ปล่อยปลาทำบุญของคุณ เป็นการทำทัณฆ์หรือทำทานกันแน่

ปล่อยสัตว์น้ำถือเป็นการทำทานแบบหนึ่งของคนไทยมาแต่โบราณกาล การปล่อยสัตว์น้ำแต่ละชนิดยังมีคำอธิบายหรือจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ปล่อยปลาไหลขอให้ทุกข์โศกโรคภัยไหลไปจากเรา ปล่อยปลาช่อนให้เป็นช้อนเงินช้อนทองส่งโชคลาภให้ย้อนกลับมา ปล่อยหอยขมก็ขอให้ทุกข์ตรมขมขื่นลอยจากไป ปล่อยเต่าไปก็ขอให้อายุยืนหมื่นปี หมื่นๆ ปี เป็นต้น

ทำไมจึงไม่ควรปล่อยปลาทำบุญ?

Advertisements

สิ่งสำคัญแรกเลยคือ ในยุคนี้แหล่งน้ำไม่เป็นเหมือนสมัยก่อน แหล่งน้ำแต่ละแหล่งรองรับสัตว์น้ำได้จำกัด หากคุณปล่อยปลาเพิ่มลงไป มันไม่ได้ช่วยให้ปลาเพิ่มขึ้น แต่มันจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ตบตีกับวุ่นวาย ปลามากมากมายจะตายไป และสุดท้ายจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ธุรกิจปล่อยสัตว์น้ำเพื่อทำทาน นั้นผิดมาตั้งแต่แนวคิด ในเมื่อสัตว์น้ำพวกนี้ก็อยู่ของมันดีๆ แล้วทำไมต้องไปจับพวกมันขัง เพื่อรอคนใจบุญมาจ่ายเงินเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แน่นอนว่าในระหว่างการรอคอย พวกมันก็อยู่กันเบียดเสียดและแออัด หลายชีวิตก็สิ้นใจไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้ปล่อย แบบนี้ยังคิดว่าจะได้รับผลบุญจากการสนับสนุนธุรกิจนี้จริงเหรอ?

ในขั้นตอนของการปล่อยสัตว์น้ำเพื่อทำบุญส่วนใหญ่ มักจะมีจุดบริการจำหน่ายสัตว์น้ำเพื่อรอปล่อย ซึ่งก็เป็นพวกท่าน้ำ วัด หรือที่ๆ เป็นแหล่งชุมชุนผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ที่แย่ๆ เลยคือปล่อยตรงท่าเรือ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นบริเวณน้ำลึกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ห่างไกลจากบริเวณน้ำนิ่ง

สัตว์น้ำที่มักซื้อมาปล่อยเพื่อทำบุญอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “ปลาไหล” ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยในบริเวณน้ำตื้นเขินและมีดินโคลน แต่ปลาไหลเกือบ 100% จะถูกปล่อยในแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม ปลาไหลจะสู่แรงน้ำไม่ไหว มันจำเป็นต้องขึ้นมาฮุบเอาอากาศ แต่เพราะน้ำลึกเกินไป มันก็จะขึ้นมาไม่ไหวเช่นกัน และสุดท้ายพวกมันเกือบ 100% ที่ปล่อยไปจะตาย …อย่างนี้ยังเรียกทำบุญอีกหรือเปล่า?

เต่านา เป็นสัตว์อีกชนิดที่ผมคิดว่า บ้ามากที่เอามาปล่อยในแม่น้ำ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเต่านาเป็นสัตว์เลื้อยคลานไม่ใช่สัตว์น้ำ และถึงมันจะว่ายน้ำได้ แต่มันก็ไม่ได้ว่ายน้ำเก่งขนาดนั้น พวกมันต้องการหาดเพื่อขึ้นมาพักเหนื่อย แน่นอนมันไม่ชอบน้ำลึก แถมหย่อนลงน้ำลับหลังไม่ทันไร ก็มีเด็กว่ายน้ำไปจับมันกลับมารอผู้ใจบุญคนถัดไปมาปลดปล่อยมันไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายมันก็ตาย…เห็นแล้วก็เศร้าใจ

ด้วยความที่มันเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตามผลกำไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แล้วทำยังไงให้ได้กำไรมากขึ้น ก็ต้องเลือกสินค้าที่อดทน ทนทาน เสียหายยากมาให้ลูกค้าได้เลือกสรร แล้วก็ตั้งชื่อตั้งวัตถุประสงค์ให้มันเก๋ไก๋ อย่างเช่น ปลาซักเกอร์ก็กลายเป็นปลาราหู ปล่อยสะเดาะเคราะห์ซะงั้น

และต้องบอกว่าสินค้าทนทานเกือบทั้งหมด เป็นเอเลี่ยนสปีชีย์ อย่างเช่น ดุกบิ๊กอุย เต่าญี่ปุ่น ปลาซักเกอร์ ปลานิล ปลาหมอคางดำ ไม่เห็นมีใครเอาปลาซิวปลาสร้อยมาให้ปล่อยกันเลย..?

โดยบางช่วงจะมีคนบ้าหรือไม่รู้จริงๆ ที่ไปเหมาปลาดุกหน้าเขียงมาปล่อย เป็นตันๆ หรือเลือกตัวเลขสวยๆ จากนั้นก็ถ่ายรูปมาให้คนด่า …พอทัวร์ลงก็หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์

Advertisements

แล้วทำไมคนจึงด่า? นั้นเพราะปลาดุกหน้าเขียง 99.9% เป็นพันธุ์ผสม และเรื่องปล่อยปลาดุกก็ไม่ใช่แค่คนไทย กรณีล่าสุดก็มีคนจีน จัดทำบุญใหญ่ในประเทศจีน ปล่อยปลาดุก 12.5 ตันลงแม่น้ำ สุดท้ายปลาตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาถึง 10 วันเพื่อตามเก็บปลา จากนั้นโดนสั่งปรับไปครึ่งล้าน และแม้เธอจะโดนปรับ แต่ก็ยังไม่สำนึก เพราะเธอกล่าวว่า “ฉันตั้งใจจะทำความดีทำไมฉันต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายด้วย”

สัตว์น้ำที่แข็งแกร่งเหล่านี้ อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และเมื่อมันพาตัวเองให้รอดไปได้ มันก็จะเป็นหายนะสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พวกมันจะแย่งชิงอาหาร หรือกินสิ่งมีชีวิตอื่นที่อ่อนแอกว่า ดังนั้นสัตว์น้ำพวกนี้ก็ไม่ต้องคิดเอาไปปล่อยเลย ถ้าปล่อยแล้วไม่ตายมันก็จะไปทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นตายแทน

การปล่อยสัตว์น้ำนั้นไม่ได้ง่าย ไม่ใช่แค่คุณไปในที่ๆ มีน้ำแล้วก็โยนพวกมันลงไปก็จบ หากคุณไม่รู้อะไรหรือไม่คิดอะไรมันก็อาจง่าย แต่หากคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ มันก็จะไม่ง่ายอีกต่อไป

ลองนึกถึงปลาตะเพียน ปลาสวายที่ว่ายกันขวักไขว่ที่ลานน้ำหน้าวัด หรือตามท่าน้ำที่มีคนคอยสาดอาหารเลี้ยงมันอยู่เสมอ พวกนี้แม้จะเป็นปลาพื้นเมืองแต่ก็เป็นรุ่นน้องของเอเลี่ยนสปีชีย์เช่นกัน และหลายคนอาจไม่รู้ว่าปลาสวายปลาตะเพียนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาปล่อย

ตะเพียนกับสวายนั้นว่ายน้ำเร็วแถมตัวใหญ่ ลองนึกดูดีๆ ว่าแหล่งน้ำดั้งเดิมตามท่าเรือย่อยในคลองเล็กคลองน้อย สมัยก่อนมีปลาหมอ ปลาซิว ปลาสร้อย สารพัดปลาและรวมถึงลูกปลา หลังจากผู้ใจบุญเอาสวายกับตะเพียนมาปล่อย สัตว์น้ำชนิดอื่นก็แย่งอาหารกินไม่ทันแล้วก็สูญพันธุ์จากแหล่งน้ำจุดดังกล่าว นี่คือการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

ต่อให้เราคัดเลือกสัตว์น้ำที่ไม่รุกรานสัตว์น้ำอื่นใด ก็ยังต้องคิดเรื่องปริมาณในการปล่อยอีก สมมติเรานำเอากระดี่หนึ่งพันตัวเทตู้มลงไปในท่าน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง เดิมทีประชากรกระดี่มีหนึ่งร้อยตัวพอเราปล่อยเสร็จก็จะกลายเป็นหนึ่งพันหนึ่งร้อยตัว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นดังที่พูดเอาไว้ต้นเรื่องคือ อาหารของปลากระดี่จะขาดแคลน ถ้าปกติกระดี่กินแมลง เอ (นามสมมติ) แมลงดังกล่าวก็จะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่โดนแมลงเอกินให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ประมาณว่า เย่ !! แมลงเอไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครมากินตูแล้ว สุดท้ายระบบนิเวศก็กระทบอยู่ดี ดังนั้นจำนวนในการปล่อยก็ต้องนำมาพิจารณา

Advertisements

มาถึงตรงนี้ ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมหรือเปล่า “เลิกเถอะ! ปล่อยปลาทำบุญเนี่ย” และถ้าเรื่องนี้ไปขัดหูขัดตาหลายๆ คนก็ต้องขออภัยด้วย แต่ผมว่าหากคิดจะทำบุญหรือช่วยชีวิตสัตว์ สู้เอาเงินไปบริจาคให้กับองค์กรอนุรักษ์ทั้งหลายที่เค้าทำงานกันจริง อย่างเช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นก หรือ กองทุนช่วยผู้พิทักษ์ป่า อะไรประมาณนี้ คิดว่าจะได้ประโยชน์กว่า

อ้างอิงงานเขียนจาก เพจ Thai Fish Shop

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มาThai Fish Shop