5 ปลาปักเป้าน้ำจืด ที่อาจกัดคนเล่นน้ำตามธารน้ำไหลได้ (ปลากัดโปรดอย่าโทษปลา)

ปลาในวงศ์ปลาปักเป้าทุกชนิดถือเป็นปลาที่น่าสนใจอย่างมาก หากนับเฉพาะปลาปักเป้าน้ำจืดมันก็มีเป็นสิบชนิด แต่ในเรื่องนี้จะเน้นไปที่ปลาปักเป้าน้ำจืดแท้ๆ ที่อาศัยอยู่ในคลองหรือธารน้ำไหล ซึ่งช่วงนี้ก็เพิ่งจะมีข่าวที่นักท่องเที่ยวโดนสัตว์กัดซะเนื้อแหวง หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแหล่งน้ำแบบนี้มีปลาปักเป้าอาศัยอยู่ด้วยหรือ? จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนโดนปลาพวกนี้กัด ผมเองยังคิดว่าเกิดน้อยเกินไปด้วยซ้ำ อาจเพราะปลาปักเป้าน้ำจืดลดจำนวนลงไปมาก เลยทำให้มีคนโดนกัดน้อยลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับคนชอบปลาอย่างผม เพราะมันหมายความว่า ปลาปักเป้าน้ำจืดกำลังจะหายไปอีกชนิด ...ต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับปลาปักเป้าน้ำจืดที่เจอได้ตามธารน้ำไหล ...เริ่มกันเลย

ปลาปักเป้าน้ำจืด

ปักเป้าน้ำจืดมีชนิดที่กินได้หรือไม่? และมันกัดเราทำไม?

Advertisements

เรื่องนี้ผมถูกถามบ่อยมากๆ เกี่ยวกับปลาปักเป้าน้ำจืด “ชนิดไหนกินได้” เนื่องจากมีสื่อจำนวนมากชอบเขียนประมาณว่า หลายชนิดที่กินได้ แต่ดันไม่บอกว่าชนิดไหนกันแน่ ซึ่งบอกตรงๆ ที่พวกเขาไม่เขียนก็เพราะไม่รู้ พวกเขาแค่เคยได้ยินมาเฉยๆ

จริงๆ แล้ว ปลาในวงศ์ปลาปักเป้าไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ให้ตีตราไว้เลยว่าไม่ควรกิน เพราะหากคุณพลาดมันก็อาจถึงตายได้ มีผู้เชี่ยวชาญเคยตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ว่า “ปลาปักเป้าน้ำจืด” ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลจะไม่มีพิษ ส่วนชนิดที่อยู่ในแหล่งน้ำนิ่งจะมีพิษ แต่!! ถึงอย่างงั้น จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ เพราะความไม่แน่นอนนี้ จึงขอให้เลิกคิดจะกินมันไปเลยดีที่สุด

ส่วนเรื่องที่ว่าปลาปักเป้ากัด ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะปลาพวกนี้ก้าวร้าวอยู่แล้ว หากในแหล่งน้ำมีปลาพวกนี้อยู่ชุกชุม ก็จะมีโอกาสโดนกัดสูง สมัยก่อนมีคนโดนกัดหูแหวงบ่อยๆ

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมและเพื่อนเดินตกปลาในธารน้ำไหลที่นครนายก ซึ่งลึกแค่หน้าแข้งก็โดนกัดเหมือนกัน ยังดีที่ไม่ถึงกับเลือดตก คาดว่าเพราะเดินไปแถวรังของปลาปักเป้าพอดี ซึ่งปกติจะเป็นช่วงฤดูแล้งและปลายฤดูฝน …และก็ตรงกับช่วงที่คนไปเที่ยวเล่นน้ำเยอะเป็นพิเศษพอดิบพอดี

แล้วก็มีเรื่องอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ด้วยว่า เป็นอะไรกันมากหรือเปล่า ปลากัดแค่ไม่กี่ทีก็ยกพวกมากวาดล้างปลาปักเป้า ทั้งใช้มอง ดำน้ำเสียบ ใช้ทุกวิธีเพื่อกำจัดปลาพวกนี้ …ให้ความเป็นธรรมปลาปักเป้าพวกนี้ด้วยครับ …ต่อไปมาดูปลาปักเป้าน้ำจืดที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาปักเป้าจุดส้ม – Pao abei

ปลาปักเป้าจุดส้ม หรือ ปลาปักเป้าอาเบะ เป็นปลาปักเป้าน้ำจืด ในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodontidae) ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างยาว ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน มีจุดส้มหรือแดงกระจายอยู่ทั่วไป และมี 1 – 2 จุด ที่มีขนาดใหญ่และโดดเด่นอยู่บริเวณใต้ครีบหลัง

Advertisements

เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าวและหวงถิ่นมาก ชอบกัดกินเกล็ดหรือครีบของปลาชนิดอื่น จึงไม่แปลกหากมันจะลองกัดส่วนใดส่วนหนึ่งของคนเล่นน้ำ พบอาศัยอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำไหล ตั้งแต่ภาคกลางตอนล่าง จนถึงภาคเหนือและภาคอีสาน …ไม่มีการพูดถึงพิษของปลาปักเป้าจุดส้ม แต่ถึงอย่างงั้นก็ไม่ควรลอง

ชนิดที่ 2 – ปลาปักเป้าโคชิน – Pao cochinchinensis

ปลาปักเป้าโคชิน ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่หลากหลาย ตั้งแต่ในแม่น้ำ หนองบึง รวมถึงธารน้ำไหล แม้แต่ใกล้น้ำตกก็อาจเจอมันได้ จึงเจอได้บ่อยกว่าปลาปักเป้าจุดส้ม แถมยังอาศัยในพื้นที่เดียวกันด้วย

ปลาปักเป้าโคชิน เป็นปลาที่มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว มีลายที่เหมือนร่างแหสีเทาอ่อนทั่วตัว ปากยื่นไปด้านหน้าและเชิดขึ้นเล็กน้อย เป็นชนิดที่มีรายงานการกัดคนที่ลงไปเล่นน้ำค่อนข้างบ่อย คาดว่าเป็นเพราะเพศผู้ที่กำลังเฝ้ารังในช่วงฤดูแล้ง หากโดนกัดรอยแผลจะเป็นทรงกลมขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร

ชนิดที่ 3 – ปลาปักเป้าบึง – Pao palustris

Advertisements

ปลาปักเป้าบึง ถือเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดชนิดใหม่ ที่เพิ่งได้รับการอธิบายเมื่อปี ค.ศ. 2013 มีบางรายงานบอกว่าปลาชนิดนี้กินได้ แต่สุดท้ายก็บอกว่าอย่าจับกินสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเคยมีข่าวชาวบ้านกินปลาปักเป้าชนิดนี้ ซึ่งจับได้จากแหล่งน้ำในจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และจากลำน้ำเสียว จังหวัดมหาสารคาม จนได้รับพิษ บางคนมีอาการสาหัสและมีคนเสียชีวิตด้วย

Advertisements

ปลาปักเป้าบึง ยาวได้ประมาณ 12 เซนติเมตร มีลำตัวกลมคล้ายไข่ไก่ ลำตัวสีเขียว มีจุดสีน้ำตาลทั่วตัว ปากไม่ยื่นยาว ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง โดยเฉพาะในบึงน้ำใส ไม่ชอบอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ เป็นปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น …เป็นปลาที่มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะพบในธารน้ำไหล

ชนิดที่ 4 – ปลาปักเป้าดำ – Pao leiurus

ปลาปักเป้าดำ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีรูปร่างและสีคล้ายกับปลาปักเป้าโคชิน จนบางแหล่งข้อมูลอาจสลับชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดชนิดนี้ โดยเฉพาะเมื่อนำชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาปักเป้าโคชินไปหาใน google จะพบว่าเป็นชื่อปลาปักเป้าดำ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดกันไป

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ปลาปักเป้าดำ กับ ปลาปักเป้าโคชิน คือ ปลาปักเป้าดำจะไม่มีลายที่ส่วนคางและท้อง และเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทางภาคใต้ของประเทศไทย

ชนิดที่ 5 – ปลาปักเป้าหางวงเดือน – Leiodon Cotcutia

ปลาปักเป้าหางวงเดือน เป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่อยู่ในสกุล Leiodon (เลโอดอน) ซึ่งต่างจาก 4 ชนิดที่พูดไปก่อนหน้า และปลาปักเป้าในสกุลนี้ก็มีเพียงชนิดเดียว เป็นปลาที่พบในแหล่งน้ำที่ยากจะเข้าถึง เช่นในลุ่มแม่น้ำกษัตริย์ สุริยะ และตะนาวศรีตอนล่าง

ปลาปักเป้าหางวงเดือน มีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร จึงเป็นปลาปักเป้าที่ดูตัวเล็กและน่ารัก ลำตัวมีสีเขียวอมน้ำตาล คลุมด้วยลายตาข่ายทั่วทั้งตัว มีจุดสีน้ำตาลจางๆ บริเวณส่วนหลังของลำตัว ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการกินปลาชนิดนี้ และมีโอกาสต่ำที่มันจะกัดคน เพราะแม้จะอาศัยในแม่น้ำและธารน้ำไหล แต่ก็ยังถือว่าพบเจอได้ยากอยู่ดี

นอกจากปลาปักเป้าจืดทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวถึง ยังมีชนิดอื่นอย่าง ปลาปักเป้าขน ที่ค่อนข้างดุ แต่เพราะมีประชากรที่น้อยเลยขอเก็บไว้พูดรวมๆ ที่หลัง และยังมีปลาปักเป้าเขมร ปลาปักเป้าควาย ปลาปักเป้าปากดำ ซึ่งน่าจะเป็นชนิดที่หายากที่สุดในปลาปักเป้าน้ำจืดที่พบในไทย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements