ค้นพบปลาชนิดใหม่ ‘นีโอลิสโซคิลอัส พีนาร์’ ปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปลาถ้ำชนิดใหม่นี้ถือเป็นญาติพี่น้องกับปลาพลวงถ้ำของบ้านเรา เพียงแต่มันมีขนาดใหญ่กว่ามาก และปลาพวกนี้มีถิ่นอาศัยอยู่ในถ้ำหินปูนของรัฐเมฆาลัย ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ...เดี๋ยวมาดูเรื่องราวของปลาชนิดนี้กัน

ปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับปลาชนิดใหม่นี้ถูกจัดให้อยู่ในสกุล “Neolissochilus (นี-โอ-ลิส-โซ-คิล-อัส) ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับปลาพลวง และอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) และปลาในสกุลนี้ก็มีมากกว่า 31 ชนิด พวกมันกระจายอยู่ทั่วเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยปลาในสกุลนี้ ชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุดคงจะเป็นปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus) ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบในถ้ำพระวังแดง เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลกแห่งเดียว อีกชนิดคงเป็นพวกปลาพลวงที่อาศัยอยู่ตามน้ำตก

Neolissochilus pnar (ตัวอย่างปลาจากถ้ำอุมลาดอว์)

สำหรับปลาชนิดใหม่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Neolissochilus pnar (นีโอลิสโซคิลอัส พีนาร์)” มันถูกอธิบายในปี 2023 และจากนี้ไปจะขอเรียกว่า “พีนาร์” มันเป็นปลาที่ขาดเม็ดสีอย่างสิ้นเชิง มีกระดูกขากรรไกรบนที่ยาว ตามีขนาดเล็กมาก มีครีบอกที่ยาวและเป็นรูปแบบขยาย นอกจากนี้มันยังมีความแตกต่างทางพันธุกรรมและสัณฐานวิทยาจากบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงของมัน

ฝูง Neolissochilus pnar (ตัวอย่างปลาจากถ้ำอุมลาดอว์)

ในอดีตปลาชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ปลาถ้ำสีขาว (white cavefish)” พวกมันพบในถ้ำซีจู (Siju Caves) บริเวณเนินเขากาโรในรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมันก็ได้รับการบันทึกการพบมาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน เพียงแต่ถูกแนะนำว่าเป็นปลานีโอลิสโซคิลอัส เฮกซาสติคัส (Neolissochilus hexastichus) ที่ดูต่างออกไปเล็กน้อย …จึงไม่มีใครสนใจมัน

จนในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็มีการค้นพบปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีสีซีดขนาดใหญ่ในถ้ำหินปูนของรัฐเมฆาลัย หลังจากนั้นในปี 2019 พวกมันก็ถูกรวบรวมตัวอย่างและถ่ายภาพได้สำเร็จ จนนำไปสู่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยละเอียด

โดยตัวอย่างที่ถูกรวบรวมมาจากถ้ำหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ แต่ตัวใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 400 มิลลิเมตร หรือ 40 เซนติเมตร มันจึงน่าจะเป็นปลาถ้ำตัวใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มนุษย์รู้จักในตอนนี้

สำหรับปลาถ้ำตัวใหญ่ที่สุดที่เรารู้จักก่อนหน้านี้คือ ปลาไหลถ้ำตาบอดออสเตรเลีย (Ophisternon candidum) ซึ่งมีความยาว 385 มิลลิเมตร หรือ 38.5 เซนติเมตร และแม้ขนาดจะใกล้กันแต่ปลาไหลถ้ำนั้นเบากว่าปลาพีนาร์มาก

โดยจากการลักษณะทางสัณฐานวิทยาเบื้องต้นจากตัวอย่างขนาดกลาง 2 ตัว พบว่าพวกมันมีรูปร่างและลักษณะเฉพาะที่คล้ายกับปลาเวียนทอง (Tor putitora) ซึ่งปลาชนิดนี้จัดเป็นปลาหายากและพบได้ในอินเดียเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างอยู่ดี

นักวิจัยเก็บตัวอย่างปลาในถ้ำอุมลาดอว์
Advertisements

สำหรับการเข้าถึงปลาชนิดนี้ถือว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะปลาพีนาร์ที่พบในถ้ำอุมลาดอว์ (Um Ladaw Cave) ในรัฐเมฆาลัย ถ้ำแห่งนี้มีลักษณะเป็นแนวตั้ง โดยบางส่วนลึกน้อยกว่า 20 เมตร บางส่วนก็ลาดชัน หลังจากลงมาลึกกว่า 100 เมตร ก็จะพบกับถ้ำแนวนอนและค่อนข้างแคบ ซึ่งในนั้นมีแอ่งน้ำหลายแห่ง

“พื้นถ้ำส่วนใหญ่เป็นหิน มีพื้นที่เป็นหินและกรวดเนื้อหยาบ” ที่พื้นทางเดินหินนั้นส่วนใหญ่จะยกสูงเหนือระดับน้ำ มีแอ่งน้ำอยู่ตามผนังและพื้นที่ส่วนชั้นล่าง ในนั้นมีปลาพีนาร์อาศัยอยู่ในแอ่งน้ำขนาด 3 x 4 เมตร จนถึง 10×10 เมตร …และมีเฉพาะพวกมัน ที่สงสัยคือพวกมันอยู่กันได้อย่างไร?

แต่สำหรับปลาในถ้ำอุมลาดอว์ นักวิจัยคาดว่าปลาน่าจะกินพืชพันธุ์ที่น้ำฝนนำมายังใต้ดิน แต่ถึงอย่างงั้นในตอนที่สำรวจก็ไม่พบสิ่งเหล่านี้เลย อาจเป็นเพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง เพราะในช่วงมรสุมพื้นที่ทั้งหมดจะถูกน้ำท่วมบางทีอาหารจะมีในตอนนั้น หรือบางทีปลาอาจจะไม่ได้เกิดและโตในแอ่งเล็กๆ นี่ มันแค่ติดอยู่ตรงนี้เพื่อรอให้ถึงเวลาที่น้ำมาอีกครั้ง

ส่วนอีกถ้ำที่อยู่ไกลออกไป มันต่างกันมากเพราะเป็นถ้ำแม่น้ำแนวนอนที่กว้างใหญ่ ในนั้นมีอุโมงค์น้ำลึกขนาดใหญ่และยังมีน้ำตก มีเขื่อนขนาดเล็กหลายแห่งอยู่ภายใน และปลาพีนาร์ก็อาศัยอยู่ในที่แห่งนี้ ในถ้ำแห่งนี้มีความหลากหลายชีวภาพมากกว่า เพราะมีปลาขนาดเล็กชนิดอื่น มีกุ้งและลูกอ๊อดอาศัยอยู่ด้วยกัน

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมในถ้ำที่ต่างกันมาก จึงมีปลาพีนาร์ที่เหมือนกัน และด้วยขนาดที่ใหญ่มากของปลาชนิดนี้ จะช่วยผลักดันการสำรวจและทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมือนใครของสัตว์ที่น่าทึ่งพวกนี้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements