‘ตุ๊กกายรุกขเทวา & คางคกห้วยกะเหรี่ยง’ ทีพบในไทย ได้รับการรับรองเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2021 มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ได้เปิดเผยเรื่องราวของ ตุ๊กกายรุกขเทวา และ คางคกห้วยกะเหรี่ยง ได้รับการรับรองว่าเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก

ตุ๊กกายรุกขเทวา คางคกห้วยกะเหรี่ยง

เมื่อปี 2018 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการพักค้างแรมในปา ขนเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จนไปพบสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าคือตัวอะไร และได้ถ่ายรูปเอาไว้

จนปี 2021 คณะวิจัยได้ร่วมมือกับนักวิจัยอาวุโส จากหลายประเทศ ทั้งไทย อเมริกา รัสเซียและเวียดนาม ได้จัดการสังคายนา “ตุ๊กกาย” กลุ่ม brevipalmatus หรือ ตุ๊กกายกลุ่มโคนนิ้วติดร่วมกัน และมีการตุ๊กกายกลุ่มโคนนิ้วติดชนิดใหม่จากประเทศไทยเพิ่มเข้าไปอีกชนิด ซึ่งก็คือ เจ้าของดวงตาบนต้นไม้ มีการรับรองแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2021

ตุ๊กกายรุกขเทวา

Advertisements

ตุ๊กกายรุกขเทวา (Cyrtodactylus rukhadeva) เป็นตุ๊กกายขนาดกลาง พบอาศัยในป่าดิบแล้ง จนถึงป่าดิบเขา เป็นชนิดที่หายาก มักซ่อนตัวตามโพรงไม้ หรือซอกเปลือกไม้ อีกทั้งยังมีนิสัยชอบอยู่บนต้นไม้สูง ตั้งแต่ 2 -8 เมตรขึ้นไป

สีสันเรียบๆ มีลายแต้มบ้างตามตัว หางมีลายบั้งๆ และ ชอบม้วนหาง อันเป็นเอกลักษณ์ ประจำกลุ่มนี้ (กลุ่มตุ๊กกายโคนนิ้วติด) หากดูผิวเผินบางคนอาจจะบอกว่าแทบไม่ต่างกับจิ้งจกตามบ้านก็ได้

ชื่อ “รุกขเทวา” มาจากคำบาลี ที่แปลว่าเทวาดาผู้สิงสถิตในต้นไม้ หรือจะบอกว่า ผีสางก็ไม่แปลก ต้นเหตุและจินตนาการมาจากการที่ชนิดนี้ชอบแนบอิง ไปกับต้นไม้ใหญ่ และมักหายวับไปอย่างรวดเร็วเมื่อมองหา (คนหาอาจจะตาไม่ดี) แต่อย่างไรก็ตาม จะ เทวดา รึ ผีป่า ตุ๊กกายชนิดนี้ก็เป็นชนิดเฉพาะถิ่น และพบได้แค่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งอาจพบได้ในพม่าเช่นกัน หากมีการสำรวจเพิ่มเติมในอนาคต

อ่านรายละเอียดงานวิจัยตุ๊กกายรุกขเทวา (ภาษาอังกฤษ)
อ่านรายละเอียดงานวิจัยคางคกห้วยกะเหรี่ยง (ภาษาอังกฤษ)

คางคกห้วยกะเหรี่ยง

คางคกห้วยกะเหรี่ยง (Ansonia karen) ชื่อมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ที่ตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของพม่า และ กินบริเวณเข้ามาในเขตจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี หากจะถามว่าอะไรดลใจ? คงเป็นสีสันสวยสดใส คล้ายลายแต้มของชุดกะเหรี่ยง

Advertisements
คางคกชนิดนี้ ปัจจุบันเป็นชนิดที่พบเฉพาะจังหวัดราชบุรี ในบริเวณป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา อาจจะพบในป่าแก่งกระจานได้ หากมีการสำรวจอย่างละเอียด จะมีคู่แฝดของชนิดนี้คือ Ansonia thinthinae ซึ่งพบในพม่า ใกล้กับการกระจายของ คางคกห้วยกะเหรี่ยงนี่เหลือเกิน แต่จากการตรวจสอบ ด้วยลักษณะภายนอกและ พันธุกรรม ทำให้คางคกจากสวนผึ้งต่างชัดเจน อย่างไม่มีข้อสงสัย มีการรับรองเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2021

การประกาศว่าตุ๊กกายรุกขเทวาและคางคกห้วยกะเหรี่ยง เป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกมีขึ้นหลังจากนักวิจัยทำการตรวจดีเอ็นเอ และลักษณะภายนอก จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พวกมันมีดีเอ็นเอไม่ซ้ำกับสัตว์ใดๆ ที่เคยพบในโลกนี้มาก่อน และมีการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในแวดวงนักวิจัยสัตว์ป่าสากลอย่างเป็นทางการเรียบร้อย

เล่าเรื่องโดย ปริญญา ภวังคะนันทน์ Parinya Herp Pawangkhanant

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มามูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์