เหาฉลาม ปลาที่ไม่ถูกล่า ทั้งชีวิตเกาะกินฟรี

เหมือนจะเป็นปลาที่ไม่ค่อยน่าสนใจที่จะเขียนถึงมันเท่าไร แต่พอได้ค้นข้อมูลก็พบว่าปลาอย่าง "เหาฉลาม" มันก็สิ่งแปลกๆ อยู่ โดยเฉพาะนิสัยแย่ของมัน ก็เลยขอเอามาเล่าให้น้าๆ ได้อ่านกันซะหน่อย และผมเชื่อว่าจะมีน้าบางคนตั้งคำถามว่าเหาฉลามกินได้หรือเปล่า? เอาเป็นว่าลองอ่านดูกัน ถ้าชอบก็อย่าลืมไปคอมเมนท์ แชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นได้อ่านกันนะ

ความแย่ของ “เหาฉลาม”

Advertisements

ขอเปิดเรื่องนี้ก่อนเลย เอาไว้ค่อยไปดูข้อมูลของมันที่หลัง 555+ “เหาฉลาม” จากชื่ออาจคิดกันว่า มันคงอยู่กับปลาฉลามเท่านั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะฉลาม เพราะมันเกาะติดปลาอะไรก็ได้ที่ตัวใหญ่ๆ รวมทั้งเต่าด้วย

เกาะกันแบบนี้ เต่าว่ายน้ำยากนะ

ด้วยนิสัยของปลาชนิดนี้ บอกเลยว่าเหาฉลามเกือบจะเป็น “ปรสิต” ที่เกาะตามสิ่งมีชีวิตในน้ำ แต่เหาฉลามดีกว่าหน่อยนึง เพราะมันไม่ได้ทำร้ายปลาที่มันติดตามโดยตรง “แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร” เช่นกัน ตรงกันข้าม พี่แกออกแนวฉกฉวยแหล่งอาหารด้วยซ้ำ

ด้วยความที่มันมีอุปกรณ์พิเศษที่คล้ายตัวดูดติดอยู่บนหัว มันจึงเป็นปลาที่ติดขี้เกรียจในเรื่องว่ายน้ำ เพราะเกาะปลาอื่นสบายกว่า แต่น้าๆ อย่าได้คิดว่าแค่มันมาเกาะคงไม่เป็นไร โปรดอย่าลืมว่าปลาใหญ่บางตัวอาจมีเหาฉลามมาเกาะเป็นสิบตัว และพวกมันก็เหมือนก้อนเนื้องอก ที่ทำให้การว่ายน้ำของปลาใหญ่ลำบากขึ้นด้วย ..ก็จบเรื่องแย่ของปลาชนิดนี้ไป

ปลาช่อนทะเลตอนที่ตัวไม่ค่อยโต ก็ชอบติดตามปลาใหญ่ เพียงแต่ต้องว่ายด้วยกำลังของตัวเอง
“รู้หรือไม่ ปลาช่อนทะเลและเหาฉลาม เหมือนกันมาก ทั้งรูปร่างและนิสัย โดยปลาช่อนทะเลเองก็ชอบตามติดปลาใหญ่เหมือนกัน เพียงแต่ลำบากกว่าเหาฉลาม เพราะไม่มีตัวดูดแปะอยู่บนหัวเหมือนเหาฉลาม”

ข้อมูลเกี่ยวกับปลาเหาฉลาม

ปลาเหาฉลาม หรือ ปลาเหา หรือ ปลาเหาทะเล หรือ ปลาติด (Shark sucker) เป็นปลาทะเลปลากระดูกแข็งในวงศ์ Echeneidae ในอันดับปลากะพง (Perciformes)

เป็นปลาที่มีลำตัวยาว หัวเรียวแหลม ดวงตาสามารถกลอกกลิ้งไปมาเพื่อชำลองมองได้โดยรอบ ด้านบนแบนราบมีอวัยวะที่ใช้สำหรับดูดติด ซึ่งพัฒนามาจากครีบหลัง มีจำนวน 22–27 ซี่ มีความยาวประมาณ 1 ใน 4 ของความยาวลำตัว คอดหางเล็กแต่แข็งแรงทำให้ว่ายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบว่ายน้ำเองเท่าไร

ส่วนหัวของเหาฉลาม
Advertisements

เป็นปลาที่มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดตามยาวลำตัว หลังและท้องมีสีเทาเข้มลักษณะคล้ายกับ “ปลาช่อนทะเล” ที่ชอบว่ายตามปลาขนาดใหญ่เช่นกัน ความแตกต่างของปลาสองชนิดนี้อยู่ตรงที่ด้านบนของหัว ปลาช่อนทะเลไม่มีอวัยวะสำหรับดูดติด โดยปลาเหาฉลามมีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร

แหล่งที่อยู่

พบแพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก จัดเป็นปลาเหาฉลามที่พบได้ง่าย และมีการแพร่กระจายกว้างที่สุด ในประเทศไทย พบได้ทั้งสองฝั่งทะเล แต่จะพบเห็นได้บ่อยบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน และกองหินลอเชลิว ซึ่งเป็นบริเวณที่พบปลาขนาดใหญ่ เช่น ฉลามวาฬ หรือกระเบนราหู ฝั่งอ่าวไทยพบบ้างบริเวณเกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี

กินได้หรือไม่?

Advertisements

ในไทยอาจไม่ค่อยเห็นคนเอามาทำเป็นอาหารเท่าไร แต่ญีปุ่นเอามาทำนะครับ ผมเองไม่แน่ใจว่ามีกี่เมนู แต่เท่าที่ค้นดูมีเอามากินดิบๆ เลย ซึ่งผมมีคลิปเอาให้ดูด้วย เกิดตกได้จะได้ลองทำดูกัน ที่ญีปุ่นเรียกเหาฉลามว่า コバンザメ โคบันซาเมะ หรือ เหาฉลาม ลองดูคลิปวิธีทำกัน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements