ปลา 30 ชนิดที่พบได้ในป่าพรุโต๊ะแดง

ป่าพรุโต๊ะแดง ได้ชื่อว่าเป็นป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทย เป็นป่าที่เกิดจากการขังตัวของแอ่งน้ำจืดเป็นเวลานานแสนนาน จนกระทั่งเกิดการทับถมของซากพืชซากสัตว์ย่อยสลายกลายเป็นชั้นดินที่เราเรียกกันว่า “ดินพีท” ซึ่งเป็นดินที่มีความหนาแน่นต่ำ มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้มาก ลักษณะดินยวบคล้ายฟองน้ำ และเพราะลักษณะที่โดดเด่นของป่าแห่งนี้ จึงมีปลาและสิ่งมีชีวิตที่พิเศษและอาจไม่สามารถพบได้ที่ไหนในประเทศ และนี่คือ ปลา 30 ชนิด ที่พบได้ในปลาพรุโต๊ะแดง และต้องขอเน้นย้ำไว้อีกอย่างคือ ปลาที่พูดถึงในเรื่องนี้ ไม่ใช่ปลาทั้งหมดที่พบในป่าพรุโต๊ะแดง เรามาเริ่มกันเลย

1. ปลากระดี่มุก – Trichopodus leerii

Advertisements

ปลากระดี่มุก เป็นปลาที่ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่กระดี่มุกมีลำตัวกว้างกว่าเล็กน้อย ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นมีขนาดใหญ่และมีก้านครีบอ่อนยาวเป็นเส้นริ้ว ลำตัวมีลายสีขาวคล้ายมุกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วตัว อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ส่วนคางและท้องจะมีสีส้ม

ปลากระดี่มุก – Trichopodus leerii

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ชอบอาศัยในน้ำนิ่ง นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการเพาะขยายพันธุ์ในฟาร์ม

2. ปลากระสง – Channa lucius

ปลากระสง ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น “ปลากระจน” หรือ “ปลาช่อนไช” มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างป้อมสั้น ลูกปลากระสงจะมีสีน้ำตาลอมส้ม และมีแถบสีดำขนาดเล็กคาดจำนวน 4 เส้น ในปลาขนาดใหญ่จะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง หรือเขียวมะกอก ที่ข้างแก้มมีแต้มสีคล้ำใหญ่ดูคล้ายดวงตา มีแถบสีคล้ำตามแนวยาว พาดตั้งแต่หน้าลูกตาไปถึงกลางลำตัวบนตัวมีลายประดำด่างตลอด เป็นปลาที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงป่าพรุ

ปลากระสง – Channa lucius

3. ปลากะแมะ – Chaca bankanensis

ปลากะแมะเป็นปลาที่มีหน้าตาแปลกประหลาด และมันก็เป็นปลาที่มีนิสัยการล่าเหยื่อคล้ายๆ กับปลาตกเบ็ด (Angler fish) ที่เป็นปลาทะเลน้ำลึก จนปลากะแมะมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Angler catfish มันเป็นปลาที่พบได้ในธรรมชาติแค่เพียงไม่กี่ที่ในโลก และในไทยก็พบได้ที่ “ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส” ที่เดียวเท่านั้น

ปลากะแมะ – Chaca bankanensis
Advertisements

4. ปลากัดช้าง – Betta pi

Advertisements

ปลากัดช้าง หรือ ปลากัดน้ำแดง จัดเป็นปลากัดขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 9 เซนติเมตร มีลักษณะป้อมสั้น หัวโต ปากกว้าง เกล็ดใหญ่ ส่วนหัวและลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดง ตัวผู้ใต้ขอบตาจะเป็นสีเข้ม ครีบสีจางมีเหลือบสีเขียวอ่อน ปากสีคล้ำ มีรอยสีคล้ำเป็นรูปโค้งและมีแถบ 2 แถบติดกันที่ใต้คางและริมฝีปากล่าง พบในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส โดยอาศัยในน้ำที่มีสีชาหรือสีแดง เป็นปลาที่ไม่ดุร้ายหรือก้าวร้าว จึงสามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายตัว

ปลากัดช้าง – Betta pi

5. ปลาก้างพระร่วง – Kryptopterus vitreolus

ปลาก้างพระร่วง หรือ ปลาผี เป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย พวกมันเคยมีอยู่มากมายในแม่น้ำลำธาร โดยในภาคกลางพบที่จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทรบุรี จนถึงจังหวัดตราด ภาคใต้พบในสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุงและสงขลา

ปลาก้างพระร่วง – Kryptopterus vitreolus
Advertisements

ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นจนเกือบจะมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง ลำตัวใสจนมองเห็นก้างภายในตัว เป็นปลาที่ไม่เหมาะที่จะเอามาทำอาหาร แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

6. ปลาจิ้มฟันจระเข้ธารปากสั้น – Doryichthys martensii

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ธารปากสั้น เป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ มันมีขนาดประมาณ 14 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีลำตัวที่ยาว มีสีค่อนข้างซีด ปากก็สั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และยังหาได้ยากกว่าด้วย เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำธารบริเวณที่ราบ แถวๆ จังหวัดทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ รวมถึงในป่าพรุ

ปลาจิ้มฟันจระเข้ธารปากสั้น – Doryichthys martensii

7. ปลาช่อนดำ – Channa melasoma

Advertisements

ปลาช่อนดำ เป็นหนึ่งในปลาช่อน 8 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีรูปร่างเหมือนปลาช่อนนา แต่ลำตัวผอมเพรียวกว่า หัวโต ตาสีดำ แม้จะชื่อว่าปลาช่อนดำ แต่ก็ไม่เสมอไปที่มันจะมีตัวสีดำเหมือนชื่อ เพราะสีลำตัวค่อนข้างแปรปรวนตั้งแต่สีน้ำตาลซีดจนถึงน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอมเขียวหรือเกือบดำ จุดสังเกตุสำคัญของปลาช่อนชนิดนี้ที่ทำให้แยกออกจากปลาช่อนนาอีกอย่างคือ ที่ขอบของครีบจะเป็นสีขาว

ปลาช่อนดำ – Channa melasoma

ปลาช่อนดำ เมื่อเทียบกับปลาช่อนนา ถือว่าเล็กกว่าพอสมควร เพราะมันโตที่สุดแค่ 30 เซนติเมตร แต่โดยปกติอยู่ประมาณ 20 เซนติเมตร พบได้น้อยในประเทศไทย เพราะในธรรมชาติของไทยจะ สามารถพบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำโกลก เท่านั้น

8. ปลาซิวข้างขวานใหญ่ – Trigonostigma heteromorpha

ปลาซิวข้างขวานใหญ่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวแบนข้างกว่าปลาซิวทั่วไป หัวและตาโต ปากเล็ก ลำตัวสีส้มแดงเหลือบชมพูหรือม่วง ลำตัวช่วงกลางจนถึงโคนหาง มีแต้มสีดำรูปสามเหลี่ยม เป็นปลาที่มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในประเทศไทยพบในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาซิวข้างขวานใหญ่ – Trigonostigma heteromorpha
Advertisements

9. ปลาดุกลำพัน – Clarias nieuhofii

ปลาดุกลำพัน ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร เป็นปลาเนื้อดี และยังหาได้ค่อนข้างยากทั้งในธรรมชาติและในที่เลี้ยง ความจริงสถานะของปลาชนิดนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ก็ยังพบได้ในตลาดบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ของไทย

ลักษณะของปลาดุกลำพันค่อนข้างต่างจากปลาดุกชนิดอื่นที่พบในไทย มันมีลำตัวที่ยาวมาก ยาวจนบางทีอาจคิดว่าเป็นปลาไหลได้เลย สีของลำตัวค่อนข้างดำ แต่ก็จะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ตัวโตเต็มวัยจะมีลำตัวสีเข้ม แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อจะมีสีน้ำตาลเหลือง ข้างลำตัวมีจุดสีขาวเรียงเป็นแถวตามขวางประมาณ 13 – 20 แถว

ปลาดุกลำพัน – Clarias nieuhofii

ปลาดุกลำพันในไทย มีประชากรอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พบทางภาคตะวันออก ในจังหวัดจันทบุรีและตราด และอีกกลุ่มจะอยู่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ชอบอาศัยอยู่ในป่าพรุ ในอนาคตอาจมีการอธิบายแยกออกมา

10. ปลากริมแรด – Parosphromenus paludicola

ปลากริมแรด เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง มีลายแถบแนวนอนบนลำตัวชัดเจน ฐานครีบหลังกว้าง และมีขอบครีบสีฟ้า ในประเทศไทยพบได้เฉพาะบริเวณป่าพรุโต๊ะแดงเท่านั้น เป็นปลาที่หาได้ยากและไม่ค่อยจะถูกจับมาขายในตลาดปลาสวยงาม

ปลากริมแรด – Parosphromenus paludicola

11. ปลาเข็มงวง – Hemirhamphodon pogonognathus

ปลาเข็มงวงเป็นปลาที่จัดอยู่ในตระกูลปลาเข็ม มีความยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร เป็นปลาที่ไม่สามารถขยับปากบนได้ เวลามันอ้าปากจะมีแค่ปากล่างเท่านั้นที่ถ่างออก ที่ปลายปากล่างจะมีติ่งหนังยาวออกมา คล้ายงวงช้างห้อยลงมาด้านล่าง ใต้จงอยปาก มีริ้วหนังเป็นสี ปลาเพศผู้จะมีขนาดลำตัวและสัดส่วนของครีบใหญ่กว่าเพศเมีย ในไทยจะพบปลาชนิดนี้ได้เฉพาะที่ป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาเข็มงวง – Hemirhamphodon pogonognathus

12. ปลาช่อนเข็ม – Luciocephalus pulcher

ปลาช่อนเข็มที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปลาช่อน แต่เพราะมีรูปร่างคล้ายก็เลยได้ชื่อนี้มา โดยปลาช่อนเข็มจะมีอยู่ 2 ชนิด และที่พบในไทยคือ “ลูซิโอเซฟาลัส พัลเชอร์ (Luciocephalus pulcher)” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกชนิดที่พบบนเกาะบอร์เนียว

ปลาช่อนเข็ม – Luciocephalus pulcher

โดยปลาช่อนเข็มในบ้านเราจะมีหัวและจะงอยปากแหลมยื่น จะงอยปากล่างยาวกว่าปากบน ตาโต เกล็ดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลไหม้ มีขนาดความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นปลาที่หากินบริเวณผิวน้ำ พบได้เฉพาะในถิ่นอาศัยแบบพรุดั้งเดิมอย่างในป่าพรุโต๊ะแดง

13. ปลาซิวแถบฟ้า – Rasbora einthovenii

ปลาซิวแถบฟ้า มีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีชมพูอมส้ม มีแถบดำและทองคล้ายกับปลาซิวควายแถบดำ แต่แถบสีดำจะอมฟ้าและกว้างกว่า ขอบไม่คมและวิ่งเลยไปจนถึงแผ่นหาง ถือเป็นปลาซิวที่สวยงามชนิดหนึ่ง พบได้ในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาซิวแถบฟ้า – Rasbora einthovenii

14. ปลาซิวใบไผ่เล็ก – Danio albolineatus

ปลาซิวใบไผ่มุก หรือ ปลาซิวใบไผ่เล็ก เป็นปลาซิวที่มีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร ลำตัวยาวและแบนข้าง ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมชมพู ส่วนท้องดูเป็นประกายสีเขียวสดใส ด้านข้างลำตัวสีชมพูปนเงิน เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำสาละวิน, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง และแม่น้ำต่าง ๆ ในภาคใต้ รวมถึงแหล่งน้ำในป่าพรุด้วย

ปลาซิวใบไผ่เล็ก – Danio albolineatus

15. ปลาซิวหนู – Boraras urophthalmoides

ปลาซิวหนู เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ซึ่งยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลาเพศผู้จะตัวเล็กกว่าเพศเมีย ในฤดูผสมพันธฺุ์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวกลางลำตัว โคนหางมีจุดสีคล้ำ มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ และว่ายขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ชอบอยู่ในแหล่งน้ำที่นิ่งมีหญ้าและพืชน้ำขึ้นหนาแน่น พบปลาชนิดนี้ได้พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในที่ราบลุ่มภาคกลาง และในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาซิวหนู – Boraras urophthalmoides

16. ปลาซิวเพชรน้อย – Boraras maculates

ปลาซิวเพชรน้อย เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาว หัวโต ตาโต ปากเล็ก มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ เส้นข้างลำตัวดูไม่ค่อยสมบรูณ์ มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีแดงส้ม มีจุดสีคล้ำที่เหนือครีบอก ครีบก้นและที่โคนหาง มีขนาดใหญ่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร

ปลาซิวเพชรน้อย – Boraras maculates

เป็นปลาที่อาศัยรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ชอบปะปนอยู่กับปลาซิวชนิดอื่นที่อยู่ในบริเวณป่าพรุ พบได้ในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นปลาซิวที่สวยและแปลก แต่ก็เลี้ยงได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องปรับคุณภาพน้ำให้ใกล้เคียงกับน้ำในป่าพรุ

17. ปลาซิวหางแดง – Rasbora borapetensis

ปลาซิวหางแดง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร มีรูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวตลอดลำตัวและยังมีแถบสีทองขนาบด้านบน เป็นปลาที่มีครีบใส แต่ตรงโคนหางจะมีสีแดงสด ปลาซิวชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงในแหล่งน้ำนิ่ง พบได้ตั้งแต่ลุ่มน้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง ภาคใต้ในป่าพรุ

ปลาซิวหางแดง – Rasbora borapetensis

18. ปลาตะเพียนแคระ – Oreichthys parvus

ปลาตะเพียนแคระ มีขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลาเพศผู้มีครีบขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ในฤดูผสมพันธุ์จะมีสีสันที่สวยงาม ปลาเพศเมียจะมีครีบเล็กกว่า เป็นปลาที่ชอบอาศัยร่วมกับปลาชนิดอื่น โดยเฉพาะกับปลาซิว ในไทยพบได้น้อยที่ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้จะพบได้มากกว่าโดยเฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาตะเพียนแคระ – Oreichthys parvus

19. ปลาตะเพียนลาย – Desmopuntius johorensis

ปลาตะเพียนลาย เป็นปลาตะเพียนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 8 เซนติเมตร ในปลาขนาดเล็กจะมีลายพาดตามแนวตั้ง เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นลายแนวนอน ซึ่งมีอยู่ 4 แถบ พบกระจายพันธุ์ในป่าพรุ

ปลาตะเพียนลาย – Desmopuntius johorensis

20. ปลาปักเป้าท้องตาข่าย – Pao palembangensis

ปลาปักเป้าท้องตาข่าย หรือ ปลาปักเป้าพรุ เป็นปลาที่ยาว 15 เซนติเมตร มีหนังหนา มีตาโตมาก สีลำตัวออกไปทางสีน้ำตาลแดง ใต้ท้องสีขาวและมีลวดลายคล้ายตาข่ายและมีจุดปกคลุม จัดเป็นปลาปักเป้าที่มีขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากในบางฤดูกาลบริเวณป่าพรุโต๊ะแดง และลำคลองรอบๆ

ปลาปักเป้าท้องตาข่าย – Pao palembangensis

21. ปลาแปบขาวหางดำ – Oxygaster anomalura

ปลาแปบขาวหางดำ หรือ ปลาแปบเงา เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 15 เซนติเมตร มีรูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้างมาก ริมท้องเป็นสัน หัวมีขนาดเล็ก นัยน์ตาโต ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางหางและตรงข้ามกับครีบก้น ครีบอกยาวจรดครีบท้อง ครีบหางเป็นแฉก เกล็ดมีลักษณะบางใสและหลุดง่าย

ปลาแปบขาวหางดำ – Oxygaster anomalura

พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำและลำคลองของแม่น้ำตาปี เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทะเลน้อยในเขตจังหวัดพัทลุง แม่น้ำจันทบุรีในจังหวัดจันทบุรี และยังพบได้ในแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำแม่กลอง และในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง

22. ปลาแปบสยาม – Parachela siamensis

ปลาแปบสยาม เป็นปลาแปบขนาดกลางที่ยาวได้ประมาณ 12 เซนติเมตร มีตาที่โต เกล็ดค่อนข้างใส มีแถบสีดำและทองพาดผ่านกลางลำตัว และแถบจะเป็นสีเงินเมื่อปลาตาย พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงบึงบอระเพ็ด และป่าพรุโต๊ะแดง ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

ปลาแปบสยาม – Parachela siamensis

23. ปลาผีพรุ – Kryptopterus macrocephalus

ปลาผีพรุ หรือ ปลาเพียวขุ่น มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร เป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายกับปลาก้างพระร่วง แต่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลขุ่นและมีแถบลายที่ชัดเจน และมีหนวดยาวกว่า ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่ตามป่าพรุของภาคใต้

ปลาผีพรุ – Kryptopterus macrocephalus

24. ปลาเสือหกขีด – Desmopuntius hexazona

ปลาเสือหกขีด หรือ ปลาเสือป่าพรุ มีลักษณะโดยรวม คือ มีลำตัวแบนข้าง ส่วนหลังโค้ง หัวมีขนาดเล็ก ตาโต ปากมีขนาดเล็ก มีแถบสีดำบนลำตัว 6 แถบ โดยมีที่ลำตัว 5 แถบ และที่ส่วนหัวอีก 1 แถบ ซึ่งพาดผ่านตา เกล็ดบางเกล็ดมีสีขาวเงินสะท้อนแสง มีความยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทยโดยเฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาเสือหกขีด – Desmopuntius hexazona

25. ปลาเสือหกขีดหลังจุด – Desmopuntius Pentazona

ปลาเสือหกขีดหลังจุด เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลาเสือหกขีด แต่จะมีแต้มสีดำอยู่บริเวณใต้ฐานครีบหลัง และมีแถบสีเข้มบนลำตัวขนาดเล็กกว่า แต่เดิมปลาชนิดนี้พบได้ที่ประเทศมาเลเซีย แต่เพิ่งได้รับรายงานการพบในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2560 เป็นปลาที่หาได้ค่อนข้างยากและพบอาศัยอยู่ในป่าพรุ

ปลาเสือหกขีดหลังจุด – Desmopuntius Pentazona

26. ปลาหมอตาล – Helostoma temminckii

ปลาหมอตาล หรือ ปลาจูบ มีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนมากกว่าปลาหมอไทย หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้ ริมฝีปากหนา มีเกล็ดขนาดปานกลางปกคลุมส่วนหัวและลำตัว ลำตัวเป็นสีเขียวปนเทา หลังมีสีเทาปนดำ ท้องสีขาว มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาในวงศ์ปลากัดและกระดี่ มีพฤติกรรมใช้ปากจูบกันเพื่อข่มขู่คู่ต่อสู้ เป็นปลาที่พบได้น้อยและสามารถพบได้ในป่าพรุโต๊ะแดงและบริเวณใกล้เคียง

ปลาหมอตาล – Helostoma temminckii

27. ปลาหวีเกศพรุ – Pseudeutropius indigens

ปลาหวีเกศพรุ เป็นปลาที่หายาก ถูกพบครั้งแรกในป่าพรุโต๊ะแดง เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นปลาหนังที่มีลักษณะคล้ายปลาแขยง มีหนวด 3 คู่ โดยหนวดจะยาวถึงครีบก้น พื้นลำตัวเป็นสีเขียวอ่อน มีแถบสีดำบริเวณลำตัว เป็นปลาที่มีพฤติกรรมคล้ายปลาก้างพระร่วง มักว่ายรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ พบได้ในป่าพรุโต๊ะแดง และแหล่งน้ำรอบๆ

ปลาหวีเกศพรุ – Pseudeutropius indigens

28. ปลาเสือดำ – Nandus nebulosus

ปลาเสือดำ มีขนาดประมาณ 8 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลาดุมชี มีลำตัวแบนข้าง หัวและตาโต ปากมน มีลำตัวสีน้ำตาลแดง มีลายบั้งและลายประสีคล้ำพาดขวาง มีแถบยาวสีดำจากปลายปากจนถึงท้ายทอย มีพฤติกรรมชอบซ่อนตัวอยู่นิ่งๆ ใต้กองไม้หรือใบไม้ใต้น้ำ พบได้ในบริเวณภาคตะวันออกของประเทศ และป่าพรุในภาคใต้

ปลาเสือดำ – Nandus nebulosus

29. ปลาหมอจำปะ – Belontia hasselti

ปลาหมอจำปะ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายปลาหมอช้างเหยียบ แต่ลำตัวจะยาวกว่า ปลายครีบหางมน ครีบท้องเล็ก ลำตัวสีเหลืองทองหรือเหลืองคล้ำถึงน้ำตาลแดง ขอบเกล็ดสีคล้ำและที่ฐานครีบหลังตอนท้ายมีจุดสีดำ ครีบหลังและครีบก้นตอนหน้าสีคล้ำ ตอนท้ายรวมถึงครีบหางมีลายเส้นเป็นตาข่าย ในประเทศไทยพบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง

ปลาหมอจำปะ – Belontia hasselti

30. ปลาเหล็กในพรุ – Indostomus crocodilus

ปลาเหล็กในพรุ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระใต้ มีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีหนามตามตัวที่สั้น ตัวผู้จะมีรอยตะเข็บตามหลัง ท้อง และครีบก้น เป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้าๆ พบในป่าพรุทางภาคใต้ ชอบอาศัยตามกอหญ้าริมน้ำและดงไม้น้ำ

ปลาเหล็กในพรุ – Indostomus crocodilus

ก็หมดแล้วสำหรับปลา 30 ชนิด ที่พบในป่าพรุโต๊ะแดง และก็อย่างที่บอกไว้ มันไม่ใช่ปลาทั้งหมด เพราะยังมี ปลาช่อนชนิดอื่น ปลาสวยงามอื่น หรือ ดีไม่ดีอาจมีพวกปลานิลอยู่ด้วยซ้ำ… จบ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements