เมธูเสลาห์เป็นปลาปอดออสเตรเลียที่มีความยาว 1.2 เมตร และหนัก 40 ปอนด์ หรือ 18 กิโลกรัม แรกเริ่มมันมีชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย และถูกนำเข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ซานฟรานซิสโกตั้งแต่ปี 1938 โดยเชื่อกันว่าปลาปอดของออสเตรเลียเป็นสายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ที่มีปอดและเหงือก มันเป็นปลามีวิวัฒนาการที่เชื่อมโยงระหว่างปลากับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
การปรากฏตัวครั้งแรกของปลาตัวนี้คือในหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกโครนิเคิล (San Francisco Chronicle) ในปี 1947 โดยมีข้อความว่า “สิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดนี้ มีเกล็ดสีเขียวดูเหมือนใบอาติโช๊คสด มันเป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็น ..ความเชื่อมโยงที่ขาดหายไประหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ”
ก่อนหน้านี้เมธูเสลาห์อาจไม่ได้เป็นปลาที่อายุมากที่สุด เพราะเมื่อหลายปีก่อน มีปลาปอดของออสเตรเลียที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในชิคาโก แต่มันตายไปเมื่อปี 2017 ด้วยอายุ 95 ปี
และแม้ใครๆ จะเชื่อว่าปลาตัวนี้เป็นตัวเมีย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดเมธูเสลาห์เป็นตัวผู้หรือตัวเมียกันแน่ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะระบุเพศของสายพันธุ์นี้โดยไม่ต้องเจาะเลือด ทางพิพิธภัณฑ์จึงมีแผนที่จะส่งตัวอย่างครีบเล็กๆ ของปลาตัวนี้ไปให้นักวิจัยในออสเตรเลีย เพื่อพยายามยืนยันเพศและหาอายุที่แท้จริงของมัน
ในตอนนี้ปลาปอดของออสเตรเลียจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นการยากที่จะส่งออกจากประเทศออสเตรเลียได้ ดังนั้นนักชีววิทยาที่พิพิธภัณฑ์จึงกล่าวว่า มันยากที่เราจะหาปลามาทดแทนหากเมธูเสลาห์ต้องตายไป “ในตอนนี้เราแค่ให้การดูแลอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไป และหวังว่ามันจะอยู่กับเราไปอีกนาน”
ปลาปอด 3 ชนิดที่หลงเหลืออยู่บนโลก
แต่เดิมปลาปอดมีการกระจายพันธุ์อยู่แทบทุกทวีป พวกมันเคยอยู่ในอเมริกา ยุโรป เอเซีย แต่ในปัจจุบันเหลือแค่ในอเมริกาใต้ แอฟริกาและออสเตรเลียเท่านั้น โดยปลาปอดทุกชนิดยกเว้นปลาปอดออสเตรเลียในตอนที่ยังเล็กๆ จะมีพู่เหงือกเหมือนพวกซาลาแมนเดอร์ ก่อนจะหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 สัปดาห์ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในรอยต่อของวิวัฒนาการจากสัตว์น้ำเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ … ต่อไปมาดูเรื่องราวย่อๆ ของปลาปอด 3 ชนิด
ชนิดที่ 1 – ปลาปอดแอฟริกา (African lungfish)
ปลาปอดแอฟริกาจัดเป็นชนิดที่ยังใหญ่ที่สุด โดยตัวที่โตเต็มวัยจะยาวได้ถึง 2 เมตร และยังมีแบ่งเป็นชนิดย่อยอีก 4 ชนิด จัดเป็นปลาปอดที่หามาเลี้ยงได้ง่ายที่สุด และยังเลี้ยงง่ายด้วยเพราะน้ำไม่ต้องเยอะและยังไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วย
สำหรับชนิดที่ใหญ่ที่สุดของปลาปอดแอฟริกาคือ ปลาปอดเอธิโอปิคัส หรือ ปลาปอดลายหินอ่อน (Marbled lungfish) มันคือปลาปอดที่ยาวได้ 2 เมตร จัดเป็นปลาปอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พบพวกมันในทะเลสาบวิกตอเรียและในหนองน้ำ รวมถึงทะเลสาบรอบๆ บริเวณทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก ในฤดูที่แห้งแล้ง พวกมันสามารถขุดรูจำศีลได้นานถึง 1 ปี และสามารถอยู่บนพื้นดินที่ชุ่มชื้นได้นาน 3 ปี ..นอกจากนี้ปลาปอดเอธิโอปิคัส ยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ซึ่งต่างกันที่ลวดลาย ขนาดเมื่อโตเต็มที่และสถานที่พบ
ชนิดที่ 2 – ปลาปอดอเมริกาใต้ (South American lungfish)
ปลาปอดอเมริกาใต้ มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับปลาปอดแอฟริกา เพียงแต่จะเพรียวกว่าและมีขนาดเล็กสุดในบรรดาปลาปอด พวกมันนิสัยก้าวร้าวน้อยกว่าปลาปอดแอฟริกา โดยปลาปอดอเมริกาใต้จัดเป็นปลาปอดโลกใหม่ ที่มีวิวัฒนาการมาจากปลาปอดในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ปลาปอดชนิดนี้จะยาวได้ประมาณ 1.2 เมตร เป็นปลาที่อยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ เมื่อถึงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด ปลาปอดอเมริกาใต้จะขุดหลุมลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร และจะใช้โคลนปิดปากหลุมไว้เพื่อการจำศีล โดยปลาปอดชนิดนี้จะพบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำสาขาต่างๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำแอมะซอน เช่น แม่น้ำปารานา
สำหรับปลาปอดอเมริกาใต้จัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากมีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาปอดแอฟริกา จึงสามารถนำไปเลี้ยงกับปลาชนิดอื่นได้ดี ที่สำคัญมันสามารถกินอาหารเม็ดได้อย่างไม่มีปัญหา
ชนิดที่ 3 – ปลาปอดออสเตรเลีย (Australian lungfish)
สำหรับปลาปอดออสเตรเลีย มีความแตกต่างจากปลาปอดที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เนื่องจากเป็นปลาปอดที่มีความใกล้เคียงกับปลาปอดในยุคก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด และยังเป็นปลาปอดที่มีอายุยืนที่สุด อย่างน้อยก็ 70 ปี และในอดีตปลาปอดออสเตรเลียมีอยู่ 7 ชนิด แต่ตอนนี้พวกมันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
ปลาปอดออสเตรเลีย จะไม่สามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานานเท่าปลาปอดชนิดอื่น มันจำเป็นต้องขึ้นมาฮุบเอาอากาศที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ และหากเป็นช่วงฤดูแล้ง ปลาปอดออสเตรเลียจะอยู่นิ่งๆ และขึ้นมาหายใจเพียง 1 – 2 ครั้งต่อชั่วโมง
โดยปลาปอดชนิดนี้จะชอบอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณภาพน้ำในเกณฑ์ดี มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูง สภาพกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ พบในรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ในประเทศออสเตรเลียเพียงที่เดียวในโลก
และแม้ตอนนี้ปลาปอดออสเตรเลียจะใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แต่โชคยังดีที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในบ่อเลี้ยงแล้ว ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงราคาแพง และยังมีการฝังชิพเพื่อระบุตัวปลาอีกด้วย โดยเมื่อมีการซื้อขายกันก็ต้องมีหนังสืออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง ปลาปอด ‘เมธูเสลาห์’ ปลาในตู้อายุยืนที่สุดในโลก กับปลาปอด 3 ชนิดสุดท้าย ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน ไม่มากก็น้อย ถ้าชอบเรื่องนี้ก็อย่าลืมแชร์ให้คนอื่นได้อ่านกันนะ