ถ้าจำไม่ผิดกุ้งธรรมดาๆ อย่าง “กุ้งก้ามแดง” พ่อแม่พันธุ์ยังถีบราคาไปคู่ละ 1 – 2 พันบาทเลย ส่วนชนิดที่แพงระยับแบบจะปั่นกันให้ตายไปเลยก็คือ “กุ้งโกส” ที่เคยมีประวัติซื้อขายหรือปั่นไปเป็นตัวละเป็นล้านบาท! แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นก็ต้องมีคนจำนวนมากที่เห็นโอกาสทำเงิน ก็เลยลงเงินไปกับกุ้งพวกนี้ บางคนก็ได้กำไร บางคนก็น่าจะขาดทุนยับ
ส่วนตัวผมเองบอกเลยว่าเคยลงเงินไปกับเรื่องนี้เช่น แม้จะเข้ามาช้าชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ผมยังดีที่ปล่อยกุ้งออกไปเกือบหมดก่อนที่ตลาดวาย ก็ถือว่ายังดีที่ได้กำไรมานิดหน่อย ส่วนใครที่ขาดทุนยับก็ขอแสดงความเสียใจด้วย …เอาล่ะต่อไปเป็นเรื่องราวของ “กุ้งก้ามแดง” ในประเทศไทย
การมาถึงไทยของกุ้งเครย์ฟิช
เริ่มแรกในปี พ.ศ. 2530 กุ้งเครย์ฟิชถูกนำเข้ามาโดยภาคเอกชน ซึ่งเป็นกุ้งเครย์ฟิชสายพันธุ์ Procambarus clarkii (โพรแคมบารัส คลาร์กี้) หรือก็คือกุ้งแดง (Red swamp crawfish) มันเป็นกุ้งเครย์ฟิชสีแดงที่มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกและทางตอนใต้ของอเมริกา โดยในตอนนั้นถูกเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์น้ำสวยงามและเป็นอาหารแต่ก็ไม่ได้นิยมกินกันเท่าไร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 มีการตรวจพบกุ้งเครย์ฟิชในสกุล Cherax (เชอแร็กซ์) ในประเทศไทยมากถึง 37 ชนิด โดยทั้งหมดถูกนำเข้ามาโดยภาคเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 โครงการหลวงก็ได้นำเข้ากุ้งก้ามแดงสายพันธุ์ Cherax quadricarinatus (เชอแร็กซ์ ควอดริคารินาทัส) ซึ่งเป็นกุ้งในวงศ์เครย์ฟิชออสเตรเลีย (Parastacidae) โดยกุ้งในวงศ์นี้มี กุ้งน้ำจืดยักษ์แทสเมเนีย (Tasmanian giant freshwater crayfish) ซึ่งเป็นกุ้งเครย์ฟิชขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรวมอยู่ด้วย
หลังจากกุ้งก้ามแดงเข้ามาในประเทศไทย มันก็ถูกนำไปทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงจนมีขนาด 2 นิ้ว จากนั้นจึงถูกย้ายไปเลี้ยงในนาข้าวที่โครงการหลวง บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็พบว่าเป็นกุ้งที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศเมืองไทยและยังโตได้ดีอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากคนไทยไม่นิยมกินกุ้งชนิดนี้ ตลาดหลักจึงส่งให้ภัตตาคารต่างๆ แน่นอนว่าไม่สามารถหาซื้อได้ในตลาดแถวบ้าน
ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2559 ความนิยมมาถึงขีดสุด!
คงต้องบอกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2558 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2559 ถือเป็นยุคทองของกุ้งเครย์ฟิชเลยก็ว่าได้ แต่บอกตรงๆ ว่า ผมเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่ามันไม่ใช่การเลี้ยงที่ยั่งยืน มันเป็นการเก็งกำไรต่างหาก แน่นอนว่าผมก็ลงไปเล่นกับเขาด้วย กุ้งเครย์ฟิชในตอนนั้นราคาแพงขึ้นเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะ “กุ้งก้ามแดง” และ “กุ้งโกส” ที่ไม่ว่าบ้านไหนก็เลี้ยง บางคนถึงขนาดเช่าตึกแถวเพื่อวางกะละมังสำหรับเลี้ยงกุ้งพวกนี้เลยทีเดียว
หากพูดถึงราคาแพงต่อตัวคงต้องยกให้กับสายพันธุ์ Procambarus clarkii ghost (โพรแคมบารัส คลาร์กี้ โกส) หรือที่บ้านเราเรียกกุ้งโกส เพราะในปี พ.ศ. 2558 กุ้งโกสขนาดลงเดิน มีราคาตัวละร้อยกว่าบาท และช่วงพีคราคากระโดดไปที่ตัวละหกหรือเจ็ดร้อยบาท ส่วนโตแบบสวยๆ ขี้หมูขี้หมาก็หลักพันหลักหมื่น และปั่นกันไปจนตัวเป็นล้านก็มี และแน่นอนว่าลูกๆ ของกุ้งค่าตัวแพงเหล่านี้ ก็จะแพงกว่าปกติเช่นกัน
ในกรณีของกุ้งก้ามแดง ในช่วงปี พ.ศ. 2558 ถือว่ามีความต้องการที่สูงมากๆ สูงจนทะลุเพดานเลยทีเดียว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลี้ยงให้เป็นกุ้งเนื้อ
ในช่วงเวลานั้นมีเกษตรกรจริงและเกษตรกรสมัครเล่นหน้าใหม่มากมาย แห่กันมาซื้อพ่อแม่พันธุ์ โดยหวังจะเพาะเลี้ยงเพื่อขายลูกพันธุ์กุ้งก้ามแดง จนพ่อแม่พันธุ์ขาดตลาด ก็เปลี่ยนมาซื้อลูกพันธุ์กันอีก ต่อมาไม่นานลูกกุ้งก็ราคาทะยานขึ้นไปอีก
ถ้าจำไม่ผิดผมเคยซื้อลูกกุ้งก้ามแดงขนาดลงเดิน ตัวเกือบสิบบาท ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าแพงชิบ แต่ก็คิดบวกว่าเราจะมีลูกกุ้งขายแบบคนอื่นในเร็ววัน แล้วก็คิดลบว่ามันก็คงมีอีกเป็นแสนคนที่คิดแบบเรา
ถ้าจำไม่ผิดราคาพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามแดงขนาด 5 – 6 นิ้ว ราคาเคยไปถึงคู่ละ 3 พันบาท จากนั้นราคาของมันก็ลงมาเรื่อยๆ ลงมาเรื่อยๆ ลงมาเรื่อยๆ ขายยากขึ้นๆ และขายยากขึ้น นั้นเพราะมันมาถึงจุดที่มีแต่คนเลี้ยง ไม่มีคนซื้อ ใครๆ กุ้งพร้อมจะปล่อย กันทั้งนั้น
จนในปี พ.ศ. 2560 ราคาพ่อแม่พันธุ์กุ้งก็ลดลงอย่างมาก จนมาเหลือไม่กี่ร้อยบาทต่อคู่ และก็ลดลงไปอีกตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งสุดท้ายก็ขายยากอยู่ดี จนในที่สุดตลาดก็วายโดยสมบรูณ์ และเมื่อไม่ได้เลี้ยงเพราะชอบกุ้งชนิดนี้ เมื่อขายไม่ออก มันก็ไม่มีค่าอะไร สุดท้ายก็เริ่มปล่อยกุ้งพวกนี้ทิ้งลงคลอง จนกลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์รุกรานที่พบได้ในไทย
แล้วตอนนี้กุ้งก้ามแดงเป็นเช่นไร?
ในตลาดกุ้งเนื้อ ถือว่ายังไม่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เราอาจจะได้เจอกับกุ้งพวกนี้ที่มีขนาดประมาณ 13 – 18 ตัวต่อกิโลกรัมในห้าง ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 500 – 700 บาท แต่อย่างเพิ่งฝันกลางวันว่ามันราคาดีแล้วจะไปเลี้ยง ต้องมาดูการส่งออกของกุ้งชนิดนี้ มูลค่าตลาดน้อยกว่าปลาซักเกอร์ซะอีก
โดยข้อมูลจากกลุ่มเศรษฐกิจการประมง กองนโยบายและยุทธศาสตร์การประมง ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยส่งออกกุ้งเครย์ฟิชไปประมาณ 145,508 ตัว ได้เงินมา 2,385,987 บาท โดยเป็นกุ้งเครย์ฟิชสายพันธุ์ Procambarus clarkii (โพรแคมบารัส คลาร์กี้) หรือก็คือกุ้งแดง 63.1% ในขณะที่เป็นกุ้งก้ามแดง 36.9%
จนในปี พ.ศ. 2560 ในช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน เราส่งออกกุ้งพวกนี้ไป 73,299 ตัว ได้เงินมา 1,174,819 บาท จะเห็นได้ว่าตลาดกุ้งก้ามแดงไม่ได้สดใสอย่างที่วาดฝันไว้
แม้แต่ในตอนนี้ในตลาดบ้านเราก็ยังไม่นิยมกินกุ้งชนิดนี้อยู่ดี ส่วนตลาดปลาสวยงามก็คงกลับคืนสู่ปกติ เท่าที่เดินดูในตลาดเจเจ ราคาตัวละไม่กี่บาท และคงจะขายได้เรื่อยๆ …สรุปคือควรจะเลี้ยงตอนนี้หรือไม่ก็คงต้องตัดสินใจกันดู
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกุ้งก้ามแดง
กุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งเรนโบว์ (Australian red claw crayfish, Redclaw) ชื่อวิทยาศาสตร์ (Cherax quadricarinatus) เป็นกุ้งน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์เครย์ฟิชออสเตรเลีย (Parastacidae) เป็นกุ้งที่มีสีสันค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่สีฟ้า, น้ำเงิน, น้ำเงินอมเขียว, น้ำตาลอมเขียว, สีเขียวหยก ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเด่น คือ มีก้ามที่เรียวยาว ไม่มีหนาม และมีแถบสีแดงที่ก้าม แต่หากยังไม่โตเต็มวัยก้ามจะเป็นสีน้ำเงิน มีความยาวเต็มที่ตั้งแต่ประมาณ 8 – 12 นิ้ว ไม่รวมก้าม
เป็นกุ้งที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในประเทศออสเตรเลีย โดยจะหลบซ่อนอยู่ตามโขดหิน, ขอนไม้ หรือวัสดุต่างใต้น้ำ
เป็นกุ้งที่ได้รับความนิยมอย่างในการเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์เพื่อการบริโภคเป็นอาหารทั้งในประเทศออสเตรเลียและประเทศจีน ต่อมาได้มีการเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาเหมือนปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์จนมีสีสันสวยงามกว่าสีดั้งเดิมในธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น และในหลายประเทศได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการรุกรานสิ่งแวดล้อมทางน้ำของประเทศนั้นๆ ด้วย
ต่อไปขอสรุปเรื่องนี้เล็กน้อย ..สำหรับกุ้งเครย์ฟิช ไม่ว่าจะเป็นก้ามแดงหรือชนิดอื่น หากถามว่ามันมีเยอะในธรรมชาติประเทศไทยหรือยัง? ก็คงต้องบอกว่า ตอนนี้พบเห็นหรือจับกันได้บ้างแล้ว อย่างน้อยน้องที่ผมรู้จักก็ตกได้หลายครั้ง แต่ก็คงพบได้บางพื้นที่นั้นล่ะ และอีกอย่างถ้าขึ้นชื่อว่ากุ้ง เดี๋ยวมันก็คงถูกกินอยู่ดี คงไม่ถึงกับระบาดจนน่าสะพรึงกลัวแบบปลาซักเกอร์ได้
แต่ถึงอย่างงั้นหากคุณเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่น ก็ไม่ควรปล่อยพวกมันเข้าสู่ธรรมชาติ ถ้าไม่อยากเลี้ยงต่อก็ให้คนอื่น หรือไม่ก็ทำลายมันทิ้งไปเลย แต่จะว่าไปกรณีของกุ้งก้ามแดง ก็ทำให้นึกถึงกล้วยด่างที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งปั่นกันไปต้นละล้านหรือเอาที่ดินมาแลก…ไม่เคยจำกันจริงๆ