ปลาช่อน ปลาชะโด ไปถึงไต้หวันเมื่อไร?
ความจริงประวัติของปลาช่อนปลาชะโดในไต้หวันถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลปัจจุบัน แต่ไม่เป็นไร ผมไปขุดข้อมูลงานวิจัยเก่าๆ เมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน ซึ่งถูกเก็บไว้ใน Researchgate และใน NCBI ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ผมเริ่มต้นค้นหาจากคำถามที่ว่า “ปลาช่อน หรือ ชะโด เข้าไปในไต้หวันเมื่อไร?” …คำตอบที่ผมได้มาและพอที่จะสรุปได้คือ จริงๆ ปลาช่อน (Channa striata) หรือปลาช่อนนาบ้านเราเนียล่ะ เข้าไปในไต้หวันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ในตอนนั้นยังไม่มีการพูดถึงปลาชะโด
ส่วนสาเหตุที่ไม่พูดถึงปลาชะโด อาจเป็นกรณีคล้ายๆ กับ รายงานเก่าๆ ของอเมริกา ที่พวกเขาเหมารวมปลาในสกุลปลาช่อนทั้งหมด เป็นปลาชะโด ภายหลังจึงแก้ว่าจริงๆ ไม่ใช่ปลาชะโดที่เยอะในอเมริกา แล้วก็ไม่ใช่ปลาช่อนจากไทยด้วย แต่เป็นปลาช่อนเหนือต่างหาก!
และเพราะในตอนนั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับปลาไม่ได้หากันง่ายๆ แบบในตอนนี้ จึงเป็นไปได้ว่า ไต้หวันเองก็เหมารวมปลาในสกุลปลาช่อนทั้งหมดเป็นปลาช่อนนาจากไทย และในตอนนั้นปลาทั้งหมดก็ยังอยู่ในตลาดปลาสวยงาม แต่ไม่มีรายงานการพบปลาช่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ในขณะที่อีกรายงานหนึ่ง ในหัวข้อการค้าปลาต่างถิ่นในตลาดปลาสวยงามของไต้หวัน ที่ตีพิมพ์ใน ปี พ.ศ. 2548 หรือ เมื่อประมาณ 19 ปีก่อน ได้ระบุว่า พวกเขาพบปลาต่างถิ่น 293 ชนิด โดยแบ่งเป็น 48 วงศ์ และ วงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) ถือว่ามีมากที่สุด แต่ที่น่าแปลกคือ! ในปลา 293 ชนิด กลับไม่มีปลาช่อนหรือปลาชะโดเลย!
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? เพราะไม่พบจริงๆ หรือ ตกสำรวจ หรือเพราะไม่สำคัญ หรือ พ่อค้าเอาไปซ่อน? หรืออาจเป็นเพราะในตอนนั้นมีกฎหมายห้ามค้าขายปลาช่อน ซึ่งตัวผมเองก็ตอบไม่ได้
สำหรับรายงานการรวบรวมปลาช่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งพวกเขาจับปลาช่อนมาได้ 294 ตัว เป็นตัวเมีย 164 ตัว โดยปลามีความยาวระหว่าง 25 – 28 เซนติเมตร ปลาทั้งหมดมาจาก พื้นที่ชุ่มน้ำ คลองชลประทาน ลำธาร และอ่างเก็บน้ำทางตอนใต้ของไต้หวัน จากการตรวจสอบสิ่งที่ปลาพวกนี้กินลงไป ก็พบว่ามี หอยทาก แมลงปอ ปลาขนาดเล็ก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และ สัตว์เลื้อยคลาน
น่าเสียดายที่ไม่มีรายงานที่ชัดเจนที่กล่าวถึงช่วงเวลาที่ปลาชะโดเข้ามาที่ไต้หวัน แต่ก็มีบทความหนึ่งเขียนเอาไว้ว่าเป็นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เป็นชาวไต้หวันเองที่นำปลาชนิดนี้มาจากประเทศไทย โดยจะเอามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่พอเลี้ยงๆ ไป เกิดคิดว่าเป็นภาระ เลยเอาไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ
สรุปได้ว่า! แม้จะไม่มีการระบุปีที่แน่ชัด ปลาช่อน ปลาชะโด มาถึงไต้หวันเมื่อไร แต่ก็มีการระบุว่าเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน และมีการรวบรวมปลาช่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 …ในตอนนี้ถือว่ายังเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกรานในธรรมชาติ เพราะยังพบปลาช่อน ปลาชะโด ในแหล่งน้ำบางแห่งเท่านั้น
การจับปลาชะโด 7 พันตัว ภายใน 1 เดือน ในไต้หวัน
ต่อไปข้ามมาดูข้อมูลสมัยใหม่บ้าง เป็นเนื้อหาข่าวที่น่าจะเป็นข่าวใหญ่ครั้งแรกๆ ที่ทำให้โลกรู้ว่า ไต้หวันมีปลาชะโดเยอะมากๆ แถมยังระบุเอาไว้เลยว่าเป็นชะโดจากประเทศไทย!
โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566 หรือก็คือ ปีที่แล้วนั้นเอง ในรายงานระบุว่า ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน เป็นช่วงที่ฝนตกเยอะๆ ในทะเลสาบสุริยันจันทรา (Sun Moon Lake) ซึ่งมีขนาดประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร และเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีการจับปลาชะโดขนาดใหญ่ได้ถึง 7,000 ตัว โดยตัวใหญ่ที่สุด ยาวเกือบ 1 เมตร และหนัก 9 กิโลกรัม
การจับปลาชะโดขนาดใหญ่ได้มากขนาดนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์เป็นกังวัลเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่ทำอะไรที่มากกว่าการจับปลาพวกนี้ออกไปจากทะเลสาบ ในอนาคตปลาต่างถิ่นที่ดุร้ายเหล่านี้ จะทำให้ปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์ไปอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่เลยใช้วิธีที่รุนแรง ที่รับประกันได้ว่าจะจับทั้งพ่อแม่และลูกปลาชะโดมาได้ทั้งหมด ซึ่งก็คือ การช็อตด้วยไฟฟ้า …ซึ่งมันก็น่าจะได้ผล เพราะในตอนนี้ปลาชะโดยังถูกจำกัดอยู่ในแหล่งน้ำบ้างแหล่งของไต้หวันเท่านั้น
ในขณะที่ปลาช่อนไทยเอง ก็ถูกตามล่าในไต้หวันเช่นกัน ซึ่งตามรายงาน มีการจัดกิจกรรมเพื่อล่าปลาช่อนที่อยู่ในแหล่งน้ำของเมืองไถตง ซึ่งปลาช่อนขนาดใหญ่ที่สุดที่พวกเขาจับได้คือ 50 เซนติเมตร! และขนาดทั่วไปคือ 30 เซนติเมตร พวกมันตัวใหญ่ ดุร้าย โดยเฉพาะในช่วงที่พวกมันเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่จึงยืนยันว่า จะพยายามกำจัดพวกมันต่อไป