ประวัติการค้นพบ
ตามบันทึกใน researchgate เมื่อปี พ.ศ. 2548 หรือ ค.ศ. 2005 กะโหลกศรีษะของ “แอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สมบรูณ์เพียงชิ้นเดียว ซึ่งถูกพบในชั้นดินในขณะที่ชาวบ้านใน บ้านสี่เหลี่ยม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา กำลังขุดบ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยม ยาว 8 เมตร กว้าง 8.4 เมตร
และเมื่อขุดจนลึกถึง 2 เมตร ก็พบว่าเป็นชั้นทรายสีเหลืองที่ทับชั้นเหล็กออกไซด์ที่แข็งตัวบางๆ ตามด้วยดินเหนียวสีเหลืองและที่ส่วนล่างสุด ก็พบเข้ากับฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลาน 3 ชิ้น น่าเสียดายที่ในตอนนั้นไม่ค่อยมีความคืบหน้าสักเท่าไร
จนในปี พ.ศ 2554 หรือ ค.ศ.2011 จึงมีการพูดคุยในรายงานสั้นๆ โดย คลอดด์ (Claude) และทีมงานของเขา โดยจากรายงานระบุว่า ในตอนนั้นได้พบกับฟอสซิล 3 ชิ้น ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนของกระดองเต่า ในชื่อรหัสว่า DMR-BSL2011-1 และกะโหลกของแอลลิเกเกอร์ที่เกือบสมบูรณ์ ในชื่อรหัสว่า DMR-BSL2011-2 ส่วนชิ้นที่ 3 ยังไม่แน่ชัด
นอกจากยังระบุว่าพวกเขาได้นำเอาแอลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองแอลลิเกเตอร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกมาศึกษาร่วม และแม้พวกเขาจะพบว่ามันแตกต่าง แต่ก็ไม่มีการอธิบายอะไรเพิ่มเติมจนผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2566
การกลับมาศึกษากะโหลกอีกครั้ง
หลังผ่านมา 18 ปี ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี ที่นำโดย ดร.กุสตาโวดาร์ลิม (Dr.GustavoDarlim) ได้เข้ามาศึกษาตัวอย่างนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ แอลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และ แอลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) รวมถึงเคแมน (caiman) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับของจระเข้ และยังอยู่ในวงศ์เดียวกับแอลลิเกเตอร์ด้วย
โดยลักษณะเด่นของแอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส เมื่อเทียบกับแอลลิเกเตอร์ชนิดอื่นคือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก จำนวนเบ้าฟันน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเบ้าฟันก็มีขนาดใหญ่ขึ้น
สิ่งนี้บ่งบอกว่า! แอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส มีฟันขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่างๆ และจากขนาดกะโหลกของตัวอย่าง ทำให้คาดว่าแอลลิเกเตอร์ชนิดนี้มีความยาวอยู่ระหว่าง 1 – 2 เมตร และช่วงอายุน่าจะไม่เกินยุคไพลสโตซีนตอนกลาง หรือเมื่อประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ากะโหลกของแอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส มีลักษณะใกล้เคียงกับแอลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่าแอลลิเกเตอร์ทั้ง 2 ชนิด อาจมีบรรพบุรุษร่วมกัน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ระหว่างลุ่มน้ำแยงซี ลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เพราะเกิดธรณีแปรสัณฐาน จนทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เลยทำให้แอลลิเกเตอร์มูลเอนซิสเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน
ข้อมูลทางบรรพชีวินวิทยา
จากแหล่งที่พบแอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส ทำให้พอจะทราบว่า มันน่าจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับแอลลิเกเตอร์จีน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่หลากหลาย พวกมันอยู่ในที่ราบลุ่มและที่ราบน้ำท่วม รวมถึงบึง บ่อน้ำและลำธาร
ด้วยลักษณะของเบ้าฟันบนด้านหลังที่มีขนาดใหญ่ บ่งบอกว่า แอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส อาจมีฟันที่กลมหรือทู่และมีบางด้านที่แบน ซึ่งพบในสัตว์จำพวกแอลลิเกเตอร์จมูกสั้นหลายชนิด และเมื่อประกอบเข้ากับโครงสร้างโดยรวมที่แข็งแกร่งของกระโหลกศีรษะ และจุดยึดที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี แสดงให้เห็นว่าแอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส มีแรงกัดที่รุนแรง ซึ่งใช้สำหรับการบดขยี้เหยื่อ อาจเป็นเพราะมันจำต้องกินเหยื่อที่มีเปลือกแข็งมากกว่าปกติในบางช่วงเวลาของปี
มันคล้ายกับเต่าหัวโต (Big-headed turtle) ซึ่งเป็นเต่าโบราณที่ในตอนนี้ก็ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ พวกมันเป็นเต่าที่กินทุกอย่าง และจะกินหอยมากขึ้นในบางช่วงเวลาของปี ในขณะที่เคย์แมนจมูกกว้าง (Broad-snouted caiman) จะชอบกินเหยื่อที่มีเปลือกแข็งมาก แต่มันกลับไม่มีฟันหลังที่ขยายใหญ่เหมือนแอลลิเกเตอร์มูลเอนซิส ส่วนแอลลิเกเตอร์จีนนั้นต่างออกไป …แต่ถึงอย่างงั้น ข้อมูลที่แน่ชัดที่เกี่ยวกับระบบนิเวศของพวกมันก็ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก