มดไดโนเสาร์ มดเก่าแก่ที่สุดและใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

มดไดโนเสาร์ หรือ ไดโนซอรแอนด์ (Dinosaur ant) แค่ชื่อก็บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของมดชนิดนี้แล้ว โดยมดไดโนเสาร์จัดอยู่ในกลุ่มลาซารัสแท็กซอน (Lazarus Taxon) หรือก็คือ สิ่งมีชีวิตที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งหรือหลายช่วง จนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่! ภายหลังกลับมาพบว่ายังมีชีวิตอยู่ แม้จะมีน้อยมากๆ ก็ตาม ดังเช่น ปลาซีลาแคนท์ ก็อยู่ในกลุ่มลาซารัสแท็กซอน และในเรื่องนี้ผมจะมาพูดถึง “มดไดโนเสาร์” ซึ่งเป็นมดโบราณที่แปลกประหลาด

มดไดโนเสาร์ คืออะไร?

Advertisements

มดไดโนเสาร์ (Dinosaur ant) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โนโตไมร์มีเซีย มาคอพ (Nothomyrmecia macrops) เหตุที่ได้ชื่อนี้มา เพราะเป็น “ฟอสซิลที่มีชีวิต” และอาจเป็นตัวอย่างที่มีชีวิต ที่ใกล้เคียงมดยุคแรกมากที่สุด โดยมดไดโนเสาร์แยกออกมาจากบรรพบุรุษตัวต่อเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน

ตัวอย่างมดตัวผู้ที่มีปีก

มดไดโนเสาร์ถือว่าเป็นมดที่คล้ายตัวต่อมากที่สุดในสายพันธุ์มดทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นมดที่หายากมาก เป็นมดเฉพาะถิ่นที่พบในออสเตรเลีย พบในป่าดิบที่เก่าแก่และป่ายูคาลิปตัส ปัจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

มดไดโนเสาร์เป็นมดขนาดกลาง มีขนาด 9.5 – 11 มิลิเมตร เป็นมดที่สร้างอาณานิคมเหมือนกันมดอื่นๆ เพียงแต่ขนาดประชากรจะน้อยมาก ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดพบ 30 – 100 ตัวเท่านั้น มดไดโนเสาร์จะออกหากินตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า และแม้พวกมันจะไม่ออกจากรังหากอุณหภูมิสูงกว่า 5°C แต่! มดงานก็จะออกไปหากินตามลำพัง ในป่ายูคาลิปตัสใกล้ๆ โดยเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นแมลง

ตัวอย่างมดงาน

อย่างที่บอกมดไดโนเสาร์ถือเป็นมดโบราณ มันมีลักษณะคล้ายตัวต่อ มีหนวดและขาสีเหลือง มีตาขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่างสั้นกว่าศีรษะ ขนตามลำตัวสีเหลือง เป็นมดที่มีเหล็กในยาวและจะหดไปอยู่ที่ด้านหลังของช่องท้องได้ โดยเหล็กในสามารถสร้างความเจ็บปวดต่อมนุษย์ได้

ในอาณานิคมที่ตั้งใหม่ของมดไดโนเสาร์อาจมีราชินีมากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งราชนีจะลักษณะคล้ายมดงาน แถมยังออกหาอาหารเองเช่นเดียวกับมดงานด้วย แต่เมื่ออาณานิคมโตได้ที่ราชินีจะไม่ออกจากรังและจะเหลือราชินีตัวเดียวด้วย โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อาณานิคมมดไดโนเสาร์มีขนาดเล็ก อาจเป็นเพราะว่าราชินีจะผลิตมดเพียงรุ่นเดียวในแต่ละปี

ราชินีสองตัวกับไข่ในช่องเริ่มอาณานิคม
Advertisements

แต่ถึงจะวางไข่ครั้งเดียวในหนึ่งปี หากราชินีมดตายไป รังก็ไม่ได้ล่มไปด้วย เนื่องจากจะมีราชินีมดตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ทันที ด้วยวิธีนี้จะช่วยยืดอายุของอาณานิคมมดได้อย่างไม่มีกำหนด

การค้นพบ

ตามบันทึกมดไดโนเสาร์ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2474 (1931) ใกล้กับภูเขาแร็กเก็ต (Mount Ragged) ในออสเตรเลีย จากนั้นก็ไม่เคยพบอีกเลย แม้จะมีการสำรวจอยู่หลายครั้งแล้วก็ตาม จนในปี พ.ศ. 2520 (1977) …National Insect Collection ได้ออกสำรวจตั้งแต่แคนเบอร์รา (Canberra)โดยหวังที่จะพบอาณานิคมมดไดโนเสาร์อีกครั้ง

บริเวณที่เคยมีการพบมดไดโนเสาร์

วันหนึ่งทีมงานได้แวะพักค้างคืนที่เมืองพูเชรา (Poochera) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเซาท์ออสเตรเลีย (South Australia) และโดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาบังเอิญได้พบเข้ากับมดไดโนเสาร์จำนวนหนึ่ง มันเป็นการพบสิ่งที่ตามหามานาน แถมอยู่นอกพื้นที่เป้าหมายที่ห่างไกลกันเกือบ 1,300 กิโลเมตร …หลังจากนั้นอีกหลายปีก็มีการพบอีกแต่ก็น้อยมาก

สำหรับมดไดโนเสาร์ถูกอธิบายเป็นครั้งแรกโดยนักกีฏวิทยาชาวออสเตรเลีย จอห์น เอส. คลาร์ก (John S. Clark) ในปี พ.ศ. 2477 (1934) ซึ่งเป็นการอธิบายลักษณะจากตัวอย่างมดสองตัว ซึ่งคาดว่าเป็นมดที่รวบรวมมาจากอาณานิคมแรกที่พบในปี พ.ศ. 2474 (1931) และเพราะความหายาก ประกอบกับลักษณะเฉพาะตัวที่พิเศษ เลยทำให้นักกีฏวิทยาขนาดนามมดชนิดนี้ว่าเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์” ของการศึกษาเกี่ยวกับมด (Myrmecology)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements