ซากดึกดำบรรพ์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในสกุล Keraterpeton ที่ถูกค้นพบในปี 1866 ซึ่งติดอยู่ในชั้นของถ่านหินที่ Jarrow Assemblage ซึ่งเป็นแหล่งฟอสซิลใน County Kilkenny ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์
Keraterpeton เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเท่าฝ่ามือ รูปร่างคล้ายซาลาแมนเดอร์ มีเขาแหลมเหมือนมังกร ตามรายงานของ University College Cork ในไอร์แลนด์ ซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุย้อนกลับไปประมาณ 320 ล้านปีก่อน ในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous)
ฟอสซิลใน Jarrow Assemblage ล้วนมีลักษณะพิเศษ พวกมันบิดงอและส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยถ่านหินที่อยู่รอบๆ สิ่งนี้ทำให้ยากที่จะแยกแยะฟอสซิลจากสภาพแวดล้อม และบอกได้ว่าฟอสซิลเดิมมีหน้าตาเป็นอย่างไร ฟอสซิลยังมีผลึกอะพาไทต์หรือแร่ธาตุฟอสเฟตในปริมาณสูง ซึ่งผิดปกติจากที่พบในกระดูกของสัตว์ส่วนใหญ่
จนถึงขณะนี้ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ที่ผิดรูปร่างคือ พวกมันถูกฝังอยู่ในดินที่เป็นกรด ซึ่งละลายกระดูกส่วนใหญ่และทำให้ถ่านหินสามารถเข้ามาแทนที่ได้
อย่างไรก็ตามในการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน Journal Paleontology เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2022 นักวิจัยได้วิเคราะห์กระดูกและค้นพบว่า อะพาไทต์ภายในกระดูกน่าจะก่อตัวขึ้นหลังจากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำโบราณตายไป 20 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับทวีปแพนเจียกำลังก่อตัว
เมื่อเราดูคุณสมบัติทางเคมีของอะพาไทต์ในฟอสซิลจาก Jarrow เราพบว่าอะพาไทต์นี้ก่อตัวขึ้นจากของเหลวร้อนภายในโลก” Gary O’Sullivan ผู้ร่วมวิจัย กล่าวในแถลงการณ์ …ของเหลวที่ร้อนจัดเหล่านี้ น่าจะถูกปล่อยออกมาในขณะที่ทวีปโบราณเคลื่อนที่ไปมา และอาจเปลี่ยนฟอสซิลให้กลายเป็นซากบิดเบี้ยวที่เราเห็นในปัจจุบัน