ปลาเทโพ กับ แกงเทโพ อะไรเกิดก่อนกัน

เรื่องนี้ไม่เหมือนไข่กับไก่อะไรเกิดก่อน แต่เป็นแกงเทโพชื่อนี้มีแต่ความอร่อย มันอร่อยจนถึงขนาดที่ไปปรากฎบนพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงปี พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2367 นี่แสดงให้เห็นว่า "แกงเทโพ" มีมาอย่างน้อย 200 ปี แล้วปลาเทโพ? มีการบันทึกไว้หรือไม่ว่าถูกค้นพบหรือตั้งชื่ออะไรยังไงและเมื่อไร ในบทนี่ผมเอามาให้อ่านเป็นความรู้รอบตัว อาจไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และถ้าชอบอย่าลืมแชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นได้อ่านกันนะ

“แกงเทโพคือชื่ออาหารของไทย เทโพเป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง พบได้ในไทยเช่นเดียวกัน และเนื่องจาก ปลาเทโพที่ท้องปลามีมันมาก นำมาปรุงเป็นแกงเทโพแล้วจะทำให้อร่อยกว่าใช้ปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่น” หากอยากรู้เรื่องปลาเทโพ สามารถกดตรงนี้!

แกงเทโพในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนหนึ่งกล่าวถึงแกงเทโพว่า

“เทโพ พื้นเนื้อท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์”

จากพระราชนิพนธ์ แสดงให้เห็นว่า “แกงเทโพ” มีชื่อมาอย่างน้อยๆ ก็ 200 ปีก่อน โดยสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง อธิบายถึงแกงเทโพ สรุปความโดยสังเขปว่า เป็นแกงประเภทแกงชักส้มเครื่องแกงประกอบด้วย พริกแห้ง, ตระไคร้, ข่า, รากผักชี, พริกไทย, หอม, กระเทียม, เกลือ, กะปิ ปรุงรสด้วยน้ำปลา, น้ำส้มมะขาม, น้ำตาล ส่วนเนื้อสัตว์ที่ใส่มักเป็นปลาเทโพ ผักที่ใส่มักเป็นผักบุ้งไทยเท่านั้นจึงจะเข้ากัน บางครั้งจึงเรียก แกงเทโพ ว่า แกงเทโพยอดผักบุ้ง แต่ปัจจุบันปลาเทโพหายากมากขึ้น และแพง จึงมักใช้หมูสามชั้นแทนปลา แล้วเรียกว่า แกงหมูเทโพ

แกงเทโพสมัยใหม่ สามารถทำได้หลากหลาย บางทีก็ใช้ปลาชนิดอื่น หรือแม้แต่หมูก็นำมาใช้แทนปลา เหตุเพราะปลาเทโพราคาแพงและหาได้ยาก

ปลาเทโพพบครั้งแรกเมื่อไร?

Advertisements

จริงๆ แล้วไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าค้นพบครั้งแรกเมื่อไร แต่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2466 โดย สองนักวิชาการประมงคนสำคัญของไทยในยุคนั้น

คนแรกคือ ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith) นักวิชาการประมงชาวอเมริกัน ที่เคยรับราชการในไทย และเป็นอธิบดีกรมประมงคนแรก และ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) นักวิชาการประมง และผู้มีความสามารถในการวาดภาพปลาที่ดีเยี่ยม ผลงานจึงมีคุณค่าทั้งทางวิชาการและศิลปะ ได้ออกสำรวจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปลาในประเทศไทย

ปลาเทโพ
ปลาเทโพ เขียนโดยหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์)

การสำรวจดังกล่าวมี ดร.สมิธ เป็นหัวหน้าคณะ หลวงมัศยจิตรการเป็นผู้ช่วย และเป็นผู้วาดภาพเก็บรายละเอียดสีสันของปลาในขณะที่ยังสดหรือมีชีวิตอยู่ แทนการบันทึกภาพด้วยกล้องที่เวลานั้นยังไม่มีใช้ โดยรวบรวมข้อมูลปลา 107 ชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ปลาเทโพ ที่บันทึกไว้ดังนี้

ปลาเทโพ Pangasius larnaudii (Bocourt)

ปลาเทโพเป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีชุกชุมในลำน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำติดต่อของภาคกลางที่กรุงเทพฯ, นนทบุรี, อยุธยา ลพบุรี และแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านโป่ง

รูปร่างของปลาเทโพคล้ายกับปลาสวาย ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่ปลาเทโพจะมีจุดดำเหนือครีบอก มีหลังเป็นสีน้ำเงินปนเทา หัวเขียวอ่อน ช่วงท้องเป็นสีเงิน

ปลาเทโพ
คล้ายปลาสวาย จุดเด่นคือมีหูดำ
Advertisements

เพราะเนื้ออร่อย มีผู้ชอบรับประทานกันมาก จนได้ชื่อว่า แกงเทโพ ปลานี้สามารถอยู่ในเนื้อที่จำกัดได้ จึงมีผู้นำมาเลี้ยงในบ่อสำหรับขาย แต่ไม่ปรากฎว่ามันวางไข่ในบ่อ ข้อนี้ยังมีผู้สงสัย ..ขนาดใหญ่ที่เลี้ยงไว้ยาวประมาณ 130 เซนติเมตร

และนี่คือเรื่องราวของแกงเทโพ กับ ปลาเทโพ คงต้องบอกว่าหากพูดถึงหลักฐานแกงน่าจะมาก่อน แต่หากเป็นทางกายภาพแล้วปลามันต้องมาก่อนดิ ..แต่ก็คงขอสรุปไว้ก่อนว่า “ชื่อปลาเทโพกับชื่อแกงเทโพนั้น ใครมาก่อนกันไม่มีหลักฐานชัดเจน” ..จบ

ปลาเทพา เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 

Advertisements
แหล่งที่มาsilpa-mag.com