จิ้งเหลนด้วง หรือ แมงปากจอบ หรือ ปากจอบ (Worm skink, Legless lizard) เป็นชื่อสามัญของสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด หลายสกุล และหลายวงศ์ จำพวกจิ้งเหลนหรือกิ้งก่า
จิ้งเหลนด้วง มีรูปร่างโดยรวม คือ ลำตัวเป็นเกล็ดมันวาว ตัวอ้วนกลม มีจุดเด่น คือ ไม่มีขา หรือมีขาแต่ก็เล็กมาก ทำให้แลดูคล้ายงู จึงทำให้ต้องอาศัยและหากินเฉพาะบนพื้นดินเท่านั้น หลายชนิดมักจะฝังตัวหรือหลบซ่อนตัวใต้กองใบไม้หรือในโพรงพื้นดิน หลายชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย เช่น จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย (Davewakeum miriamae) ที่พบได้เฉพาะป่าสะแกราชเท่านั้น
จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย (ชนิดที่พบได้ในไทย)
จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย (Davewakeum miriamae) เป็นจิ้งเหลนขนาดเล็ก จากปลายปากถึงรูก้น 65 – 71 มิลลิเมตร และหางยาว 20 – 32 มิลลิเมตร) ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อน ถึงแม้จะบอกว่าพบได้ในไทย แต่มันก็ยากที่จะพบอยู่ดี โดยจิ้งเหลนชนิดนี้จะพบได้ที่ป่าสะแกราช ในประเทศไทยเท่านั้น
ประวัติการพบครั้งแรกของ “จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย” เป็นบริเวณด้านหลังของสถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาก็พบในบริเวณสถานีวิจัย หลายตัวเคยถูกพบบริเวณป่าตะเคียนหิน ในป่าดิบแล้งของป่าสะแกราช
การใช้ชีวิตของจิ้งเหลนด้วงปักธงชัย
พวกมันมักจะอยู่ใต้ดินเกือบจะตลอดเวลา ในหนึ่งวันจะขึ้นมาบนผิวดินไม่บ่อยนัก มันจะเลื้อยไปตามใบไม้แห้งบนพื้นป่าในเวลาเย็นและค่ำ ในธรรมชาติพวกมันจะซ่อนตัวอยู่ตามรอบโคนต้นตะเคียน และในช่องว่างของรากต้นไม้บางชนิดในป่าดิบแล้ง เช่น ต้นไทร มะค่าโมง
นิสัยของจิ้งเหลนด้วงปักธงชัย
ในช่วงฤดูแล้งชอบฝังตัวอยู่ลึกใต้ผิวดิน เคยพบอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร แต่ในฤดูฝนมักจะขึ้นมาอาศัยอยู่ในระดับ 1-10 เซ็นติเมตร และหากถูกรบกวนมันจะขุดลงลึกลงไปในดินอย่างรวดเร็ว
คาดว่าตัวเมียจะวางไข่ในฤดูหนาวช่วงเดือนมกราคม เพราะในธรรมชาติเคยพบตัวเมียโตเต็มวัย มีไข่ 2 ฟองในท้อง โดยไข่มีรูปร่างเรียวยาว ขนาดยาวประมาณ 15 มม. กว้าง 3 มม. จึงเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับสถานภาพของ “จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย” ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว ที่สามารถพบได้เฉพาะในป่าสะแกราชเท่านั้น และเนื่องจากพบเห็นได้ยากมาก เพราะมีนิสัยดำรงชีวิตอยู่ในดิน จึงไม่สามารถระบุจำนวนประชากรที่แน่ชัดได้ ต้องมีการเฝ้าระวังและศึกษาเพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป