มารู้จัก ‘สกุล’ ของปลากระดี่และปลาสลิดกัน
ปลากระดี่และปลาสลิด ที่อยู่ในสกุล Trichopodus (ไตรโคโพดัส) มีทั้งหมด 6 ชนิด แต่ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด และหนึ่งในนั้นก็คือ “ปลาสลิด” ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของคนไทย
โดยปลาในสกุลนี้จะมีลำตัวที่แบนข้าง เกล็ดค่อนข้างเล็ก และยังสามารถหายในเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง จึงเป็นปลาที่สามารถอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีออกซิเจนที่ต่ำได้
วิธีการผสมพันธุ์ของปลาในสกุลนี้คือ จะมีการก่อหวอดบริเวณเศษหญ้าหรือพืชน้ำชนิดต่าง ๆ และให้ปลาเพศผู้เฝ้าเอาไว้ ซึ่งจะคล้ายกับปลากัด แต่หวอดจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ซึ่งหวอดอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร
ปลาในสกุลนี้ถือเป็นปลาที่หาได้ง่าย พบเห็นได้ทั่วไป จริงๆ แล้วมันเกือบจะเทียบเท่ากับปลาหมอไทยเลยด้วยซ้ำ จึงเป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างช้านาน และชื่อของปลากระดี่ก็ถูกนำมาใช้ตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เช่น บางกระดี่ หรือคำพังเพยเช่น ปลากระดี่ได้น้ำ เป็นต้น
นอกจากสกุลปลากระดี่-ปลาสลิด ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ ในประเทศไทยยังอาจมีอีกสกุลที่พบในธรรมชาติ คือ สกุลที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster (ไตรโคแกสเตอร์)
ลักษณะของปลาในสกุลนี้คล้ายกับสกุล Trichopodus (ไตรโคโพดัส) แต่โดยรวมแล้วปลาในสกุลไตรโคแกสเตอร์ จะต่างจากสกุลไตรโคโพดัส ตรงที่มีลำตัวป้อมสั้น ปากทู่ และมักจะมีสีสันที่สวยงามกว่า และสามารถหายใจเอาอากาศได้โดยตรงเช่นกัน โดยปลาในสกุลนี้มีทั้งหมด 4 ชนิด แต่เคยพบในประเทศไทยเพียง 1 ชนิดเท่านั้น
ชนิดที่ 1 – ปลากระดี่นาง – Trichopodus microlepis
ปลากระดี่นาง (Moonlight gourami) เป็นปลากระดี่ขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวสีเงินวาว ในปลาบางตัวจะมีแถบสีเทาเรื่อๆ พลาดผ่านกลางลำตัว พบได้ในแหล่งน้ำจืด ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย
เป็นปลาที่พบเห็นได้ยากกว่าปลากระดี่หม้อ เนื่องจากต้องการน้ำที่สะอาดกว่า แต่จะพบเห็นได้ง่ายหากเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสม ในพื้นที่ภาคอีสานนิยมบริโภคโดยปรุงสดหรือทำปลาร้า ปลาแห้ง นอกจากนี้ยังมีการนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
ชนิดที่ 2 – ปลากระดี่หม้อ – Trichogaster trichopterus
ปลากระดี่หม้อ เป็นปลากระดี่ที่มีลักษณะคล้ายกับปลากระดี่นาง มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร เคยพบใหญ่สุดที่ 15 เซนติเมตร ปลากระดี่หม้อ มีลำตัวแบนข้าง เกล็ดสีเงินหม่น มีจุดสีดำกลางลำตัวและโคนหางตำแหน่งละจุด มีลายบั้งเฉียงจางๆ ตลอดทั้งตัว เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทุกภาคของประเทศไทย
ปลากระดี่หม้อเป็นปลาที่มีสีสันที่หลากหลาย ซึ่งต่างออกไปตามพันธุกรรมและถิ่นอาศัย เช่น ปลาที่พบในพื้นที่ภาคใต้จะมีลำตัวสีฟ้าเข้มกว่าปลาที่พบในที่อื่น และยังมีปลาที่นำไปพัฒนาสายพันธุ์ให้มีพื้นลำตัวสีฟ้าและเหลือง ที่เรียกว่า “ปลากระดี่นางฟ้า” หรือ “ปลากระดี่เหลือง”
ชนิดที่ 3 – ปลากระดี่มุก – Trichopodus leerii
ปลากระดี่มุก เป็นปลาที่ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่กระดี่มุกมีลำตัวกว้างกว่าเล็กน้อย ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นมีขนาดใหญ่และมีก้านครีบอ่อนยาวเป็นเส้นริ้ว ลำตัวมีลายสีขาวคล้ายมุกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วตัว อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ส่วนคางและท้องจะมีสีส้ม
ในตอนนี้ ปลากระดี่มุก ถือเป็นปลาที่หาได้ยากในธรรมชาติ พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ชอบอาศัยในน้ำนิ่ง นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการเพาะขยายพันธุ์ในฟาร์ม
ชนิดที่ 4 – ปลาสลิด – Trichopodus pectoralis
ปลาสลิด เป็นปลาน้ำจืดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดาปลากระดี่และปลาสลิดของไทย และยังตัวใหญ่ที่สุดในสกุลนี้อีกด้วย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีดำพาดผ่านลำตัวตามแนวนอน และมีลายเฉียงพาดไม่เป็นระเบียบซึ่งแลดูคล้ายหนังงู ทำให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Snakeskin Gourami (สเน็กสกิน โกลลามิ) หรือ ปลาสลิดหนังงู
ปลาสลิดชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งหรือตามแม่น้ำลำคลองที่ในบริเวณน้ำนิ่ง เป็นปลาที่คนไทยนิยนนำมาประกอบอาหาร และยังมีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ปลาสลิดเป็นปลาที่เลี้ยงได้ค่อนข้างง่าย เลี้ยงในบ่อน้ำตื้นที่มีพืชพันธุ์ขึ้นหนาแน่น จนดูไม่เหมือนบ่อปลา ซึ่งจะเรียกว่า “นาปลาสลิด”
เมื่อพูดถึงปลาสลิด คนไทยก็มักนึกถึงชื่อ “ปลาสลิดบางบ่อ” โดยปกติคนไทยมักจะเห็นปลาสลิดในสภาพถูกตัดหัวแล้วนำไปทาเกลือตากแดด ซึ่งเหมาะที่จะนำมาทอด และเพราะเหตุนี้คนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นหัวของปลาสลิดเลย
ชนิดที่ 5 – ปลากระดี่พม่า – Trichogaster labiosus
ปลากระดี่พม่า เป็นปลากระดี่อีกชนิดที่พบได้ในประเทศไทย แต่จะอยู่ในสกุล Trichogaster (ไตรโคแกสเตอร์) ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวที่เคยมีรายงานการพบในไทย โดยปลากระดี่พม่า เป็นปลาขนาดเล็ก ซึ่งยาวได้เพียง 5 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลแดง มีบั้งสีฟ้าดูไม่เป็นระเบียบประมาณ 8 – 10 บั้ง ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งโดยเฉพาะบริเวณที่มีพืชน้ำขึ้นค่อนข้างหนาแน่น
สำหรับปลากระดี่พม่า เป็นปลาที่มีโอกาสพบในธรรมชาติประเทศไทยต่ำมาก รายงานการพบปลาชนิดนี้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยคุณกิติพงศ์ จารุธานินทร์ เป็นปลาจากบริเวณสบเมย คาดว่าจะเป็นปลาที่ถูกน้ำพัดมาลงในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งไม่ใช่ถิ่นที่อยู่หลักของปลาชนิดนี้ …จึงอาจไม่สามารถนับปลาชนิดนี้เป็นปลาที่พบได้ในไทย แต่ถึงอย่างงั้นก็อยากเอามาแนะนำให้รู้จักกัน
ใครคือคนเริ่มเลี้ยงปลาสลิดที่บางบ่อ
เมื่อปี พ.ศ.2508 นายผัน ตู้เจริญ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสลิดดีเด่น ในครั้งนั้นนายผันได้จัดชลอมปลาสลิดหอมจากอําเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นทูลเกล้าถวาย
ลักษณะปลาสลิดของนายผันมีความพิเศษ คือ เป็นปลาสลิดหอมผิวสีเหลืองนวล ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งสอบถามความเป็นมาของปลา และเมื่อทรงทราบรายได้อันงดงามจากการเพาะเลี้ยงปลาสลิดขาย จึงได้พระราชทานชื่อบ่อเลี้ยงปลาสลิดแก่นายผันว่า “บ่อปลาสลิดทอง”
ย้อนกลับไปในอดีตอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เดิมเป็นพื้นที่ดินเค็ม จนในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดโครงการชลประทานประตูกั้นน้ำทะเลที่ปากแม่นํ้าบางเหี้ย หรือที่เรียกกันว่า คลองด่าน จึงทำให้กลายเป็นที่ดินที่เหมาะแก่การปลุกข้าว
ทำให้ชาวอำเภอบางบ่อและพื้นที่ใกล้เคียงหันมาประกอบอาชีพทำนา และมีรายได้เสริมโดยการปล่อยให้ปลาเข้ามาในที่นาจากนั้นก็ทำคันดินล้อมไว้ ให้ปลาโตเองตามธรรมชาติ โดยปลาที่มุ่งหวังจะเป็น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาสลิด เมื่อถึงช่วงเวลาเกี่ยวข้าวก็จะจับปลามาตากแห้งขาย
จนหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ก็เริ่มมีโรคระบาดจากเชื้อรา หนอน แมลง หนู ที่เป็นศัตรูข้าว ทำให้ปลูกข้าวไม่ค่อยดี จนประสบปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
จนวันหนึ่งนายผัน ชาวนาอำเภอบางบ่อ มีความคิดที่จะคัดเลือกปลาสลิดจากคลองมาเพาะเลี้ยง โดยนายผันจะไปตามคลองต่างๆ ตั้งแต่ คลองสําโรง คลองด่าน บางโฉลง หัวตะเข้ เที่ยวดักลอบดักข่ายเพื่อเสาะหาพ่อแม่พันธุ์ปลาสลิดชั้นดี จากนั้นนายผันก็พยายามศึกษาพันธุ์ปลาสลิดอย่างจริงจัง โดยแบ่งที่นา สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อคิดหาวิธีเพาะเลี้ยงที่ดี
แต่ความคิดในการเลิกอาชีพทํานาที่ทำกันมาแต่โบราณ ก็ทำให้ชาวบ้านโจษขานกันไปต่างๆ นานๆ จนได้รับฉายาว่า “ตาผันบ้า” จนถึงปี พ.ศ. 2500 นายผันก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อเขาเปลี่ยนที่นาทั้งหมดที่มีอยู่ ให้กลายเป็นบ่อเลี้ยงปลาสลิด และมันก็ได้ผลเกิดความคาดหมาย เมื่อนายผันจับปลาและได้จับเงินแสนเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งถือเป็นเงินที่เยอะมากในสมัยนั้น จากนั้นก็มีชาวบ้านเลี้ยงตามนายผันอีกมากมาย…และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปลาสลิดบางบ่อ
ความจริงแล้ว ปลาสลิดบางบ่อที่เห็นกันในตอนนี้ ดีไม่เท่าปลาสลิดในอดีต ที่ได้ชื่อ “ปลาสลิดทอง” เนื่องจากทำกันแบบต่างคนต่างเลี้ยง จนทำให้ปลาเหล่านี้ค่อยๆ กลายพันธุ์ จนแทบไม่เหมือนปลาสลิดทองให้เห็น ที่เห็นตอนนี้ก็เป็นปลาสลิดตัวดำมีลายเฉียงคล้ำ อย่างที่เห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน