หนูนินจา หรือ หนูกังฟู ในทางเทคนิคพวกมันก็คือ หนูจิงโจ้ (Kangaroo rat) ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 20 ชนิด แต่ชนิดที่กำลังพูดถึงคือ หนูจิงโจ้ทะเลทราย (desert kangaroo rat) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไดโพโดมี เดสเซิร์ทิ (Dipodomys deserti) เป็นสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก ความยาวรวมหางประมาณ 30 เซนติเมตร หนักประมาณ 90 กรัม
หนูจิงโจ้ทะเลทราย อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือรวมถึงหุบเขามรณะ ทะเลทรายโมฮาวี และบางส่วนของทะเลทรายโซโนรัน พบได้เฉพาะในพื้นที่ดินปนทราย อาศัยอยู่ในระบบโพรงใต้กองดินกว้าง 6 – 9 เมตร จุดเด่นของหนูชนิดนี้คือมีขาที่ยาว มันเป็นหนูที่กระโดดเก่ง และจากการศึกษาใหม่ ชี้ให้เห็นว่าขาเหล่านี้ ทำให้มันกลายเป็นหนูที่รวดเร็วราวกับสายฟ้า มันเร็วกว่าการฉกของงูหางกระดิ่งอย่างเห็นได้ชัด
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Functional Ecology นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานดิเอโก ได้วางกล้องความเร็วสูงไว้ในทะเลทราย โดยจุดมุ่งหมายของพวกเขาก็เพื่อค้นหาว่า หนูจิงโจ้หลบหนีเงื้อมมือจากงูหางกระดิ่งที่รวดเร็วไปได้อย่างไร?
สิ่งที่พวกเขาพบคือวิชากังฟูที่รวดเร็ว ซึ่งมีจังหวะและเวลาที่สมบูรณ์แบบ ปฏิกิริยาที่ฉับไว การดร็อปคิกที่สวยงาม มันทำได้แม้แต่ลังกาเกลียว และด้วยการเคลื่อนไหวนี้ทำให้หนูหลบคมเขี้ยวของงูได้ในพริบตา
ปฏิกิริยาตอบสนองที่เหลือเชื่อ
งูหางกระดิ่งที่เป็นคู่ปรับกลับหนูจิงโจ้ทะเลทราย คือก็ งูไซด์ไวน์เดอร์ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โครทาลัส เซเรสเทส (Crotalus cerastes) มันเป็นงูพิษที่ยาวได้ประมาณ 70 เซนติเมตร ออกหากินในเวลากลางคืน ด้วยการตรวจจับคลื่นอินฟาเรดจากความร้อนของตัวเหยื่อ เป็นงูโจมตีด้วยความเร็วสูง ในการโจมตีหนึ่งครั้ง มันใช้เวลาประมาณ 100 มิลลิวินาทีหรือน้อยกว่านั้น
หากสงสัยว่ามันเร็วแค่ไหนให้กระพริบตาหนึ่งครั้ง นั้นละอาจใช้เวลาประมาณ 150 มิลลิวินาที ..งูชนิดนี้โจมตีได้เร็วกว่ามนุษย์กระพริบตา แต่หนูนั้นทรงพลังกว่า เพราะมันสามารถตอบสนองได้ในเวลาเพียง 70 มิลลิวินาที ในช่องว่าง 30 มิลลิวินาที กลายเป็นความแตกต่างระหว่างชีวิตและความตายสำหรับหนู
ในกรณีที่หนูจิงโจ้ไม่สามารถตอบสนองได้เร็วพอ มันยังมีท่าไม้ตายซ่อนอยู่ในแขนเสื้อของพวกมัน และมันจะใช้หลังจากที่ปากงูถึงตัวแล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้มันรอดจากคมเขี้ยวได้ นั้นคือการใช้เท้าของมันเตะหัวงูออกไปแบบกังฟู ซึ่งอาจแตะหัวงูออกไปได้ไกลเป็นเมตร …มันแตะได้รุนแรงซะจนงูหัวทิ้มได้เลย
แต่ถึงอย่างงั้น นักล่าก็คือนักล่า เพราะหลังจากพยายามสัก 2 – 3 ครั้ง งูหางกระดิ่งจะสามารถโจมตีหนูได้สำเร็จ โดยจากการศึกษาที่เฝ้าติดตามมาหลายคืนกับตัวอย่างการโจมตีของงูหางกระดิ่ง 32 ครั้ง จากงู 13 ตัว พบว่างูโจมตีโดนตัวหนูน้อยกว่าครึ่ง หรือก็คือน้อยกว่า 15 ครั้ง แต่มีเพียง 7 ครั้งเท่านั้นที่งูปล่อยพิษและได้รับหนูมาเป็นอาหาร ด้วยเหตุนี้งูต้องใช้ความพยายามมากหน่อยหากจะกินหนูชนิดนี้