ล่าสุดออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการกล่อมไม่ให้ยูเนสโกลดระดับสถานะมรดกโลกของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังสำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก นั้นเพราะมันดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ 5 ล้านคนต่อปี และสนับสนุนงานประมาณ 70,000 ตำแหน่ง .. แต่มันเป็นเพียงทำให้ยูเนสโกเลือกที่จะเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีกหน่อย
เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อระบบนิเวศและปะการังที่เปราะบางของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ที่ตั้งแต่การสำรวจเมื่อปี 1990 จนถึงตอนนี้ ปะการังตายไปครึ่งหนึ่ง มันไม่น้อยเลยสำหรับแนวปะการังที่มีเนื้อที่ 345,000 ตารางกิโลเมตร
แนวปะการังแห่งนี้ยาว 2,300 กิโลเมตร (ยาวกว่าจากเหนือสุดไปใต้สุดของไทยซะอีก) และยังเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลก และเนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การฟอกขาวสามครั้งในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยแต่ละครั้งเกิดขึ้นในปี 2016, 2017 และปีที่แล้ว
จากนั้นแนวปะการังยังได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนและปลาดาวมงกุฎหนามซึ่งกินปะการังด้วย และยังมีโรงงานตามแนวชายฝั่งที่สร้างความเสียหายให้กับน่านน้ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามออสเตรเลียไม่ต้องการให้ลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เพราะพวกเขาไม่เชื้อว่ากำลังประสบปัญหา และมันอาจทำลายชื่อเสียงของแนวปะการังแห่งนี้ พวกเขาจึงพยายามล็อบบี้ประเทศอื่นๆ และได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่ง เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ลงคะแนนคัดค้านการจัดประเภทแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ
แต่นักสิ่งแวดล้อมไม่พอใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ ออสเตรเลียพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอย่างมาก โดยมีความพยายามเพียงเล็กน้อยในการควบคุมการปล่อยคาร์บอนอันเนื่องมาจากต้นทุนของเศรษฐกิจ และมันจะเกิดผลกระทบใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต
David Ritter ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Greenpeace Australia กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “นี่เป็นชัยชนะสำหรับความพยายามในการวิ่งเต้นที่น่าดูถูกเหยียดหยามที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ”
คำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? สำหรับตอนนี้ออสเตรเลียจะต้องจัดทำรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามันจะถูกประเมินอีกครั้ง