พื้นฐานอุลตร้าไลท์ อยากลองสายหวานต้องไม่พลาด

อุลตร้าไลท์ Ultra Light หรือย่อๆ UL ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในไทย ซึ่งคำๆ นี้เป็นวิธีการตกปลาด้วยอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กมาก ทั้งคันเบ็ดที่อ่อน รอกที่เล็ก สายที่เล็ก แน่นอนว่าเหยื่อที่เล็กด้วย โดยอุปกรณ์ที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น UL จะต้องเป็นสปินนิ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผู้ผลิตเริ่มทำอุปกรณ์เบทคลาสติ้งให้อยู่ในระดับ UL ได้ แต่บอกได้เลยว่าถ้าจะตก UL สปินนิ่งยังไงก็ดีกว่า

อุลตร้าไลท์ Ultra Light

อุลตร้าไลท์ Ultra Light หรือย่อๆ UL ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในไทย ซึ่งคำๆ นี้เป็นวิธีการตกปลาด้วยอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กมาก ทั้งคันเบ็ดที่อ่อน รอกที่เล็ก สายที่เล็ก แน่นอนว่าเหยื่อที่เล็กด้วย โดยอุปกรณ์ที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น UL จะต้องเป็นสปินนิ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผู้ผลิตเริ่มทำอุปกรณ์เบทคลาสติ้งให้อยู่ในระดับ UL ได้ แต่บอกได้เลยว่าถ้าจะตก UL สปินนิ่งยังไงก็ดีกว่า

ทำไมต้องใช้ อุลตร้าไลท์

Advertisements

มีอยู่หลายเหตุผลว่าทำไมอุปกรณ์ระดับ อุลตร้าไลท์ (Ultra Light) จึงเหมาะแก่การใช้ล่อหลอกให้ปลาเข้ามากินเหยื่อที่ปลายสายมากที่สุด แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ การใช้สายเบ็ดขนาดเล็กนั่นเอง สายเส้นเล็กๆ จะหายตัวกลมกลืนไปกับพื้นน้ำใสสะอาด จนเรียกได้ว่าปลาไม่สามารถมองเห็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างเหยื่อกับตัวนักตกปลาได้เลย

นอกจากนี้สายที่เล็กจะเกิดแรงเสียดทานกับสปูนและวงในของไกด์น้อยมาก จึงทำให้ตีเหยื่อได้ไกลกว่า แม้ว่าจะใช้เหยื่อขนาดเล็กที่แทบไม่มีน้ำหนัก และด้วยสายที่มีขนาดเล็ก จะทำให้แอคชั่นของเหยื่อสมจริงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ปลาก็จะระแวงน้อยลงเช่นกัน

อุปกรณ์อุลตร้าไลท์เป็นแบบไหน

อุปกรณ์ระดับอุลตร้าไลท์ที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นชุดตกปลาที่ใช้กับขนาดสายระหว่าง 2-6 ปอนด์ หรือ PE ไม่เกิน 0.5 และน้ำหนักเหยื่อต่ำสุดประมาณ 1/16 ออนซ์ (ประมาณ 1.8 กรัม) แต่สิ่งที่กำหนดถึงขนาดหรือน้ำหนักของชุดปลายสายนี้ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคันเบ็ดและรอกเท่านั้น เราจะต้องพิจารณาระบบโดยรวมของรอกที่ใช้ด้วย คือต้องมีความราบรื่นเป็นพิเศษ ไลน์โรลเลอร์ต้องหมุนได้อย่างอิสระแม้เพียงโดนแรงสัมผัสเบาๆ และแอ็กชั่นของคันเบ็ดที่จะต้องโค้งงอลงมาจนเกือบจะชนโคนด้ามเลย แต่อย่าไปลองงอเล่นนะ

รอกสปินเบอร์ 1000 กำลังดี

จริงๆ แล้วผมเองไม่อยากระบบว่าต้องเป็นเบอร์ 1000 หลอก แต่ด้วยความที่เป็น UL รอกเบอร์ 1000 ดูจะมีขนาดที่เหมาะสม และหาซื้อได้ง่าย ในขณะที่เบอร์เล็กกว่า 1000 อาจจะมีตัวเลือกน้อย แน่นอนว่าเบอร์ 2000 ก็ใช่ได้เช่นกัน โดยรอกสปินที่เหมาะกับ UL ควรเลือกให้ดีซะหน่อย มันควรเรียบลื่น น้ำหนักไม่ยาก มีไลน์โรลเลอร์ที่ดีเป็นพิเศษ โดยในตำแหน่งไลน์โรลเลอร์ ควรมีลูกปืน แต่หากไม่มีก็หามาใส่เพิ่มได้เช่นกัน

เบรกที่สมบูรณ์

Advertisements

ระบบเบรก ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการตกปลาแบบ UL มันต้องสมบูรณ์ที่สุด ราบลื่น เพราะสายที่เราใช้เป็นสายเล็กมาก หากเกิดอาการเบรกสะดุดเพียงนิดเดียว จะเป็นต้นเหตุทำให้สายขาดได้ง่าย เช่นเดียวกับไลน์โรลเลอร์ที่ถ้าหากเกิดมีอาการฝืดหรือตายขึ้นมา ก็จะก่อให้เกิดแรงเสียดทานหรือสายเบ็ด อันเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สายขาดเช่นกัน

เหยื่อที่ใช้กับ UL

เหยื่อควรมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1/16-1/8 ออนซ์ (1.7g – 3.5g) หรืออาจหนักกว่าเล็กน้อย ซึ่งด้วยน้ำหนักขนาดนี้ อุปกรณ์ตกปลาทั่วไปจะไม่สามารถใช้ได้ ตีไม่ได้ระยะ อุปกรณ์ที่เหมาะกับเหยื่อน้ำหนักระดับนี้มีเพียงสปินนิ่งเท่านั้น หากน้าจะเอาคันเบทคลาสติ้งมาสู้ อาจจะต้องแต่งเต็มหลักหมื่น เพื่อให้สู้สปินนิ่งไม่กี่พันบาทได้


ถ้าให้นึกภาพเหยื่อ UL ออก ก็เป็นเป็นพวกเหยื่อปลั๊ก 3-5cm ปลายางตัวเล็กๆ หัวจิ๊กเล็กสุดๆ อะไรประมาณนี้ เหยื่อพวกดำลึก ลิ้นยาวๆ ไม่เหมาะอย่างแรง และด้วยอุปกรณ์อย่าง UL จะเหมาะกับเทคนิคตกปลาอย่าง No Sinker Rig มากๆ แต่จำไว้ว่า UL ไม่เหมาะกับเทคนิคในกลุ่ม Texas Rig นะครับ เพราะ Texas Rig ในบ้านเรามักใช้เพื่อตกปลาช่อน มันต้องการกำลังเบรคที่มาก และการวัดปลาที่แรง!! แน่นอนว่า UL ทำ 2 สิ่งนี่ไม่ได้ดีเลย

ความยาวของคันเบ็ด UL

เกี่ยวกับความยาวของคัน UL ผมว่าคันสปินที่สั้นเกินไป จะทำให้ตกปลาไม่สนุก ถึงแม้ตามตำราที่ผมค้นๆ มา เขาบอกยาวประมาณ 5 – 6 ฟุต แต่ผมว่าอย่างต่ำๆ ก็ต้อง 6 ฟุตอะ และคัน 5 ฟุต สมัยนี้ก็หาไม่ได้ง่ายๆ หลอกในไทย ถ้าแบบเที่ยวทั่วไป ผมว่าจัดไปเลย 6.6 ไม่ยาว และไม่สั้นจนเกินไป ตีก็ไกลด้วย แต่ไม่ควรเลือกคันที่มีด้ามยาวจนเกินไป ให้เลือกคันที่จับมือเดียวได้ถนัด ไม่ว่าจะตีมุมไหนตูดคันก็จะไม่ไปชน หรือติดร่างกาย ..อ่านวิธีเลือกคันเบ็ด

ต่อสายด้วยเงื่อนที่เหมาะสม

Advertisements

จะว่าไงดี โดยปกติแล้วนักตกปลาไทยจะใช้สายหลักเป็นสาย PE ซึ่งการต่อสายช็อคด้วยสายโมโนหรือฟูโร จะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ แน่นอนว่าด้วยความที่สายมีขนาดที่เล็ก และคันเบ็ดอย่าง UL สมัยใหม่ชอบติดตั้ง Micro Guide มาอีกต่างหาก เงื่อนที่ใช้จึงต้องพิเศษเล็กน้อย

Alberto Knot

Advertisements

โดยส่วนตัวผมว่าเงื่อนอย่าง FG Knot ก็เป็นอะไรที่เพียงพอแล้ว มันผูกได้ค่อนข้างง่าย แข็งแรง และยังมีปมที่น้อยอีกด้วย หรือหากต่อช็อคไม่ยาว แนะนำให้ใช้ Alberto Knot ก็ได้ มันเป็นเงื่อนที่แข็งแรง และผูกเสร็จได้ภายใน 1 นาที แล้วก็อย่าลืมตรวจสอบสาย เงื่อน ให้บ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นะ

เทคนิคเล็กๆ ของการสู้ปลาใหญ่ด้วยชุดอุลตร้าไลท์

ในแหล่งน้ำเปิดโล่ง จะต้องอาศัยระบบเบรกช่วยและยกปลายคันขึ้นสูงตลอดเวลา เพื่อให้คันเบ็ดเป็นตัวรั้งและรับแรงดึงจากปลาใหญ่แทน และเมื่อสายเบ็ดถูกลากออกไปไกลค่อนสปูน แรงต้านของน้ำจะเป็นตัวช่วยเพิ่มน้ำหนักฝืนรั้งปลาไว้อีกแรงหนึ่ง หากปลาจะเขาหาสิ่งกีดขวางใต้น้ำ ให้รีบกดปลายคันลงต่ำๆ ซึ่งจะเป็นเหมือนบังคับให้ปลาพลิกตัวกลับแล้วหันหัวว่ายเหไปในอีกทิศทางหนึ่ง จากนั้นเป็นวิธีการขั้นสุดท้ายคือปรับเบรกให้แน่นขึ้นอีกหน่อยแล้วใช้ประโยชน์จากแอ็กชั่นของคันเบ็ด โยกปั๊มอัดปลาเข้ามา เท่านี้ก็น่าจะได้ตัวละ

เอาล่ะขอตัดจบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ก็อย่างที่เห็นในบทความนี้ค่อนข้างจะเป็นพื้นฐาน มือเก๋าอ่านแล้วอาจไม่ได้อะไร แต่หากเป็นมือใหม่น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้าๆ

อ่านเพิ่มเติม D-Contact ของเล่นโปรดขาอุลตร้าไลท์

อ่านเพิ่มเติม เหยื่อปลั๊ก ที่เหมาะกับคำว่า ของมันต้องมี Duo Spearhead Ryuki

Advertisements