สัตว์ลึกลับ ‘แม่หอบ’ เกษตรกรแห่งป่าชายเลนไทย

เมื่อแรกเห็นถ้าใครไม่รู้จักสัตว์ตัวนี้ จะต้องแอบกลัวมันอยู่แน่นอน เพราะมันดูคล้ายสัตว์ประหลาด มันดูจะกัดเราได้ หรืออาจจะมีพิษหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว "แม่หอบ" ไม่เป็นอันตรายและจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต ซึ่งอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และสัตว์ชนิดนี้ก็พบได้ในประเทศไทย เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักมัน เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะมาเล่าเรื่องของมันให้ฟังกัน

แม่หอบ

เรามาทำความรู้จักกับแม่หอบกันก่อน

Advertisements

แม่หอบ หรือ จอมหอบ หรือ มัดล็อบสเตอร์ (Mud lobster, Mangrove lobster) คำว่า Mud แปลตรงๆ คือ “โคลน” ซึ่งก็ตรงกับถิ่นที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้ โดยแม่หอบเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง มันอยู่ในสกุล Thalassina (ธาลัสซีน่า) ในอันดับ Decapoda (เดคาโปด้า) หรือก็คืออันดับของกุ้ง

แม่หอบเป็นจัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต ที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน พวกมันอยู่มาตั้งแต่ยุคไมโอซีน ซึ่งยาวนานถึง 16 ล้านปี ทั้งนี้แม่หอบสามารถอยู่บนบกได้นานกว่าสัตว์จำพวกครัสตาเซียนชนิดอื่นๆ โดยแม่หอบจะกินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในช่วงเวลากลางคืน

แม่หอบมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปู และยังลักษณะของแมงป่องอีกด้วย โดยขาคู่แรกขนาดใหญ่จะคล้ายก้ามปู นอกจากจะใช้เดินแล้ว ยังช่วยให้แม่หอบสามารถขุดรูและขนดินออกมากองบนพื้นดินคล้ายจอมปลวก ซึ่งตรงจุดนี้เราจะสามารถสังเกตุเห็นรังของแม่หอบได้จากกองดินที่คล้ายกับจอมปลวกที่ป่าชายเลน เพียงแต่ของแม่หอบจะมีขนาดเล็กกว่าจอมปลวก

นอกจากก้ามที่คล้ายปูแล้ว หัวของแม่หอบก็เหมือนกับกุ้งขนาดใหญ่ ลำตัวจะมีสีแดงเข้มเป็นปล้องๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหางลักษณะนี้จะคล้ายแมงป่อง และมันก็มีขนาดความยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร

แม่หอบเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าชายเลน

โดยปกติแม่หอบจะอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน ซึ่งมันจะขุดรูอยู่ตามพื้นดินหรือโคลนในป่าชายเลน โดยจะขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง จนเกิดรูปทรงภูเขาไฟ ซึ่งอาจสูงได้ถึง 2 เมตรจากพื้นดิน ส่วนตัวมันเองจะอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น

Advertisements

แต่! ต้องบอกว่า กองดินที่แม่หอบสร้าง ไม่ได้มีความสำคัญกับตัวแม่หอบเท่านั้น มันยังเป็นบ้านและที่หลบภัยให้กับสัตว์ในพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น งู ปู มด แมงมุม หนอน หอย และกุ้ง ก็จะใช้ประโยชน์จากกองดินนี้ และดูเหมือนว่าพืชบางชนิดก็จะเติบโตได้ดีกว่าบนกองดินเหล่านี้

นอกจากนี้แม่หอบซึ่งถือเป็นเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าชายเลน มันมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตในป่าชายเลน มันจะกินโคลนและเมื่อกินและขุด มันจะรีไซเคิลสารอาหารจากใต้ดินลึก ส่งขึ้นมาด้านบน ซึ่งจะช่วยให้สารอาหารอยู่ในระยะที่พืชและสัตว์อื่นๆ เข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้การขุดของมันยังทำให้โคลนคลายตัวและช่วยให้อากาศและน้ำที่มีออกซิเจน สามารถทะลุผ่านพื้นดินที่ขาดออกซิเจนได้

สำหรับในประเทศไทย จะพบแม่หอบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ในต่างประเทศจะพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย, ศรีลังกาจรดถึงเวียดนาม, หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น จนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินี ออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว

ความเชื่อที่เกี่ยวกับแม่หอบของคนไทย

การที่สัตว์ตัวนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “แม่หอบ” นั้นเพราะมันถูกเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ สุดท้ายพวกมันก็ถูกจับมาเผาไฟเพื่อเอามากินตั้งแต่ในอดีต และมันยังสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ ธาลัสซีน่า “Thalassina” ที่หมายถึง “การย้อนกลับทางเดินหายใจ” เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก

Advertisements

ในอดีตจะมีการนำตัวแม่หอบมาเผาไฟ และนำเนื้อไปให้คนป่วยโรคหืดหอบรับประทาน เชื่อว่าสามารถทุเลาและหายจากการเป็นโรคหืดหอบได้

ปัจจุบันสถานะของแม่หอบในไทย ถือได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มลพิษ ขยะทะลักเข้าสู่ป่าชายเลน และแม่หอบจะตายอย่างง่ายดาย เพราะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบาง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements