เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2019 เป็นนักวิจัยชาวฮังการีที่กำลังศึกษากระบวนการทางชีววิทยาของปลาฉลามปากเป็ดและปลาสเตอร์เจียน แต่แล้วพวกเขาลงเอยด้วยการสร้างลูกผสมระหว่างปลาฉลามปากเป็ดอเมริกา (American paddlefish) และปลาสเตอร์เจียนรัสเซีย (Russian sturgeon) และมันถูกเรียกว่าปลาสเตอร์เดิ้ลฟิช (Sturddlefish)
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการเกษตรแห่งชาติในฮังการี บังเอิญสร้างปลาชนิดใหม่ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ในบทความนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าพวกเขาไม่ได้พยายามสร้างปลาชนิดใหม่ แต่เพื่อจำลองกระบวนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์
“ในกระบวนการนี้ใช้สเปิร์มจากพ่อปลาฉลามปากเป็ดแทนสเปิร์มจากปลาสเตอร์เจียน เพื่อกระตุ้นไข่แม่ปลาสเตอร์เจียน แต่แล้วมันเกิดเรื่องไม่น่าเชื่อ เพราะมันดันให้กำเนิดลูกหลานออกมา แถมยังมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัยได้”
ฉลามปากเป็ดอเมริกา และปลาสเตอร์เจียนรัสเซีย เป็นปลาชนิดที่ต่างกัน มันไม่น่าเป็นไปได้ที่จะผสมจนเกิดลูกหลานได้ แต่หากคิดให้ลึกขึ้นปลาทั้งสองจัดเป็นปลาที่ถูกเรียกว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” พวกมันมีบรรพบุรุษร่วมซึ่งอาศัยอยู่ในยุคจูราสสิกตอนต้นประมาณ 184 ล้านปีก่อน แถมในช่วงเวลาที่ยาวนาน ปลาทั้งสองแทบไม่ได้เปลี่ยนไปจากตอนนั้น จึงเป็นไปได้ว่าพวกมันมีพันธุกรรมใกล้กันมากว่าที่เราคิด
ปัจจุบันปลาตัวอย่างแบบมีชีวิตยังถูกเลี้ยงดูอยู่ประมาณ 100 ตัวอย่าง ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ตัวอย่างที่คล้ายปลาฉลามปากเป็ด ตัวอย่างที่คล้ายปลาสเตอร์เจียนมากที่สุด และตัวอย่างที่มีพันธุกรรมของทั้งสองสายพันธุ์เท่ากัน
พวกมันทั้งหมดอาศัยอยู่ในกรงขังที่ห้องปฏิบัติการวิจัยในฮังการี และจะไม่รับการสร้างเพิ่มเติม เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สนับสนุนการสร้างลูกผสม มันมีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งผิดปกติและสัตว์ต้องทนทุกข์ทรมานสูง ..สุดท้ายนักวิจัยเน้นย้ำว่าพวกเราไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างพวกมันขึ้นมา