ระเบิด Aldebaran ฉบับละเอียดนิดหน่อย

ก็พูดถึง คันเบ็ดในฝัน ไปแล้ว มาต่อด้วยรีวิวรอกด้วยเลยละกันครับ ซึ่งก็เป็นตัวแรกที่นำมาพูดถึงแบบจริงๆ จังๆ ใน Fishingthai เลย เพราะมันเป็นตัวที่ผมชอบมาก มันเบาที่สุดเท่าที่ผมใช้มาเลย ซึ่งก็คือ Shimano Aldebaran mg7 มือซ้าย ครับ

fishingthai

รอกตกปลา Aldebaran หากถามว่าดีหรือเปล่า..?

Advertisements

ผมว่าสำหรับผมมันเป็นรอกที่ผมชอบที่สุดแล้ว เข้ามือที่สุด เบามากๆ และตีลื่นสุดๆ บอดี้ทำจาก MG (Lightweight Magnesium Alloy) จึงทำให้คนกลัวว่าจะผุ เสียหายง่าย แต่ผมบอกได้เลย คิดผิด เพราะ Shimano ทำสีไว้ดีมาก ผมใช้อยู่ประมาณ 2 ปี ตกอาทิตย์ละครั้งสองครั้งบอดี้ยังดีครับ (ตกน้ำจืด น้ำเค็ม)
สำหรับตัวนี้ผมใช้บ่อยมาก และหนักเลยสรุปข้อเสียของมันได้ว่า

1. ห้ามใช้กับเหยื่อดำลึกระดับ 2 เมตร +
2. เฟืองเป็น “Alumimum” ทนงานหนักมากๆ ไม่ค่อยไหว
3. หมุนแล้วมีเสียง หน่อยๆ
4. เบรคดี แต่ก็พังง่ายหน่อย (ตกทุกอาทิตย์ ราวๆ 1 ปีต้องเปลี่ยนแผ่นเบรควงใน และแผ่นกดวงใน)
5. เฟืองหลัก 2 ปี ผมเปลี่ยนไป 2 ครั้ง
6. น้ำเข้ารอกง่ายมาก ต้องดูแลดีหน่อย

ปลาใหญ่แค่ไหนที่ทำให้รอกพังได้..? รอกตัวนี้ผมใช้หนักมาก ถ้าน้าใช้เบาคงจะอยู่ทนกว่าผมมาก เพราะผมเคยเอาไปตกสปิวที่บึงสำราญแล้วปลาบึกมากิน ปิดเบรคมันลากเกือบหมดหลอด แต่ก็เอาขึ้นมาได้ ปลากระพงใหญ่โดนบ่อย เพราะผมชอบไปตกปลาขังน้ำจืดน้ำกร่อย ทะเลเคยเอาไปตก 3 วันรวด ทิ้งตกฝนนอกเต้นท์ก็เคย แล้วมันรอดมาได้โดยไม่เคยพังระหว่างทาง เลยสรุปข้อดีของมันออกมาว่า

1. รอกนี้เหมาะกับคนมือเล็กมาก เบา และจับกระชับ
2. ไม่เคยตายระหว่างทางแม้จะเจองานหนัก
3. ไม่ต้องคอยหยอดน้ำมันบ่อยๆ ในหว่างตกปลา (เคยใช้ตัวนึงสีม่วง ต้องติดน้ำมันไว้ที่ตัวตลอด)
4. เบรคดีมาก

ลองมาระเบิดรอกดู

ald-001x (ภาพที่ 1) จากภาพจะเห็นรูปร่างหน้าตาของรอกบ้างนะครับ (ภาพอาจจะไม่ชัด) ผมเปลี่ยนเฉพาะน็อปเป็นของ ZPI เท่านั้น นอกนั้นเดิมๆ โดยรวมตัวรอกงานจากโรงงานนับว่าใช่ได้ ส่วนงานสีดีกว่าค่าย D แน่นอน ในราคาที่พอๆ กัน

 

ald-002x (ภาพที่ 2) ส่วนของมือหมุนเป็นสภาพที่ใช้งานมาแล้วปีกว่าๆ นะครับ ยังไม่มีสีปูดหรือรอยอะไรมากนัก มีคำว่า Mg7 แสดงอย่างชัดเจน ซึ่งหมายถึงรอกรอบ 7

ald-003

Advertisements
(ภาพที่ 3) ภาพอีกฝั่งของตัวรอก สามารถเปิดเพื่อบิดเปิดฝาสำหรับปรับเม็ดหน่วงได้ จากภาพจะแสดงให้เห็นตำแหน่งของสปูน และระบบหน่วงอย่างชัดเจน

 

ald-004 (ภาพที่ 4) การถอดรอกควรเริ่มจากการดึงสปูนออกมาก่อน ต้องถอดอย่างระวังนะครับ (สปูนใหม่แพงมาก) ผมเคยทำตก สปูนเสียหายง่ายมาก ส่วนวัสดุสร้างสปูนตามข้อมูลบอกไว้ว่าทำจาก Extra Super Duralumin เข้าใจว่าเป็นอลูมิเนียมชุบแข็งเกรดพิเศษ

 

ald-005

Advertisements
(ภาพที่ 5) ถอดชุดแขน ออกมาพร้อมกับชุดกดเบรคที่อยู่ใต้แขน วางเรียงไว้อย่างสวยงามกลัวใส่กลับผิด ที่เห็นเป็นแหวนเป็นทองแดง กับอลูมิเนียมนะครับ

 

ald-006 (ภาพที่ 6) พอถอดแขนออก จะเป็นไปดังภาพ และจะเห็นว่ารอกมีขนาดที่เล็ก ขนาดมือผมเล็กๆ ยังจับได้เกือบเต็มรอกนะครับ ในมุมนี้จะเห็นลูกปืนกันตีกลับตัวใหญ่ กับลูกปืนแกนสปูน (ถ้าจะเปลี่ยนลูกปืนก็เป็นตัวแกนสปูน)

 

ald-007 (ภาพที่ 7) ไขน็อตออก เอาฝาบนออกก่อน แล้วก็เอาลูกปืนสำหรับแกนสปูนออกครับ ส่วนลูกปืนกันตีกลับผมไม่เคยถอดออกตลอดสองปี ก็ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

 

ald-008 (ภาพที่ 8) ภาพห้องเครื่อง จะเห็นว่ามีเฟืองขนาดใหญ่มากที่ทำจากอลูมิเนียมสีขาว พร้อมแผ่นกดเบรคที่ทำจากอลูมิเนียมเช่นกัน (ตัวแผ่นกดจะพังเร็วกว่าเฟือง)

 

ald-009

Advertisements
(ภาพที่ 9) ถอดเฟืองหลักมาดู จะเห็นร่องรอยที่เกิดจากการใช้งาน โดยเฉพาะด้านหน้าจะเยอะ มันเกิดจากการกัดของผ้าเบรคครับ ส่วนด้านหลังไม่ค่อยจะเป็นอะไร

 

ald-010 (ภาพที่ 10) ลองเทียบขนาดของเฟืองกับเหรียญสิบดูครับ ส่วนอีกภาพแสดงฟันของเฟือง ถ้าจับแล้วรู้สึกคมๆ แสดงว่าเฟืองจะกลับบ้านเก่าแล้ว

 

ald-011 (ภาพที่ 11) ภาพแสดงแผ่นกดเบรคตัวใหญ่ที่ผ่านงานหนักมา 1 ปี (ตกปลาอาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้ง น้ำจืดน้ำกร่อย) สภาพก็อย่างที่เห็นครับ

 

ald-012 (ภาพที่ 12) กลับมาที่ภาพของใหม่บ้าง จะเห็นชุดเสาหลัก ที่ประกอบด้วยเฟืองหลัก ชุดเบรค พร้อมผ้าเบรค ซึ่ง Aldebaran ใช้ผ้าเบรคเพียง 2 ชิ้น แล้วแผ่นกดกับเฟือง (ตัวกดกับผ้าเบรคเป็นแบบแห้งนะครับ พยายามอย่าให้โดนน้ำมัน)

 

ald-013 (ภาพที่ 13) ถอดเสาออก ก็จะได้ภาพอย่างที่เห็น มีเฟืองทองเหลือง กับชุดกดฟรีสปูนที่ต้องถอดต่อ มันถูกล็อคไว้ด้วยน็อตเล็กๆ สองตัว ต้องถอดอย่างระวัง

 

ald-014 (ภาพที่ 14) ถอดออกมาก็จะได้ภาพอย่างที่เห็น

ald-015 (ภาพที่ 15) สำหรับฝาข้างจะถอดก่อน หรือหลังก็ได้ หรือจะไม่ถอดก็ยังได้ เพราะส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องถอดมาล้างเท่าไร แค่หยอดน้ำมันให้ลูกปืนก็พอแล้ว

 

ald-016 (ภาพที่ 16) ถอดชิ้นส่วนฝาข้าง ก็อย่างที่เห็นครับ ระวังด้วย มันมีแผ่นพลาสติกใสอยู่ด้วย

 

ald-017 (ภาพที่ 17) ต่อไปก็ต้องเอาชุดตัวเกลี่ยสายออก ตรงนี้ชิ้นส่วนเยอะ ให้ระวัง แต่ชุดนี้ใช้พังยากมากๆ ตรงตัวหนอนถ้าประกอบกลับไปอย่าใช้จารบีทาลงไป เพราะเป็นส่วนที่โดนน้ำกับเศษต่างๆ เกือบตลอดเวลา เพราะมันหันออกข้างนอก แถมไม่มีอะไรบังด้วย (ใช้มาไม่เคยพบปัญหาเกี่ยวกับตรงนี้เลย)

 

ald-018 (ภาพที่ 18) ถอดออกมาก็จะได้อย่างที่เห็น

 

ald-019 (ภาพที่ 19) ต่อไปถอดชุดกดฟรีสปูน มันจะมีน็อตล็อคอยู่ 1 ตัว ไขค่อนข้างยากนะครับ ระวังไปโดนบอดี้ด้วย

หลังจากถอดเสร็จ ก็ไม่มีอะไรมากแล้วครับ ที่เหลือก็ทำความสะอาด โดยปกติตัวบอดี้ สามารถเอาไปล้างน้ำ+น้ำยาล้างจานได้เลย แต่อย่าเอาไปตากแดดนะ ให้มันแห้งในร่ม แล้วก็ใส่จารบี + น้ำมัน ซึ่งขึ้นอยู่กับงานที่ใช้ ถ้าตกปลาเบาๆ ให้ใช้จารบีอ่อนจะดีกว่า ส่วนลูกปืนให้เป็นน้ำมันเท่านั้นครับ ..ตกปลากันให้สนุกครับ

 

เส้นทางสู่บัลลังก์รอกเบาที่สุดในโลก NEW Aldebaran 2015

Advertisements