จริงหรือไม่ที่ ‘ปลาเทพา’ สูญพันธุ์ไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว

พอดีผมได้ไปอ่านงานเขียนของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ในเพจหนังสือปลาน้ำจืดไทย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปลาเทพา ซึ่งน่าสนใจมาก เลยเอามาเรียบเรียงใหม่ ประกอบกับสิ่งที่ผมรู้ โดยปลาเทพาถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และหากบอกว่าปลาเทพาได้สูญพันธุ์ไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายสิบปีแล้ว หลายคนก็คงจะหัวเราะเยาะ นั้นเพราะทุกวันนี้ปลาชนิดนี้ยังมีคนตกได้ในแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงแหล่งน้ำอื่นๆ แต่ต้องบอกว่าปลาที่คุณเห็นทั้งหมด 100% เป็นปลาปล่อย ...ด้วยเหตุนี้ปลาเทพาจึงนับว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว จะมีเหลือก็เพียงเล็กน้อยในแม่น้ำโขงฝั่งลาว ซึ่งก็หายากไม่ต่างจากปลาบึกแท้เลย ...และต่อไปนี้คือเรื่องราวของปลาเทพา

ปลาเทพาคืออะไร?

Advertisements

ปลาเทพาเป็นหนึ่งในปลาที่ผมตกได้ค่อนข้างบ่อย จากการเฝ้าสังเกตุดูผมพบว่า ปลาชนิดนี้ชอบล่าเหยื่อเป็นฝูงคล้ายฝูงหมาป่า มันชอบอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ มันมีขนาดใกล้เคียงกับปลาบึก ในเรื่องกำลังถือว่ายังน้อยกว่าปลาบึก แต่เทพาจะเร็วกว่า ในขณะที่ปลาบึกเมื่อโตขึ้นจะไม่มีฟันเลย แต่เทพาจะมีฟันที่แหลมคมขนาดเล็กแปะอยู่ที่ปาก คล้ายเทปหนามเตย ซึ่งฟันของมันไม่ได้เอาไว้ฉีกเหยื่อแต่เพื่อล็อคเหยื่อมากกว่า

โดยปกติปลาเทพาเป็นปลากินซาก แต่มันก็เป็นปลาที่ล่าสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย และวิธีการกินของมันคือการกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว ด้วยเหตุนี้บางทีมันก็ตายเพราะเหยื่อที่มันกิน อย่างในภาพที่ได้มาจากเพจหนังสือปลาน้ำจืดไทย และกลุ่มภาพเก่าในอดีต ซึ่งเป็นปลาเทพาแท้ ขนาดไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ก็ตายเพราะกินเม่นเข้าไปทั้งตัว มันเป็นเทพาในแม่น้ำโขงฝั่งลาว กับอีกภาพตายเพราะกินปลาแรดตัวใหญ่เกินไปหน่อย

เทพาขนาดใหญ่ กินเม่นเข้าไป / cr.หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาเทพา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chao Phraya Catfish นี่แสดงให้เห็นว่าปลาชนิดนี้มีถิ่นกำนิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตปลาเทพาเคยถูกฝรั่งเรียกว่า Dog-eating catfish นั้นเพราะมีรายงานเขียนว่ามันชอบกินหมาลอยน้ำ ซึ่งความจริงอะไรเข้าปากมันได้ ปลาชนิดนี้มันก็กินได้หมดนั้นล่ะ

ปลาเทพาถูกพบครั้งแรกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ซึ่งท่านได้สังเกตเห็นปลาชนิดนี้และคิดว่ามันน่าจะเป็นปลาชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการอธิบาย ซึ่งหลวงมัศยจิตรการ ได้บรรยายเอาไว้ว่า “ท่านเป็นผู้สนใจในเรื่องพรรณปลาของประเทศสยาม และท่านผู้นี้ที่เป็นผู้แนะนำให้ ดร.สมิท สังเกตถึงลักษณะของปลาเทพา ที่แตกต่างจากปลาเทโพและปลาอื่นๆ ที่คล้ายกัน ทั้งเป็นผู้ที่ได้นำปลาชนิดนี้มาให้แก่ ดร.สมิทเป็นครั้งแรก” … ด้วยเหตุนี้ ดร. สมิท จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพาว่า แพนกาเซีย สนิทวงศ์เซย์ (Pangasius sanitwongsei)

ลักษณะของปลาเทพาคือ มีหน้าตาคล้ายกับสวาย แต่ตัวใหญ่กว่าและยังเป็นปลานักล่าที่รวดเร็ว มันเป็นปลาที่มีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ซึ่งรวมถึงปลาบึกด้วย ปลาเทพาที่พบในยุคนี้จะมีรูปร่างป้อมกว่าเทพาธรรมชาติแท้ ที่ปลายก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอกและครีบท้องจะยื่นเป็นเส้นยาว เมื่อว่ายอยู่ผิวน้ำจะเป็นครีบหลังอย่างชัดเจน

จริงหรือไม่ที่ปลาเทพาสูญพันธุ์ไปจากเจ้าพระยา

ปลาเทพามีฉายาว่า “เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในสมัยก่อนเคยพบปลาเทพาในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยาวถึง 3 เมตร แต่ปลาขนาดใหญ่ก็เริ่มหายากมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนแล้ว โดย ดร.สมิท เคยเขียนไว้ว่าได้เห็นปลาขนาด 2.5 เมตร ด้วยตาตัวเอง

ส่วนปลาเทพาขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกจับได้ในยุคปัจจุบันคือ 223 กิโลกรัม ถูกจับได้เมื่อ 5 ปีก่อน ในแม่น้ำโขง บริเวณ นครปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

cr.หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ในอดีตปลาเทพา พบได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ในกรุงเทพฯ ไปจนถึงปากน้ำโพ ส่วนในแม่น้ำปิงมีรายงานพบถึงจังหวัดตาก แต่ในปัจจุบันปลาเทพา สูญพันธุ์ไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งน่าจะสูญพันธุ์มาแล้วอย่างน้อย 40 ปี

ปลาเทพาในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นปลาที่เกิดจากการผสมเทียมแล้วปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และปลากว่าครึ่งก็มีลักษณะต่างจากเดิม เช่นลำตัวป้อมสั้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลจากความพยายามในการทำให้ปลาเทพากลายเป็นปลาเลี้ยงสวยงาม

สรุปคือ ในตอนนี้ปลาเทพาสามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยการผสมเทียม ทำให้มีปลาเทพาขนาดเล็กสำหรับส่งออกไปขายเป็นปลาเลี้ยงเกือบทั่วโลก และยังเป็นปลาที่นิยมนำไปปล่อยไว้ในบ่อตกปลาเพื่อใช้เป็นปลาเกมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ปลาเทพาจึงไม่น่าจะไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก แต่ในธรรมชาติพวกอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ และหากนับเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถือว่าปลาเทพาสูญพันธุ์ไปแล้ว

รู้หรือไม่ ปลาเทพา ปลาสวาย ปลาบึก ไม่ได้อยู่สกุลเดียวกัน

เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า ปลาที่หน้าตาคล้ายปลาสวายอยู่ในสกุลเดียวกันหมด ปลาบึก และ ปลาสวาย อยู่ในสกุล แพนกาเซียโนดอน (Pangasianodon) …ซึ่งในประเทศมีปลาเพียง 2 ชนิด ที่อยู่ในสกุลนี้ ..โดยปลาบึกถือว่า เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ในขณะที่ ปลาสวาย ถือว่าใกล้สูญพันธุ์ นั้นเพราะปลาพวกนี้ 99.9% เป็นปลาผสมเทียมและปล่อยทั้งหมด

ในขณะที่ปลาเทพา อยู่ในสกุล แพนกาเซีย (Pangasius) โดยปลาในสกุลนี้มีประมาณ 22 ชนิดทั่วโลก แต่จะพบได้ในไทย 9 ชนิด คือ ปลาเผาะ, ปลาสายยู, ปลาเทโพ, ปลายาว, ปลาสังกะวาด ปลาสังกะวาดเหลือง ปลาซวยน้ำโขง ปลาสวายสาละวิน และ ปลาเทพา

สำหรับปลา 10 ชนิดที่กล่าวมาทั้งหมด ถือว่าเป็นปลาน้ำจืดที่พบได้ในประเทศไทย บางชนิดไม่พบในประเทศอื่น ปลาชนิดก็พบได้ในประเทศเพื่อบ้านของเราเช่นกัน

สุดท้าย! ปลาที่มีชื่อเสียงระดับโลก คงหนีไม้พ้น ปลาบึก ปลากระโห้ ปลาเทพา และปลากระเบนราหูน้ำจืด ซึ่งถือเป็นสุดยอดปลาน้ำจืดที่นักตกปลาทั่วโลก อยากจะเดินทางมาไทยเพื่อตกพวกมัน แต่น่าเสียดาย ปลาทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมา หายากมากๆ แล้วในธรรมชาติ ที่พอจะตกได้คงมีแค่ปลาบึกและปลากระโห้ ปลาเทพา ที่อยู่ในฟิชชิ่งปาร์คเท่านั้น ส่วนปลากระเบนราหูน้ำจืดจะไม่ได้รับอนุญาติให้ตก ยกเว้นคุณจะยอมทำผิดกฎหมายเพื่อตกมัน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements