5 สัตว์ป่าสงวนของไทย ที่คุ้มครองเมื่อสายเกินไป

ตอนนี้! ประเทศไทย มีสัตว์ป่าสงวนทั้งหมด 20 ชนิด โดยชนิดล่าสุดที่ได้รับการคุ้มครองก็คือ นกชนหิน (Rhinoplax vigil) และในบรรดาสัตว์ทั้ง 20 ชนิด มีอยู่ 5 ชนิด ที่ถูกใส่ในรายชื่อสัตว์ป่าสงวนช้าเกินไป นั้นเพราะพวกมันสูญพันธุ์ไปจากไทย หรือ อาจจากโลกใบนี้แล้ว และนี่คือเรื่องว่าของสัตว์ป่าทั้ง 5 ชนิด ...มีคลิปที่ท้ายเรื่อง

1. แรดชวา (Javan Rhinoceros)

Advertisements

แรดชวา เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย คาดว่าบนโลกใบนี้เหลืออย่างมากก็ 50 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทย แรดชวาถือว่าสูญพันธุ์ไปนานมากแล้ว เพราะแบบนี้การคุ้มครองแรดชวาในไทยจึงเป็นการคุ้มครองซากของพวกมัน และตอนนี้แรดชวาก็อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

สำหรับ แรดชวา หรือ ระมาด หรือ แรดซุนดา (Javan Rhinoceros) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ หนึ่งในห้าชนิดของแรดที่ยังเหลืออยู่ ลำตัวยาวประมาณ 300 เซนติเมตร และสูงประมาณ 170 เซนติเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ เหนือจมูกมีนอสั้นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าแรดทุกชนิดอยู่หนึ่งนอ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “แรดนอเดียว”

ในอดีตแรดชวาเป็นแรดเอเชีย ที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดในบรรดาแรดทั้งหมด พบตั้งแต่เกาะในอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียไปจนถึงจีน แต่ปัจจุบันแรดชวาถูกคุกคามจนเกือบไม่เหลือในป่า พบมีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังมีประชากรหลงเหลืออยู่ในป่า และยังไม่พบแรดชวาเลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์อีกด้วย

เหตุที่ประชากรของแรดชวาลดลงอย่างมาก เกิดจากการล่าเอานอ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าในการแพทย์แผนจีน ในตลาดมืดมันมีราคาสูงกว่า 1 ล้านบาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้การสูญเสียถิ่นอาศัย โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเวียดนาม ก็มีส่วนในการลดลงและยังขัดขวางการฟื้นฟูประชากรของแรดชวา

และแม้ในตอนนี้! ถิ่นอาศัยที่เหลืออยู่ จะได้รับการปกป้อง แต่แรดชวาก็ยังคงเสี่ยงต่อการถูกล่า โรคภัยไข้เจ็บ และการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งนำไปสู่การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน …หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปการสูญพันธุ์ของแรดชวาโดยสมบรูณ์ ก็จะขึ้นอยู่กลับเวลาแล้ว

2. กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis)

กระซู่ หรือ แรดขน พวกมันดูดีกว่าแรดชวาเล็กน้อย เพราะอย่างน้อยบนโลกนี้ก็ยังมีพวกมันเหลือเกือบร้อยตัว และยังพอที่จะได้เห็นในสวนสัตว์ด้วย แต่! กระซู่ก็เป็นสัตว์ป่าอีกชนิดที่ถือว่าสูญพันธุ์ไปจากไทยเป็นที่เรียกร้อย พวกมันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

กระซู่, แรดสุมาตรา (Sumatran rhinoceros) หรือ แรดขน (hairy rhinoceros) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยกระซู่ถือเป็น “สัตว์จำพวกแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก” และเป็นแรดเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล

กระซู่มีลักษณะเด่นตรงที่มี 2 นอ เหมือนแรดแอฟริกา แต่นอจะไม่ตั้งยาวขึ้น นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง โดยทั่วไปยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวมีขนหยาบและยาวปกคลุม เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 140 เซนติเมตร ยาวประมาณ 250 เซนติเมตร และหนักระหว่าง 500 – 800 กิโลกรัม

กระซู่จะอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าเมฆ ในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและจีน แต่ปัจจุบันกระซู่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ เหลือประชากรเพียงเล็กน้อย ในป่าหกแห่ง โดยสี่แหล่งอยู่ในสุมาตรา หนึ่งแหล่งในบอร์เนียว และอีกหนึ่งแหล่งในมาเลเซียตะวันตก …และในไทยสูญพันธุ์ไปแล้ว

3. กูปรี (Bos sauveli)

กูปรี เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายวัวหรือกระทิง พวกมันเป็นเหมือนสัตว์ป่าในตำนานของไทย ที่มักมีข่าวการพบเจออยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ! ด้วยเหตุนี้ ประวัติการพบเจอกูปรีในไทยจึงน่าสนใจมาก แต่ผมไม่ขอเล่าในส่วนนี้ หากต้องการดูแบบเต็มๆ สามารถกดดูที่ลิงค์ท้ายเรื่อง …และสำหรับกูปรี ก็คือว่าสูญพันธุ์ไปจากไทยแล้วเช่นกัน

กูปรี หรือ โคไพร (Kouprey) อยู่ในวงศ์วัวและควาย เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน ตัวผู้ มีขนสีดำ สูงประมาณ 190 เซนติเมตร ลำตัวยาวประมาณ 220 เซนติเมตร หนักระหว่าง 700 – 900 กิโลกรัม

Advertisements

ตัวผู้จะมีเขาที่โค้งเป็นวงกว้าง ที่ปลายเขาจะแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ขาทั้ง 4 ข้างมีถุงเท้าสีขาวเช่นเดียวกับกระทิงที่พบในไทย ในขณะที่ตัวเมียจะตัวเล็กกว่าตัวผู้ มีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา ทั้งนี้กูปรีที่ถูกกักขังตัวสุดท้ายของโลก อาจเป็นตัวที่อยู่ในสวนสัตว์ปารีสในปี พ.ศ. 2480 จากนั้นมันก็ตายลงในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับถิ่นอาศัยเดิมของกูปรีจะอยู่ที่ กัมพูชา ลาว ภาคตะวันออกของไทยและเวียดนาม พวกมันเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ที่มีป่าไม้บางส่วน ชอบกินหญ้าเป็นหลัก คาดว่ากูปรีจะชอบรวมกันเป็นฝูงประมาณ 20 ตัว และมักจะมีผู้นำฝูงเป็นตัวเมียเพียงตัวเดียว และยังพบว่ากูปรีชอบอยู่ปะปนกับฝูงควายป่าหรือแม้แต่กับกระทิง …ปัจจุบันกูปรีอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

4. สมัน (Rucervus schomburgki)

Advertisements

สมัน หรือ เนื้อสมัน (Schomburgk’s deer) พวกมันเป็นสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นที่เคยอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น แน่นอนว่าพวกมันเคยมีอยู่มากมายแม้ในพื้นที่กรุงเทพ แต่ปัจจุบันสมันได้สูญพันธุ์ไปโดยสมบรูณ์ คงเหลือเพียงซากและภาพถ่ายเก่าๆ เพียงไม่กี่ใบเท่านั้น

สมันมีความยาวประมาณ 180 เซนติเมตร สูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ประมาณ 110 เซนติเมตร หนักระหว่าง 100 – 120 กิโลกรัม สมันจัดเป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็วมาก ซึ่งอาจเร็วถึง 100 กิโลเมตต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ สมันมีขนสีน้ำตาลเข้ม ขนที่ท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางเป็นสีขาว มีลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ แลดูสวยงาม จึงได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก

และหากมองจากความเร็วของสมัน มันจึงเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่มนุษย์ในสมัยนั้นจะจับสมันได้ง่ายๆ แต่! เพราะสมันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทุ่งโล่งกว้าง ประกอบกับกิ่งก้านของเขาที่สวยงามของมัน พวกมันไม่สามารถหลบหนีเข้าป่าทึบได้ เพราะถ้าเข้าไป ก็จะไปติดพันกับกิ่งไม้ …จนถูกจับตัวได้ในที่สุด

แถมสมันไม่ค่อยระวังตัว พวกมันมักจะถูกหลอกอยู่บ่อยๆ โดยในอดีต ชาวบ้านจะล่าสมันด้วยการสวมเขาปลอมที่เป็นตัวผู้ เพื่อล่อตัวเมียออกมา จากนั้นจึงใช้ปืนหรือหอกจัดการ ด้วยความที่หลอกง่าย จึงเป็นจุดจบของสมันเช่นกัน

สำหรับสมันตัวสุดท้ายของโลก คือสมันตัวผู้ที่ถูกเลี้ยงในสวนสัตว์เบอร์ลิน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2442 และตายลงไปในวันที่ 7 กันยายน ปี พ.ศ. 2454 ในขณะที่สมันตัวสุดท้ายของไทย ตายในปี พ.ศ. 2481

5. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae)

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์ที่เข้าใจยากที่สุด นั้นเพราะนกชนิดนี้พบได้ที่บึงบอระเพ็ดเฉพาะหน้าหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก ไม่มีแม้แต่ภาพตัวเป็นๆ นกที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เคยพบมานาน และมันก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ด้วยเหตุนี้ข้อมูลของ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ส่วนใหญ่จึงเป็นการอนุมาน ข้อมูลที่แท้จริงจึงยังไม่แน่นอน และอาจไม่มีวันเข้าใจมากไปกว่านี้ ส่วนสถานะปัจจุบันยังอยู่ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง หรือ นกนางแอนบึงบอระเพ็ด (White-eyed River-Martin) จัดเป็นนกที่อยู่ในสกุลของนกนางแอ่นแม่น้ำ โดยนกชนิดนี้เป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจรดหางประมาณ 13 เซนติเมตร ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 เซนติเมตร

Advertisements

ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณสะโพกมีสีขาว บริเวณหลังมีสีดำเหลือบสีน้ำเงินหรือเขียวเข้ม หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลม ขนคู่กลางมีแกนยื่นยาวออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร และที่ปลายจะแผ่เล็กน้อย

ในอดีตชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากที่บริเวณขอบตาของนกมีวงสีขาวล้อมรอบ จนดูเป็นขอบตาสีขาวกลมๆ พองๆ ที่เห็นได้เด่นชัดเจน มีนัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่มีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ก็ไม่ทราบเช่นกัน …เป็นนกที่ไม่พบในไทยมานานมากๆ จึงเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements