พอดีช่วงสองเดือนนี้ผมไปตกปลาที่บ่อหนุ่มบ่อยนิดนึง เดินไปและก็เดินมา เห็นน้าๆ หลายท่านใช้อุปกรณ์ UL กัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเหยื่อยาง กระดี่เหล็ก ซึ่งก็ตามกระแสอะนะ และท่ามกลางกระแสการตกปลาด้วยอุปกรณ์ UL หรือ Ultra Light ผมก็เลยกระโดดไปเล่นกับเข้าซะเลย
แน่นอนว่าตกได้ตัวไม่มีปัญหา ไม่มีแห้ว กินดีพอรับได้ และไม่มีขาด สายที่ใช้ก็ PE1 (ในบ่อหนุ่ม) แต่ทุกสิ่งมี 2 ด้านเสมอ ในเมื่อมีเหยื่อจิ้วๆ ก็ต้องมีเหยื่อใหญ่อย่าง Bigbait อยู่ด้วย แน่นอนว่าถ้าเป็นในบ่อปลาขังโดยเฉพาะบ่อหนุ่ม หาคนใช้น้อยอยู่พอสมควร และหลังจากที่ผมใช้เหยื่อจิ้วๆ ไปได้หลายทริป สิ่งที่ผมเริ่มรู้สึกได้คือปลามันเล็กจัง มันไม่ใช่แนวทางที่ผมชอบเลย กับการตกปลากระพงในฟิชชิ่งปาร์ค ผมเลยเดินกลับมาสายเหยื่อใหญ่ ด้วยความที่อยากได้ปลาใหญ่บ่อยๆ
แน่นอนว่าวันนี้ผมขอเอาเรื่องของการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมขนาดใหญ่ ที่เป็น Swimbait ในบ่อกระพงขังและเน้นว่าเป็น “บ่อหนุ่ม” ด้วยนะ แต่ก็น่าจะเอาไปใช้บ่ออื่นได้เหมือนกัน มาฝากน้าๆ บ้างดีกว่า พอดีเห็นมีน้าหลายท่านสอบถามวิธีตกอยู่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ผมเองก็ไม่เก่งอะไรมาก และหากถามว่าชอบใช้เหยื่อแบบไหนมากที่สุด ผมพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าชอบเหยื่อตัวใหญ่ๆ แต่ก็จำกัดอยู่ที่ 90mm – 120mm ใหญ่กว่านี้ก็ตีไม่ค่อยไหวเหมือนกัน ^ ^
ทำไมจึงชอบใช้เหยื่อใหญ่.?
สิ่งแรกผมว่าคงเพราะอยากได้ปลากระพงตัวใหญ่ๆ ..ถ้าน้าๆ ใช้เหยื่อปลอมตัวอ้วนๆ และยาวเกิน 100mm โอกาสที่น้าจะได้ปลากระพงตัวเล็กคงต่ำลงมาก และในทางกลับกันโอกาสที่น้าๆ จะได้ตัว 5 กิโลขึ้นไปก็มีมากขึ้น ..แต่น้าต้องดูด้วยว่าหมายที่ตกอยู่มีกระพงขนาดที่ว่านี้อยู่หรือเปล่า และไม่ได้หมายความว่าใช้เหยื่อเล็กแล้วจะไม่มีโอกาสได้ตัวใหญ่นะ
สิ่งที่สองที่ทำให้ผมชอบใช้เหยื่อใหญ่คือ ..ความรู้สึกเมื่อปลาเข้าชาร์ตเหยื่อจะต่างจากเหยื่อเล็กมาก ในกรณีที่ใช้เหยื่อเล็ก ถ้าอุปกรณ์และตัวของน้าๆ มีเซนเซอร์ทีฟที่คมมากพอ จนรู้สึกถึงแรงดูดของกระแสน้ำจากปลาที่กำลังชาร์ตเหยื่อ จนสายตึ๊ก (จังหวะติ๊ก ไม่จำเป็นต้องคมก็รู้สึกได้) นั้นคือปลาติดเบ็ดแล้ว ในทุกขั้นตอนส่วนใหญ่จะเบาบาง แต่กับเหยื่อใหญ่ๆ มันจะต่างออกไป สิ่งที่จะได้เจอคือ เจ้าตัวใต้น้ำจะชาร์ตอย่างแรง เหมือนถูกชนด้วยอะไรบางอย่าง ซึ่งน้าไม่จำเป็นต้องเซนเซอร์ทีฟที่คมอะไรเลย เพราะถ้ามันกัดก็ตูมสะท้านถึงมือ และวิ่งกระจายแน่นอน และนี่ก็คือสองเหตุผลหลักที่ทำไมจึงชอบจังเลยเหยื่อใหญ่
อุปกรณ์ที่ใช้ตก Swimbait
เอาจริงๆ ไม่ต้องทฤษฎีอะไรมาก ผมถืออะไรอยู่ผมก็จับตีเหยื่อใหญ่หมดนะ เพียงแต่ลดแรง ลดระยะ ท่าตีต้องลดแรงเครียจของคันเบ็ด อย่าสวิงแรง ท่าตีข้ามหัวอย่าใช้ประเดี๋ยวหัก คันเล็กสุดที่ผมใช้ตีเหยื่อใหญ่ ที่มีน้ำหนักกว่า S-Song115 (S-Song แท้หนักประมาณ 29กรัม ผมตี S-Song โมหนักประมาณ 35 – 40 กรัม) คันที่ใช้คือคันสปิน 5-10 ติดรอก c2000 กับ pe1 ได้สนุกแบบ UL แต่เสียวกว่าหน่อย เพราะตกกระพงใหญ่ เหยื่อใหญ่ด้วย ต้องตีได้อย่างนิ่มนวลเลยละ
สรุปคือหากน้าๆ มีคันที่แข็งกว่านี้ผมว่าคงตีสบายๆ ส่วนสายช็อคสำหรับผมใช้ 30lb ครับ เอาแค่ Nylon พอเน้นของถูก (เช็คสายบ่อยหน่อย และหากน้าใช้ PE ใหญ่ก็ต้องใช้ช็อคที่ใหญ่ขึ้นด้วย) และแนะนำให้ต่อเหยื่อโดยตรงกับสายช็อคโดยใช้เงื่อน Repala Knot หรือถ้ามีเงื่อนคล้ายๆ กันก็ใช้ได้
เหยื่อตัวใหญ่แบบ Swimbait
ตามความเข้าใจของผมเหยื่อที่เรียกว่า Swimbait มันจะต้องว่ายน้ำเลียนแบบปลา และมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลา แต่ก็มีเหยื่อบางรุ่นที่ไม่เหมือนปลาสักนิด ที่เรียกตัวเองว่า Swimbait อยู่เหมือนกัน หรือตัวเป็น Swimbait ชัดๆ แต่ไม่ดันเรียกตัวเองเป็นอย่างอื่นก็มี
ตัวอย่างเหยื่อที่ผมชอบมากตัวนึงคือ S-Song 115 แบบ S แต่ช่วงนี้ไม่รู้เป็นไรหามือ 2 ยากมากๆ ถ้าจะให้ไปใช้มือ 1 บอกตรงๆ ว่าทำใจลำบากเพราะมันสุดแสนจะแพง แถมตัวเหยื่อเขียน S แต่เหยือมันดันลอยก็มี และในทางกลับกันได้ตัว F มา มันอาจจะจมเช่นกัน โดยเหยื่อตัวนี้ผมค่อนข้างมั่นใจกว่าใช้ได้ผลดีเยี่ยมกับบ่อหนุ่ม (ถ้าเป็นของแท้)
การโม S-Song เลียนแบบ (จะลองทำแบบผมก็ได้ เน้นว่าเป็นเพียงแนวทาง)
สำหรับ S-Song ของเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า Akill ที่ผมคิดว่าน่าจะมีค่าตัวถูกพอรับได้ เพราะมันมีราคาเพียง 235 บาทเท่านั้นเอง เพียงแต่เอามาใช้แบบเดิมๆ มันไม่ค่อยจะดีเท่าไร เทียบของแท้ไม่ติด ..แน่นอนว่ารักที่จะใช้ของถูกเราต้อง “โม” หรือดันแปลงมันสักหน่อย เพราะถ้าไม่โม เหยื่อพอลงน้ำมัน “เบา” เกินไป จมช้าเกินไป และพอลากมันจะลอยขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งไม่โดนใจกระพงบ่อหนุ่มและเชื่อว่าบ่ออื่นก็ไม่ต่างเท่าไร ส่วนวิธีโมของผมก็ดิบๆ เลย จะเอาไปทำก็ได้นะครับ โดยผมเอาตะกั่วแปะที่ท้องตามภาพ
ส่วนสีจำเป็นต้องทำใหม่ครับ เพราะบ่อกระพงขังส่วนใหญ่ ถ้าเหยื่อใต้น้ำตัวใหญ่ๆ ชอบอยู่สองสีคือ ดำ กับ ขาว ฉะนั้นให้จับพ่นสีดำ กะขาวลงไปที่ตัวเหยื่อได้เลย (ถ้าได้สีดำมาเลยก็ไม่ต้องทำอะไร และควรเตรียมสีจัดๆ ไว้สักตัว) ส่วนที่เห็นสีเงินๆ ที่ตัวเหยื่อ ผมไปซื้อ “แผ่นอุดรอยรั่วถัง” แผ่นละ 10 บาท มาตัดแปะให้มันตัดสีดำ ส่วนหางจะติดฟู่ หรือไม่ติดก็ตามใจครับ (วิธีของผมดิบๆ เถื่อนๆ หน่อยนะครับ) การโมน้ำหนักให้จับลงถังน้ำดู เหยื่อจะตั้งตรง จมเร็วพอประมาณ ไม่ใช่ค่อยๆ จมนะครับ ตัวตามภาพผมทำหางเองเป็นหางพลาสติกแข็ง เพราะต้องการตัวที่หนัก ว่ายได้เร็ว และเบาในน้ำ (เบาในน้ำคือเมื่ออยู่ในน้ำเหยื่อจะเบา เก็บสายได้ง่ายและเร็ว)
การใช้งาน S-Song ที่โมมา (เหยื่อใหญ่แบบจมจะใช้งานคล้ายๆ กัน)
วิธีนี้น้าไม่ต้องทำแบบผมก็ได้นะครับ แค่จะบอกวิธีที่ผมใช้กับเหยื่อแบบนี้ ก่อนอื่นเข้าบ่อให้มุ่งมั่นก่อนเลยว่าจะตีเหยื่อใหญ่ จากนั้นตีเข้าจุดที่หมายตาไว้ โดยเหยื่อแบบนี้ไม่จำเป็นต้องตีไกลเอาโล่ก็ได้ ตีเลาะตลิ่ง เอาใกล้ๆ ตลิ่งหน่อย ระยะก็พอที่จะมีที่ให้ตีครับ กับอีกจุดที่ผมว่าไม่ว่าจะบ่อไหนก็คงเหมือนกัน มีตัวแงมๆ ก็คือตรงกังหันน้ำ ร้อยทั้งร้อยมีตัวแน่ อยู่ที่ว่าจะกินหรือเปล่า (ส่วนใหญ่ผมไปตีก็ได้หลายตัวตลอดนะ แต่ไม่ค่อยอยากไป เพราะมีโอกาสเสียเหยื่อสูง) วิธีตีก็เอาชิดๆ กังหันเลยครับ ยิ่งชิดยิ่งดี ให้ถึงทุ่นตัวสุดท้าย ตรงจุดนี้ต้องตีค่อนข้างเก่ง อย่าลืมคิดถึงไม้ใต้น้ำด้วย ..พอเหยื่อตกน้ำ รอ 10 วิไปเลยก็ได้ให้ถึงพื้น ต่อไปก็ถึงช่วงสำคัญ กับสเต็ปเก็บสาย เอาจริงๆ ผมใช้ 2 สเต็ปเอง เพียงแต่ปรับความเร็วเอา
- เมื่อเหยื่อถึงพื้นตอนก่อนจะเริ่มเก็บสาย ให้เขย่าปลายคันเบาๆ เร็วๆ สัก 2 – 3 วิ แล้วก็เริ่มเก็บสายด้วยความเร็วต่ำประมาณ 4 วิ แล้วลดความเร็วลงอีกประมาณ 3 วิ จากนั้นเก็บสายเร็วอีกประมาณ 4 วิ แล้วก็วนไปวนมาจนจบ (เร็วแค่ไหนลองทดสอบดูเอาครับ) ผมมักจะได้ตัวจากสเต็ปนี้ ปลาชอบชาร์ตตอนลดความเร็ว กับตอนออกตัวด้วยการเก็บสายเร็ว
- วิธีที่สอง ผมไม่ค่อยชอบใช้เท่านั้น มันแบบช้ามากๆ ผมใจร้อน > < พอจะเริ่มเก็บสาย ก็เขย่าปลายคันเบาๆ เร็วๆ 2 – 3 วิ แล้วหยุด เก็บสายช้ามากๆๆ ประมาณ 2 วิ แล้วเปลี่ยนมาเป็นเก็บสายช้ามากๆ พร้อมเขย่าปลายคันเบาๆ สัก 4 – 5 วิ แล้วหยุดรอประมาณ 2 – 3 วิ (ระยะเวลารอนาน หรือช้ามากช้าน้อยดูจากช่วงนี้ทางบ่อให้ปลากินอะไร ถ้าปลาตาย, ปลาทูอะไรพวกนี้ บวกเวลารอก็ดีครับ และลดความเร็วเหยื่อด้วย) จากนั้นก็ทำวนไปวนมา สลับไปมา เดี๋ยวปลากินก็รู้เรื่องเอง ^ ^
ในกรณีที่ตีชิดกังหัน ..ถ้าใช้เหยื่อใหญ่ๆ น้าจะตีสบายๆ เหมือนเหยื่อเล็กไม่ได้นะครับ ให้อยู่ในสภาพพร้อมรบได้เลย ไม่งั้นน้าอาจจะเสียเหยื่อได้ทันที ให้ปรับเบรคแข็งที่สุดเท่าที่คิดว่าสายจะรับไหว อย่าคิดมาปรับเอาตอนปลากิน เพราะปลาใหญ่กินมันตรงเข้ากังหันหยุดไม่ทัน มองซ้ายมองขวาหาที่ทางวิ่งออกจากระยะกังหันให้ไว ที่เหลือก็ฝีมือการงัดปลาออกจากกันหันครับ
ถามว่าเหยื่อใหญ่ตัวอื่นใช้ไม่ได้เหรอ..?
ได้ครับคงไม่ต่างกันเท่าไร อย่างเหยื่อปลาหมอไทย ฝีมือคนไทยทำก็ดีครับ แต่ถ้าของถูกแล้วตีได้ตัว ได้ความรู้สึกว่าตีเหยื่อใหญ่ ผมก็เลือกใช้ของถูกก่อน อย่างปลาหมอตัวดีๆ หลายเจ้าราคา 500 หรือ 700 ก็มี ซึ่งราคาไม่ถูกเท่าไร แต่ก็สวยและดีจริงๆ นั้นละ น้าบางท่านใช้เหยื่อทำเอง ก็ไม่ได้สวยงามอะไร เพียงอาศัยหลักการพื้นฐานอย่าง ดูหมาย, จังหวะเก็บสาย, สี และความสมดุลย์ของเหยื่อ ก็ตกปลาตัวใหญ่ๆ ได้หลายตัวเช่นกัน
สุดท้ายก็ต้องขออภัยน้าๆ ด้วยที่ไม่ได้ยกตัวอย่างเหยื่อหลายๆ ตัว แถมยังเลือกเหยื่อราคาถูกมาเป็นตัวอย่างอีก > < ยังไงก็ปรับเอาไปใช้กันนะครับ และถึงแม้จะมีวันที่ปลาไม่กินเหยื่อใหญ่เลยจนทำให้น้าๆ ท้อแท้กับการเล่นเหยื่อใหญ่ไป แต่มันจะมีวันที่ปลากินเหยื่อใหญ่อย่างมโหฬารอย่างแน่นอน เอาไว้เดี๋ยวเอาการโม S-Song (เลียนแบบ) แบบ S ให้เป็น F มาฝากครับผม ^ ^ ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยครับ ..กดไลค์กดแชร์กันได้ความสะดวก
อ่านเรื่องอื่น รีวิวแรก SnowShoe95 เหยื่อใหญ่ ปลาใหญ่ ถ้ายังไม่ได้ลอง