“วันที่ 26 พ.ย. มิร์เรอร์ ประมวลภาพถ่ายและวิดีโอช่วงเวลาน่าทึ่งและหายากยิ่งของศึกต่างสายพันธุ์ระหว่าง เสือโคร่งเบงกอล น้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม และ หมีสลอธ หมีฆ่าคนอันตรายที่สุดในโลก น้ำหนัก 136 กิโลกรัม”
อาร์พิต ปาเร็คห์ วัย 33 ปี นักธรรมชาติวิทยาและผู้นำเที่ยว ใช้กล้องถ่ายภาพ Canon EOS 750D และเลนส์ Canon 55-250mm แชะภาพถ่ายน่าทึ่งภายในเขตรักษาพันธุ์เสือ ตาโดบา อันธารี ที่รัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดีย
ช็อตเด็ดของอาร์พิตมีสองภาพถ่าย อันแรกเป็นช่วงที่เสือโคร่งเบงกอลกระแทกหมีสลอธล้มลงไปกองกับพื้น ส่วนอีกอันเป็นช่วงที่หมีสลอธกลับมายืนขึ้นและเริ่มใช้กรงเล็บตะปบและฟันงับจนเสือโคร่งล่าถอยไป
อาร์พิตย้อนช่วงเวลาการเผชิญหน้าหายากยิ่งระหว่างเสือโคร่งเบงกอลและหมีสลอธเป็นไปอย่างดุเดือดนานครึ่งชั่วโมง และอยู่ห่างจากจุดที่ช่างภาพจอดรถเกือบ 1 กิโลเมตร
“เสือโคร่งเบงกอลกำลังนอนพักกลางวันอย่างเพลิดเพลินยามบ่าย จู่ๆ กระโจนใส่พุ่มไม้ที่อยู่ใกล้ๆ อย่างดุร้าย ผมได้ยินเสียงร้องของสัตว์ มารู้ทีหลังว่า เสือโคร่งต่อสู้กับหมีสลอธ ก่อนจะย้ายสนามรบออกไปที่เปิดโล่ง”
อาร์พิตเล่าต่อว่า เสือโคร่งน่าจะเป็นฝ่ายพิชิตหลังฝังเขี้ยวใส่หมีได้ ท่าทางของหมีเหมือนจะตายแล้ว แต่ไม่นานเสือโคร่งหมดแรงและปล่อยศัตรูไป จากนั้น หมีโชกเลือดตอบโต้กลับ กระโจนใส่เสือโคร่งและงับเข้าที่ขาของมัน สุดท้ายแล้ว หลังศึกทรหด สัตว์ร้ายทั้งสองตัดสินใจเลิกต่อสู้กันและต่างฝ่ายต่างเดินจากกันไป
เกี่ยวกับเสือโคร่งเบงกอล
เสือโคร่งเบงกอล (อังกฤษ: Bengal tiger, Royal bengal tiger) ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera tigris tigris เป็นเสือโคร่งชนิดย่อยชนิดหนึ่ง นับเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของบรรดาเสือโคร่งทั้งหมด รองจากเสือโคร่งไซบีเรีย (P. t. altaica) ที่พบในแถบไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ตัวผู้เมื่อมีขนาดใหญ่เต็มที่อาจยาวได้ถึง 360 เซนติเมตร หนัก 180-270 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 140–180 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ในประเทศอินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ และกระจายเข้าไปในแถบประเทศพม่าด้วย เสือโคร่งเบงกอลมีศัตรูทางธรรมชาติเยอะอาทิเช่น งูเหลือม งูหลาม จระเข้น้ำเค็ม ช้างอินเดีย หมาใน หมีสลอธ หมีควาย หมีหมาและสิงโตอินเดีย
แต่เจ้าเสือโคร่งเบงกอลก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ถึงแม้มันจะอยู่ตัวเดียว สถานะในธรรมชาติ จัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการถูกล่าเพื่อทำหนังเป็นเครื่องประดับ และกระดูก, อวัยวะ เป็นยาสมุนไพรตามความเชื่อ อย่างไรก็ตาม เสือโคร่งเบงกอลนั้นนับได้ว่าเป็นเสือโคร่งชนิดที่ยังมีเหลืออยู่มากที่สุดในธรรมชาติ คาดว่ามีอยู่มากกว่า 3,500 ตัวในธรรมชาติ
ในการสำรวจพบว่า ปี 2561 ในเขตป่าอนุรักษ์อินเดีย 2,600-3,000 ตัว, เนปาล 235 ตัว, ภูฎาณ 103 ตัว, บังคลาเทศ 160 ตัว ส่วนในพม่าไม่สามารถประเมิน โดยเป็นเสือที่มนุษย์นำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้มากและแพร่หลายที่สุด ในสถานที่เลี้ยง พบว่า เสือโคร่งเบงกอลเป็นเสือโคร่งที่มีความเชื่องและดุร้ายน้อยที่สุด จนสามารถฝึกหัดให้เล่นละครสัตว์ได้
แอลลิเกเตอร์พุ่งชนเรือคายัคคว่ำจนคนตกน้ำ
8 วงศ์ปลาช่อนที่พบได้ในไทย มีชนิดไหนบ้าง