ปลาชะโด Giant Snakehead

จริงๆ ก็เขียนเรื่องปลาชะโดมาหลายเรื่องอยู่ แต่ไม่เคยทำเป็นแบบวิชาการเก็บไว้เป็นข้อมูลในเว็บ Fishingthai.com เลย ก็งงเหมือนกันว่าทำไมไม่มีหว่า คงเพราะปลาชะโดเป็นปลาที่นักตกปลาชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสายตีเหยื่อปลอม ..สำหรับข้อมูลอ่านได้จากบทนี้ครับ

ปลาชะโด

ปลาชะโด (Gaint Snekhad)

Advertisements

ปลาชะโด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa micropeltes อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ มันมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตร หรืออาจถึง 1.5 เมตร น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม

มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว มีลายประสีดำกระจายทั่วตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กจะมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลและมีแถบสีดำ, ส้ม และเหลืองพาดตามความยาวลำตัว 2 แถบ บริเวณหางสีแดงสด เมื่อเริ่มโตขึ้นสีและลายจะเริ่มจางหายไป กลายเป็นสีเขียวอมน้ำตาลคล้ายสีของเปลือกหอยแมลงภู่แทน

โดยการที่สีของปลาเปลี่ยนไปตามวัยนี้ ปลาชะโดจึงมีชื่อเรียกต่างออกไปตามวัย เมื่อยังเป็นลูกปลาจะถูกเรียกว่า “ลูกครอก” หรือ “ชะโดป๊อก” เมื่อโตเต็มที่แล้วจะถูกเรียกว่า “ชะโดแมลงภู่” ตามสีของลำตัว หากสีดำจะเรียกว่า “ชะโดถ่าน”

นอกจากจะเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ยังมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อนอีกด้วย และยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกปลาชะโดกัดทำร้ายบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ฤดูผสมพันธุ์ของปลาชะโดจะมีขึ้นใน เดือนกรกฎาคม-กันยายน รังมีการตีแปลงใกล้ชายฝั่ง เรียกว่า “ชะโดตีแปลง”

เป็นปลาที่พบได้ทุกภาคของประเทศ และพบในประเทศใกล้เคียงเช่น มาเลเซีย, อินโดนีเชีย ตอนใต้ของจีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย

ปลาชะโดมีการเลี้ยงในกระชังตามแม่น้ำสายใหญ่เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, สะแกกรัง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์, เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี มักจะไม่นิยมบริโภคสด เพราะเนื้อจืด แข็ง คาว และมีก้างเยอะ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าปลาช่อน ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า หากจะบริโภคมักจะแปลงทำเป็นปลาเค็มและตากแห้งมากกว่า

นอกจากเป็นปลาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะลูกปลา พบมีขายในตลาดปลาสวยงามบ่อยๆ และมีราคาถูก

เนื่องจากชะโดเป็นปลาที่ทนทานมากๆ มันจึงเป็นปลาที่อาศัยได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทุกที่ในไทย และมันยังเป็นนักล่าที่อยู่จุดสูงสุด บางแหล่งน้ำจึงมีมากจนเกินไป และการมีอยู่ของชะโดจำนวนมาก จะทำให้ปลาภายในแหล่งน้ำนั้นน้อยลง จนถึงขนาดหมดไป

ตีปลาจิบ

ในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาเคยมีการทำเข้าปลาชะโด-ปลาช่อน เพื่อเลี้ยงดูเป็นปลาสวยงาม สุดท้ายหลุดไปแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นปลาอันตรายที่ห้ามเลี้ยงเด็ดขาด และยังต้องจัดงบประมาณจำนวนมากเพื่อทำลายมันอีกด้วย

อ่าน : ใช้เหยื่อปลอมอะไร ตกชะโดคอก
อ่าน : ตีปลาจิบ กับทฤษฎีลับ ตีกันยังไงให้ได้ตัว

Advertisements