ตามที่วารสาร Scientific Reports ได้ลงไว้ ซากดึกดำบรรพ์พวกนี้เป็นของไดโนเสาร์ตระกูลสไปโนซอริดชนิดใหม่สองสายพันธุ์ ซึ่งพวกมันเป็นญาติกับนักล่าที่โด่งดังอย่างสไปโนซอรัส พวกมันมีความยาวมากถึง 6 เมตรและสูงถึงสองเมตรครึ่ง
นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อชนิดแรกว่า Creatosuchops inferodio แปลว่า “นกกระสาจากนรกที่มีหน้าเหมือนจระเข้” ได้ชื่อนี้เพราะพวกสไปโนซอริดนั้นหากินตามแหล่งน้ำเหมือนนกกระสา ส่วนอีกชนิด Riparovenator milnerae หมายถึง “นักล่าแห่งแม่น้ำของ Milner” ชื่อนี้ตั้งเป็นเกียรติให้กับ Angela Milner ผู้เชี่ยวชาญสไปโนซอริดแห่งอังกฤษ
กระดูกของทั้งสองชนิดพบในสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่มันก็เพิ่มความหลากหลายที่สำคัญให้พวกมัน มันยังอาจจะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพวกมันด้วย และยังช่วยเพิ่มความเข้าใจในการศึกษาพวกสไปโนซอริดในแอฟริกาอีกด้วย อย่างสไปโนซอรัสที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาเหนือเมื่อ 95 ล้านปีก่อน และฟอสซิลพวกนี้ยังเน้นย้ำว่า ยังมีไดโนเสาร์อีกหลายชนิดรอการค้นพบอยู่
ตามล่าสไปโนซอรัส
แม้จะเจอฟอสซิลมันมานานแล้ว แต่มักพบในสภาพไม่สมบูรณ์ กระดูกชุดแรกของสไปโนซอรัสถูกทำลายในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้การศึกษามันทำได้ยากมาก
ในปี 1986 นักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ Alan Charig และ Angela Milner ประกาศว่าแถบแนวหินของ Surrey ประเทศอังกฤษเป็นแหล่งขุดค้นฟอสซิลของพวกสไปโนซอริดที่สมบรูณ์มาก ซึ่งมีอายุระหว่าง 129 ถึง 125 ล้านปีก่อน สายพันธุ์นี้มีชื่อว่า Baryonyx เป็นการยืนยันว่าพวกสไปโนซอริดมีกระโหลกที่คล้ายกับจระเข้ มีกรงเล็บขนาดใหญ่ และคอเรียวยาว ปัจจุบัน Baryonyx ทำหน้าที่เป็นตัวยืนยันอ้างอิงให้พวกสไปโนซอริดหลายชนิดทั่วโลก เช่น สเปน บราซิล โมร็อกโก ไนเจอร์ ออสเตรเลีย ไทย และ ลาว
ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา แนวโขดหินทางใต้ของอังกฤษได้บ่งบอกว่า Baryonyx ไม่ใช่สไปโนซอริดเพียงกลุ่มเดียวที่อาศัยแถวนั้น สไปโนซอริดที่อยู่บริเวณอื่นอาจจะมีความแตกต่างเล็กน้อย
การอพยพที่แปลกประหลาด
สำหรับตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า Ceratosuchops และ Riparovenator อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับ Baryonyx หรือว่าคนละช่วงเวลา เนื่องจากกระดูกพวกนี้ตกลงมาจากหน้าผา ทำให้ตรวจสอบยาก การประมาณที่ดีสุดคือทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ระหว่าง 129 ถึง 125 ล้านปีก่อนในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ทำให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวในยุคโบราณ ยังได้มีการพบว่าพวกสปีชีส์ของสไปโนซอริดที่เก่าแก่สุดมาจากยุโรป ทำให้เป็นไปได้ว่าพวกสไปโนซอริดอาจจะอพยพลงไปยังแอฟริกาเป็นเวลาสองครั้ง ครั้งแรกทำให้เกิด Suchomimus ที่พบในไนเจอร์และครั้งที่สองทำให้เกิดเจ้ายักษ์อย่างสไปโนซอรัส
แต่เรื่องน่าแปลกอย่างหนึง มีการค้นพบซากของสไปโนซอริดในยุโรป เอเซีย อเมริกาใต้ แม้แต่ออสเตรเลีย แต่แปลกที่ไม่มีการค้นพบหลักฐานของพวกมันในอเมริกาเหนือ
การที่ไม่มีพวกสไปโนซอริดในอเมริกาเหนือทำให้ประหลาดใจมาก เพราะว่ามีไดโนเสาร์หลายชนิดที่อพยพมาจากเอเซียสู่อเมริกาเหนือ ทั้งพวกไดโนเสาร์มีเขา จนถึงจอมทรราชอย่างไทแรนโนซอร์ และสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและมีทะเลผ่านกลางก็เหมาะกับพวกมันมาก บางส่วนตั้งทฤษฏีว่าอาจจะเป็นเพราะว่าอเมริกาเหนือช่วงต้นยุคครีเทเชียสก็มีพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่จับจองอยู่แล้วก็เป็นได้
“ในตอนนี้อาจจะไม่มี แต่ขอแค่เพียงพบฟันเพียงซี่เดียวมันก็อาจจะกลับมาก็ได้”
กลับไปที่อังกฤษ งานเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ซากของสองตัวนี้มีส่วนของสมองด้วย ซึ่งหมายความว่าเราอาจจะรู้ข้อมูลรูปร่างของสมองมันก็เป็นไปได้ ส่วนฟอสซิลของทั้งสองชนิดจะถูกส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ Dinosaur Isle