ปลาตะพากไทย 5 ชนิด กับปรากฏการณ์ปลากอง

ปลาตะพาก เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่หลายคนอาจจะคิดว่ามันมีอยู่เพียงชนิดเดียว และบางคนอาจคิดว่าเป็นปลาตะเพียนหรือบางชนิดก็คล้ายกับปลากระสูบ แต่ปลาตะพากบางชนิดจะมีพฤติกรรมการวางไข่ที่พิเศษ อย่างเช่นการว่ายทวนน้ำในระดับน้ำลึกแค่ 3 - 5 เซนติเมตร จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'ปลากอง' และว่ากันว่ามันชอบวางไข่ในวันพระอีกด้วย นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ปลากองคืออะไรและในอดีตเป็นเช่นไร?

Advertisements

อันนี้เป็นเรื่องราวที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ในอดีตผู้ใหญ่มักจะพูดถึง “ปลาเผื่อหรือปลาเล่น” ซึ่งหมายถึงปลาที่มากองซ้อนๆ กันอยู่ตามหาดแม่น้ำลำธาร และสุดท้ายปลาที่อยู่ด้านบนจะโดนแสงแดดจนแห้งตาย จนมีหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดน่านมีชื่อว่า “บ้านหาดปลาแห้ง” …หากไม่รู้เรื่องราวในอดีต เราคงจะคิดว่า หมู่บ้านนี้คงมีอาชีพตากปลาเป็นแน่แท้

ทั้งนี้อดีตพฤติกรรมปลากองมักจะเกิดขึ้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยปลาที่ขึ้นมากองจะเป็นปลาตะพากส้มหรือปลาปีกแดง …แต่เพราะถิ่นที่อยู่เดิมของปลาเหล่านี้มีความเสื่อมโทรม จึงทำให้ปรากฏการณ์ปลากองเกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ

จนปี พ.ศ. 2548 ได้มีโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นและมอบให้กับเครือข่ายชาวบ้านในจังหวัดที่ชื่อว่า “กลุ่มฮักเมืองน่าน”

จากนั้นก็นำไปปล่อยในแหล่งน้ำที่เหมาะสม โดยผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธีสืบชะตาแม่น้ำ” จนทำให้มีแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเกิดขึ้นในลำน้ำน่าน และลำน้ำสาขากว่า 150 จุด …และตั้งแต่นั้นมาปลาตะพากส้มหรือปลาปีกแดงก็เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ปรากฏการณ์ ‘ปลากอง’ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น …เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฝ่ายกั้นน้ำ

มีเรื่องประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ปลากอง ที่ว่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวันพระ แต่เพราะอะไร? จากการติดตามพฤติกรรมและเก็บสถิติการขึ้นมากองของปลาในปี พ.ศ. 2548 พบว่ามีปลามากองทั้งหมด 9 ครั้ง และปี พ.ศ. 2549 มีอีก 6 ครั้ง ซึ่ง 50% จะตรงกับวันพระไม่ว่าข้างขึ้นหรือข้างแรม อีก 50% จะคลาดเคลื่อนจากวันพระ 1-2 วัน โดยเฉพาะในวันมาฆบูชาจะเกิดขึ้นทุกปี และแต่ละจุดที่เกิดปลากอง มักจะเกิดในวันเดียวกัน

ประเด็นถัดมาในวันที่จะเกิดปลากองจะมีลางบอกเหตุ ดังนี้ หนึ่งคือเมฆบนท้องฟ้าจะมีลักษณะสีขาวหม่นซ้อนๆ กันอยู่คล้ายเกล็ดปลา และสองบรรดานกเค้าแมวจำนวนมากจะโฉบบินส่งเสียงร้อง กบเขียดจะรวมฝูงกันส่งเสียงร้องในตอนหัวค่ำ ซึ่งน่าจะเตรียมตัวมากินปลาและไข่ปลาที่จะมากองอยู่ตรงนั้น …ซึ่งประเด็นนี้ก็เหมือนความเชื่ออะนะ

และสำหรับในตอนนี้มีรายงานการพบปลากองในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน, อำเภคอุ้มผาง จังหวัดตาก และจุดที่สามารถเห็นปรากฏการณ์ปลากองได้ง่ายที่สุด ก็คงจะเป็นบริเวณแกงลานนกยูง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะในฤดูแล้งตามหาดทรายจะเห็นปลาตะพากว่ายกันเป็นฝูงใหญ่

แล้วสรุปว่าปรากฏการณ์ ‘ปลากอง’ จะเกิดขึ้นปีละกี่ครั้ง? …สำหรับคำถามนี้ เป็นเรื่องยากที่จะตอบ เพราะบางแหล่งข้อมูลก็ว่า ปีล่ะครั้ง บางแหล่งก็ปีละหลายครั้ง แถมวันเดือนก็ไมชัดเจน บางแหล่งมีให้ดูแต่ห้ามเข้า อะไรประมาณนี้ แต่เท่าที่จับใจความได้จากหลายแหล่งข้อมูลมารวมกัน ก็คือ ช่วงฤดูแล้ง ในคืนพระจันทร์เต็มซึ่งเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะได้เห็น

ปลาตะพากคืออะไร?

สำหรับในประเทศไทย จะมีปลาตะพากอยู่อย่างน้อย 5 ชนิด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสกุล Hypsibarbus (ฮีป-ซี-บาร์-บัส) โดยปลาตะพากจะมีความคล้ายกับปลาตะเพียนขาว แต่ปลาตะพากจะมีลำตัวที่ยาวกว่า มีครีบที่สีสวยกว่า ก้านครีบแข็งของคีบหลังจะมีขนาดใหญ่ละมีฟันเลื่อยซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน

ปลาตะพากเกือบทุกชนิด จะอาศัยอยู่ในแม่น้ำรวมถึงลำธารน้ำตกบนภูเขาหรือป่าดิบชื้น เป็นปลาที่ชอบน้ำสะอาดบริเวณที่น้ำถ่ายเทได้ดี สามารถหากินได้ในทุกระดับน้ำ กินได้ทั้งสัตว์และพืช และปลาตะพากก็เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากเป็นปลาที่รักสงบ จึงเลี้ยงรวมกับปลาที่ไม่ดุร้ายได้ทุกชนิด แต่ถึงอย่างงั้นก็ต้องมีตู้ที่ใหญ่และระบบกรองน้ำที่ดีด้วย … ต่อไปมาดูปลาตะพากแต่ละชนิดกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาตะพากส้ม – Hypsibarbus vernayi

ปลาตะพากส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus vernayi เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีหลายชื่อมาก และอาจไปทับกับปลาตะพากชนิดอื่นเช่น ปลาปีกแดง ปลาจาด ปลาปากหนวด เป็นต้น

ปลาตะพากส้ม – Hypsibarbus vernayi / cr. Nonn Panitvong

โดยปลาตะพากส้มจะมีลำตัวป้อมและหนากว่าปลาตะพากชนิดอื่น มีครีบท้องและครีบก้นสีส้ม ลำตัวจะมีเกล็ดสีเงิน จัดเป็นปลาอพยพที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบในลำธารขนาดใหญ่ และจะอพยพขึ้นไปที่ต้นน้ำเพื่อวางไข่ในบริเวณลำธารขนาดเล็ก เป็นปลาหลักที่ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ ‘ปลากอง’ ซึ่งโดยปกติจะเป็นช่วงฤดูแล้งในคืนพระจันทร์เต็มดวง แต่เพราะในยุคนี้มีการสร้างเขื่อนและฝ่าย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับวงจรชีวิตของปลาเหล่านี้

ชนิดที่ 2 – ปลาตะพากเหลือง – Hypsibarbus wetmorei

Advertisements

ปลาตะพากเหลือง หรือ ปลาปากคำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus wetmorei เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของปลาตะพากชนิดนี้คือ ครีบท้องและครีบก้นจะเป็นสีเหลืองทอง

ปลาตะพากเหลือง – Hypsibarbus wetmorei

เป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา มีพฤติกรรมการผสมพันธุ์แบบหมู่ พบในลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำแม่กลอง เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และเป็นปลาประจำจังหวัดกำแพงเพชร

ชนิดที่ 3 – ปลาปีกแดง – Hypsibarbus malcolmi

ปลาปีกแดง หรือ ปลาปากหนวด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus malcolmi ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่คล้ายกับปลาตะพากส้ม ตรงที่มีครีบท้องและครีบก้นสีแดงหรือส้มสด แต่ลำตัวจะเพียวยาวกว่า พบได้ในลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่เดียวกับปลาตะพากเหลือง แต่จะพบได้น้อยกว่า และจะพบปลาปีกแดงได้มากในลุ่มน้ำแม่กลองโดยเฉพาะบริเวณลำธารน้ำไหล

ปลาปีกแดง – Hypsibarbus malcolmi / cr. Nonn Panitvong
Advertisements

ชนิดที่ 4 – ปลาตะพากสาละวิน – Hypsibarbus salweenensis

ปลาตะพากสาละวิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus salweenensis มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีความคล้ายกับปลาตะเพียนขาวมากที่สุด แต่ลำตัวจะแบนข้างกว่า และมีก้านครีบหลังขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มวัยในบางฤดูกาล แก้มของปลาจะมีสีส้ม ครีบและหางจะเป็นสีเหลือง จัดเป็นปลาที่พบได้บ่อยในลุ่มน้ำสาละวิน

ปลาตะพากสาละวิน – Hypsibarbus salweenensis

ชนิดที่ 5 – ปลาตะพากใบไม้ – Hypsibarbus lagleri

Advertisements

ปลาตะพากใบไม้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus lagleri ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร จัดเป็นปลาตะพากขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบท้องและครีบก้นแหลมและโค้งไปทางด้านหลัง ครีบมีสีเหลืองอมส้ม หางมีขอบสีส้มเล็กน้อย ส่วนหัวมีขนาดเล็ก เกล็ดจะมีสีเงิน สำหรับปลาตะพากใบไม้ ถือเป็นปลาที่พบได้ค่อนข้างน้อย ปัจจุบันพบในลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำโขง เป็นปลาที่หากินตามแม่น้ำสายหลักและจะไม่พบในลำธาร

ปลาตะพากใบไม้ – Hypsibarbus lagleri / cr. Nonn Panitvong
Advertisements

เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง ปลาตะพากไทย 5 ชนิด กับปรากฏการณ์ ‘ปลากอง’และก็เป็นอย่างที่เห็นครับ ปลาตะพากในไทยก็มีอย่างน้อย 5 ชนิด แล้วก็ตัวไม่เล็กเท่าไร ส่วนเรื่องที่ว่ากินอร่อยหรือไม่ ผมก็ไม่เคยกิน แต่คิดว่าคงก้างเยอะเหมือนปลาตะเพียนนั้นละ หากใครเคยกินชนิดไหนก็มาเล่าให้ฟังกันบ้าง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements