห่งนี้ หรือที่จริงแล้วจระเข้ตัวใหญ่ใช้ถ้ำตามฤดูกาล แล้วจึงหาทางออกมาข้างนอกเพื่อผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน?
นักวิจัยเชื่อว่าจระเข้อาจใช้ประโยชน์จากถ้ำด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงแหล่งอาหารอย่างค้างคาวและจิ้งหรีดที่มีไม่จำกัด และยังมีความปลอดภัยจากผู้ล่า นั่นคือพวกมนุษย์ ดูเหมือนว่าคนในท้องถิ่นจะไม่กล้าเข้าไปในถ้ำแห่งนี้ …นักวิจัยจึงมีเวลาทำความเข้าใจจระเข้แปลกๆ พวกนี้ และหวังว่าจะได้เข้าใจพวกมันมากยิ่งขึ้นกว่านี้
สำหรับถ้ำอเบนด้า (Abanda cave) เป็นถ้ำที่ซับซ้อนตั้งอยู่ในประเทศกาบอง มีเครือข่ายถ้ำที่แยกเป็นอิสระสองแห่ง หนึ่งคือถ้ำดินกูมบู (Dinguembou) ซึ่งยาวประมาณ 350 เมตร อีกแห่งคือ ถ้ำมูกัมบี (Mugumbi) ยาวประมาณ 400 เมตร ถ้ำทั้งหมดสามารถเข้าถึงทางเดินแนวนอนได้ โดยใช้ปล่องแนวตั้งที่มีความลึกประมาณ 7 เมตร และถ้ำก็เป็นอาณานิคมใหญ่ของค้างคาวหลากหลายสายพันธุ์ คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 แสนตัว