ประวัติการพบ ‘นกแต้วแล้วท้องดำ’ นกที่กำลังนับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์

นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกที่สวยที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย มันสวยจนได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 30 นกสวยที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นนกที่หายากมากๆ อีกด้วย มันหายากซะจนเคยถูกจัดให้อยู่ในสถานะสูญพันธุ์ จนผ่านมาอีกหลายสิบปี กว่าจะมาเจอนกชนิดนี้อีกครั้งในประเทศไทย คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ ในตอนนี้นกแต้วแล้วท้องดำ ยังคงมีอยู่ในไทยหรือไม่? ..คำตอบคือมีแน่ แต่คงจะน้อยมากๆ และนี่คือ ประวัติการพบ 'นกแต้วแล้วท้องดำ' ...ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่ง หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ทำได้เช่นกัน

นกแต้วแล้วท้องดำ

นกแต้วแล้วท้องดำ คืออะไร?

Advertisements

นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไฮโดรนิส เกอนีย์ (Hydrornis gurneyi) เป็นนกในวงศ์นกแต้วแล้ว ที่มีอยู่ประมาณ 31 ชนิด โดยในประเทศไทยพบ 12 ชนิด

นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ และ บางส่วนในประเทศพม่า

นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) ตัวผู้

สำหรับนกแต้วแล้วท้องดำ จะมีรูปร่างที่อ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวจะยาวประมาณ 20 เซนติเมตร นกตัวผู้จะสีสวยกว่าตัวเมีย ซึ่งหัวจะมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบางๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ขณะที่ตัวเมีย กระหม่อมจะเป็นสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องจะเป็นสีขาว และมีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น

นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) ตัวเมีย

นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า “ท-รับ” แต่ถ้าตกใจนกร้องเสียง “แต้ว แต้ว” เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดัง “ฮุ ฮุ”

นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นนกที่ชอบหากินด้วยการกระโดดไปตามพื้น เพื่อมองหาแมลงกิน หรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย เป็นนกที่มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง …ทั้งนี้นกแต้วแล้วท้องดำ

บันทึกการพบครั้งแรก

สำหรับนกแต้วแล้วท้องดำ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2418 (1875) บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เขตประเทศพม่า โดยชื่อสามัญในภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ ตั้งขึ้นเป็นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น เฮนรี เกอนีย์ นายธนาคารและนักปักษีวิทยาสมัครเล่นชาวอังกฤษ ต่อมามีรายงานการพบเห็นนกแต้วแล้วท้องดำ เป็นครั้งสุดท้ายในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2457 (1914) แล้วก็ไม่พบอีกเลยนานกว่า 50 ปี จนพวกมันถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ (EX) โดย IUCN

บันทึกการพบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2529

ผ่านมา 70 ปี หลังรายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำครั้งสุดท้ายในประเทศพม่า …ในปี พ.ศ. 2529 (1986) นกแต้วแล้วท้องดำ ก็ถูกพบอีกครั้งในประเทศไทย โดย ด.ร. ฟิลลิปป์ ดี ราวน์ และ คุณอุทัย ตรีสุคนธ์ ซึ่งพบมากถึง 44 – 45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 ก็เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่ หรืออาจน้อยกว่านั้นมากๆ และเพราะการพบนกอีกครั้ง จึงทำให้สถานะของนกแต้วแล้วท้องดำ หลุดจากสถานะสูญพันธุ์ ขยับมาเป็นใกล้สูญพันธุ์ (EN)

บันทึกการค้นหานกในปี พ.ศ. 2559

Advertisements

นับตั้งแต่การค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำในพม่า นักปักษีวิทยาและนักอนุรักษ์จำนวนมาก เข้าใจว่านกชนิดนี้ยังคงมีประชากรหลงเหลืออยู่ในป่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่นำโดยนักวิจัยชาวพม่าและชาวไทย ซึ่งทำการสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม ปี พ.ศ. 2559 (2016) ในพื้นที่ 142 แห่ง จากทั้งหมด 147 แห่ง ที่เคยมีรายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำ พบว่ามีเพียง 41 แห่งเท่านั้น ที่ยังคงมีนกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่ในพม่า โดยพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือได้ถูกทำลายจากการตัดไม้ไปหมดแล้ว

สำหรับถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำคือป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีความชันไม่เกิน 10 องศา ในปี พ.ศ. 2542 พื้นที่ประเภทนี้ในพม่ามีอยู่ประมาณ 3,225 ตารางกิโลเมตร แต่ลดลงเหลือเพียง 656 ตารางกิโลเมตร หรือลดลงกว่า 80% ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี

ถึงแม้จะมีความพยายามในการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำในพม่า แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจากขาดเสถียรภาพในการทำงานระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ รวมไปถึงการบุกรุกป่าที่ราบต่ำเพื่อทำการเกษตร ด้วยเหตุนี้สถานภาพของนกแต้วแล้วท้องดำในพม่าจึงมีแนวโน้มที่ไม่ดีเอาซะเลย ….ในส่วนนี้หากต้องการอ่านรายงานงานวิจัยเพิ่มเติม สามารถกดดูได้ที่ลิงค์

ข่าวของนกแต้วแล้วท้องดำ ในปี พ.ศ. 2562

ดูเหมือนว่าข่าวการพบนกแต้วแล้วท้องดำ จะเป็นกระแสอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2562 จากเพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้รายงานสถานการณ์นกแต้วแล้วท้องดำในไทย ระบุว่า ยังไม่สูญพันธุ์จากป่าเมืองไทย ล่าสุดพบการตอบสนองถึง 2 จุดที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยของนกชนิดนี้

โดยจากการสำรวจ พร้อมกับเปิดเทปเสียง เพื่อฟังการตอบสนองต่อเสียงเทปของนกแต้วแล้วท้องดำ พบการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำ 2 จุด เป็นนกเพศเมีย 1 จุด และไม่ทราบเพศอีก 1 จุด นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบนกในกลุ่มของนกแต้วแล้วอีก 3 ชนิด คือ นกแต้วแร้วลาย นกแต้วแล้วธรรมดา และ นกแต้วแล้วอกเขียว

ในพื้นที่สำรวจซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ราบต่ำในพื้นที่ภาคใต้ ยังพบนกอีกหลายชนิดเช่น นกเงือกหัวหงอก นกกินแมลงหัวแดงใหญ่ นกขมิ้นหัวดำเล็ก เป็นต้น อีกทั้งในการเดินสำรวจในพื้นที่ ได้มีการประเมินสถานภาพของพื้นที่ถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ ก็พบว่ายังมีสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ …ส่วนสถานะล่าสุดของนกแต้วแล้วท้องดำในวันนี้ ขยับจากใกล้สูญพันธุ์ (EN) มาเป็นเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) โดยอ้างอิงจาก IUCN

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements