ปัจจุบันในโลกใบนี้เหลือ “ตะโขง” เพียง 2 ชนิดเท่านั้น
ชนิดแรกคือ ตะโขงอินเดีย หรือ กาเรียล (gharial, Indian gavial) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในอันดับจระเข้ และอยู่ในวงศ์ตะโขง (Gavialidae) มันเป็นตะโขงที่ยาวได้ถึง 6.5 เมตร แน่นอนว่ายาวถึง 4 เมตรก็เก่งแล้ว จัดเป็นจระเข้ที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำมากที่สุดในจระเข้ทุกชนิดที่มีอยู่บนโลกตอนนี้ โดยตะโขงชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในอินเดีย เนปาล, ภูฏาน, บังกลาเทศ, ปากีสถาน และยังพบที่พม่า
ชนิดที่สองคือ ตะโขง หรือ ตะโขงมลายู (Malayan gharial, false gharial) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในอันดับจระเข้ และอยู่ในวงศ์ตะโขง (Gavialidae) …ตะโขงมลายูจะตัวเล็กกว่าตะโขงอินเดียมาก มันมีขนาดไม่เกิน 3 เมตร ในอดีตพวกมันมีอยู่มากมายในคาบสมุทรมลายูและภูมิภาคอินโดจีน เช่น ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, กาลีมันตัน, บอร์เนียว, สุมาตรา และพบถึงประเทศออสเตรเลียทางตอนเหนือ
จุดสังเกตุที่เห็นได้ชัดระหว่าง ตะโขงอินเดีย และ ตะโขงมลายู คือ ตะโขงอินเดียปากจะแหลมยาวและจมูกจะมีตุ่มขนาดใหญ่ ในขณะที่ตะโขงมลายูจะไม่มี
และมีเรื่องที่น่าสนใจคือ พวกมันเป็นสัตว์จำพวกจระเข้ที่มีกะโหลกยาวที่สุด และถึงแม้อาหารหลักของมันจะเป็นปลา แต่มีรายงานว่าตะโขงมลายูนั้นสามารถโจมตี และกินสัตว์ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน เคยมีรายงานตะโขงมลายูในมาเลเซียทำร้ายมนุษย์จนถึงตาย ซึ่งถือว่าเป็นรายงานแรกของการทำร้ายมนุษย์โดยตะโขง
ในปัจจุบันยังเหลือตะโขงมลายูในอินโดนีเซีย มาเลเซียและบางส่วนในหมู่เกาะของออสเตรเลีย แต่ตอนนี้จำนวนของพวกมันก็ลดลงไปอย่างมาก ส่วนตะโขงมลายูในสิงคโปร์ คาดการว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ คงเหลือเฉพาะในสวนสัตว์
แล้วตะโขงมลายูในประเทศไทย?
สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับตะโขงมลายูในประเทศไทย ยังค่อนข้างคลุมเครือเป็นอย่างมาก เพราะบางแหล่งก็ว่าสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว แต่บางแหล่งก็ว่าเหลือน้อยมากๆ
แต่เดิมเคยมีรายงานการพบพวกมันในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทางภาคใต้ เป็นไปได้ว่าถิ่นที่อยู่สุดท้ายของตะโขงในประเทศไทย อาจเป็นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
ทั้งนี้การค้นพบแบบที่มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่ชัดเจน ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ 2550 ถูกถ่ายไว้ได้ที่ฝายเก็บน้ำคลองถูป อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แต่ก็ไม่มีการค้นพบอีกเลยจนมีความเป็นได้ว่าพวกมันอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
แต่ก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะในปี พ.ศ. 2562 ทางสวนสัตว์โคราชสามารถเพาะพันธุ์ตะโขงมลายูได้สำเร็จ ซึ่งในปัจจุบัน ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยมีตะโขงมลายูอยู่10 กว่าตัว และถึงจะสามารถเพาะพันธุ์พวกมันได้แล้ว แต่มันก็ยังไม่เหมาะที่จะอยู่ในธรรมชาติในประเทศไทย เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของพวกมันถูกมนุษย์ยึดครองไปจนหมดแล้ว
สำหรับตะโขงมลายู มีความยาวประมาณ 2.8 – 3 เมตร มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวและหาง ปากแหลมเรียวยาวมาก แต่ไม่มีก้อนเนื้อปลายจมูกเหมือนตะโขงอินเดีย มีฟันที่แหลมคมประมาณ 76 – 84 ซี่ ตาและจมูกอยู่ด้านบนของหัว สีเกล็ดของตัวเต็มวัยและลูกจระเข้จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม
ส่วนลำตัวและหางจะมีแถบสีดำ ลูกตะโขงส่วนขากรรไกรจะมีแต้มวงกลมสีดำเกล็ดท้องสีเทาหรือขาว ตัวเต็มวัยเพศผู้ยาวและหนักกว่าเพศเมีย
ปัจจุบันนั้นเราคงได้เห็นตะโขงเฉพาะที่สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์โคราช สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์สงขลา และที่ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ และถึงแม้พวกมันอาจจะสูญพันธุ์ไปในธรรมชาติประเทศไทยแล้ว
แต่ยังโชคดีอยู่เล็กน้อย ที่ยังเหลืออยู่ในสวนสัตว์ โดยสิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือ ฟื้นฟูจำนวนของพวกมันให้กลับมา และในอนาคตหวังว่าจะได้เห็นตะโขงชนิดนี้ในธรรมชาติของประเทศไทยอีกครั้ง