ชนิดที่ 1. ปลากราย (Chitala ornata)
เมื่อนึกถึงลูกชิ้นปลา หรือ เมื่อพูดถึงปลาในวงศ์นี้ ปลากราย (Clown Featherback) จะเป็นปลาชนิดแรกที่คนไทยจะต้องนึกถึง อาจเพราะพบได้มากที่สุด หรืออาจเพราะทอดมันและลูกชิ้นปลากรายอร่อยก็เป็นได้
ปลากรายเป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1 เมตร แต่โดยทั่วไปยาวครึ่งเมตร มีปากกว้างมาก มุมปากจะอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนจะมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่เมื่อโตขึ้นลายจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้น โดยจุดจะมีตั้งแต่ 3 – 20 ดวง ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว
ชนิดที่ 2. ปลาสลาด (Notopterus notopterus)
ปลาสลาด (Bronze Featherback) เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยปกติจะยาว 20 เซนติเมตร หรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อย มันมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลากราย แต่จะเล็กกว่ามาก และยังมีสีที่เรียบ แต่หากเป็นวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากรายวัยอ่อน ….ในอดีตเป็นปลาที่พบได้มากมายในเกือบทุกแหล่งน้ำจืดทั่วไทย
ชนิดที่ 3. ปลาซิวแก้วอีสาน (Clupeichthys aesarnensis)
ปลาซิวแก้ว (Thai river sprat) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร อยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) มีรูปร่าง เพรียวยาว ตัวใส ที่ริมฝีปากมีขากรรไกรเป็นแผ่นแบน เกล็ดบางมากและหลุดร่วงได้ง่าย นิยมใช้บริโภคและเป็นปลาเศรษฐกิจในท้องถิ่นภาคอีสาน
ชนิดที่ 4. ปลาซิวควาย (Rasbora myersi)
ปลาซิวควาย (Myer’s silver rasbora) เป็นปลาที่ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลำตัวยาวทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็กไม่มีหนวด ลำตัวมีสีเหลืองอ่อนอมทอง มีแถบสีเงินพาดตามความยาวกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ครีบสีเหลืองอ่อนและมีขอบสีคล้ำ
ปลาซิวควาย จัดเป็นหนึ่งในปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมนำมาประกอบอาหาร ทำปลาร้าหรือปลาแห้ง และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 5. ปลาซิวหางแดง (Rasbora borapetensis)
ปลาซิวหางแดง หรือ ปลาซิวแถบดำ (Blackline rasbora) ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวตลอดลำตัวและยังมีแถบสีทองขนาบด้านบน เป็นปลาที่มีครีบใส แต่ตรงโคนหางจะมีสีแดงสด ปลาซิวชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงในแหล่งน้ำนิ่ง และบริเวณน้ำหลาก พบได้ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง
ชนิดที่ 6. ปลากระสูบจุด (Hampala dispar)
ปลากระสูบจุด (Spotted hampala barb) เป็น 1 ใน 4 ปลากระสูบ ที่พบได้ในไทย โดยกระสูบจุดจะพบได้ยากกว่ากระสูบขีด เนื่องจากพบได้ในบางพื้นที่เท่านั้น โดยหลักๆ จะพบได้ที่ลุ่มแม่น้ำโขงหรือจังหวัดทางภาคอีสาน และอาจพบได้ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนตัวอย่างแรกที่ได้รับการอธิบายก็มาจากแม่น้ำมูล
ปลากระสูบจุด มีรูปร่างคล้ายปลากระสูบทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับกระสูบขีดแล้ว กระสูบจุดจะมีลำตัวและส่วนหัวที่ป้อมสั้นกว่าและยังมีจุดสีดำขนาดใหญ่กลางลำตัว เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร
ชนิดที่ 7. ปลาคางเบือน (Belodontichthys truncatus)
ปลาคางเบือน (Twisted-jaw catfish) มีลักษณะส่วนหัวแบนข้างมากซึ่งเป็นเช่นเดียวกับลำตัว มีรูปร่างเพรียวยาว หัวและจะงอยปากงอนขึ้นด้านบน ปากกว้างมาก คางเชิดขึ้น อันเป็นที่มาของชื่อ “คางเบือน” ใกล้มุมปากมีหนวด 1 คู่ยาวจนถึงครีบอก ลำตัวมีสีเงินวาว มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่แหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเวียนที่ดี โดยเฉพาะตามตอม่อสะพานหรือประตูน้ำ
ชนิดที่ 8. สร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis)
ตามข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า ปลาสร้อยขาว เป็นหนึ่งในสิบปลาน้ำจืดที่ถูกจับมากที่สุดในไทย โดยคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของปลาน้ำจืดที่ถูกจับในแต่ละปี ปลาสร้อยขาว เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร มีครีบที่โปร่งแสง ได้รับการอธิบายจากตัวอย่างที่พบในเขตกรุงเทพ จัดเป็นปลาที่พบเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ของไทย
ชนิดที่ 9. ปลาลิ้นหมาน้ำจืด (Brachirus siamensis)
ปลาลิ้นหมาน้ำจืด ก็เป็นหนึ่งใน 14 ปลาน้ำจืดที่ใช้ชื่อ สยามเอ็นซิส มันเป็นปลาที่มีลำตัวยาวแบน พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล มีจุดกระขนาดเล็กสลับกับลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่้วไป พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง และในลุ่มน้ำของภาคอีสาน
ชนิดที่ 10. ปลาสร้อยลูกกล้วย (Labiobarbus siamensis)
ปลาสร้อยลูกกล้วย ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวเพรียวยาว มีเกล็ดขนาดเล็ก หัวเล็ก ปากเล็ก บริเวณแผ่นปิดเหงือกมีปื้นรูปเพชร ครีบสีจางหรือเหลืองอ่อน ครีบหลังเป็นแผงยาวถึงโคนหาง ครีบหางเว้าลึก สีเหลืองออกแดงเรื่อๆ บางตัวมีแต้มจุดที่หลังครีบอกและโคนหาง ในไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในแม่น้ำสายหลักและสาขาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ในอดีตจัดเป็นหนึ่งในปลาที่พบได้มากในนาข้าว
ชนิดที่ 11. ปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus vittatus)
ปลาสร้อยนกเขา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างป้อม ครีบท้อง ครีบก้น และครีบหางเป็นสีส้นหรือแดง เกล็ดบริเวณลำตัวบางเกล็ดจะมีแต้มสีส้ม อาจมีแถบสีดำพาดตั้งแต่มุมปากไม่จนถึงโคนหาง หรือ ที่โคนหางอาจมีแต้มสีดำขนาดใหญ่ ชอบหากินอยู่กับปลาเกล็ดชนิดอื่น พบกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ชนิดที่ 12. ปลาไหลนา (Monopterus albus)
ปลาไหลนา หรือ ปลาไหลบึง (Asian Swamp Eel) มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร รูปร่างเรียวยาวคล้ายงู ตามีขนาดเล็ก คอป่องออก มีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ในคอหอย ซึ่งช่วยให้หายใจได้โดยไม่ต้องผ่านซี่กรองเหงือกเหมือนปลาทั่วไป และยังสามารถขุดรูในดินเพื่อจำศีลในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย
ชนิดที่ 13. หมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata)
ปลาหมอช้างเหยียบ (Striped tiger leaffish) เป็นปลาเนื้อดีที่คนไทยนิยมกิน แต่ก็หากินได้ยากเช่นกัน ปลาชนิดนี้มีขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อม ลำตัวด้านข้างแบน พื้นลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลปนเหลืองจนถึงดำ มีเกล็ดสากและขอบหยักปกคลุมทั่วตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 8-12 แถบ เป็นปลาที่พบได้ทุกสภาพแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค
ชนิดที่ 14. ปลาบู่ทราย (Oxyeleotris marmorata)
ปลาบู่ทราย ถือเป็นปลาน้ำจืดเพื่อบริโภคที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในไทย ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างโต ด้านบนหัวแบนราบ หัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้าง ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมนใหญ่ มีลวดลายดำและสลับขาว ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง มีรอยปื้นสีดำกระจายไปทั่วตัว ในบางตัวสีอาจกลายเป็นสีเหลืองทองได้ จึงทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ปลาบู่ทอง” ในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลองและสาขาทั่วทุกภาค
ชนิดที่ 15. ปลาชะโด (Channa micropeltes)
ปลาชะโด (Giant Snakehead) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 100 – 150 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาช่อน มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว เป็นปลาที่ดุร้าย ไม่ค่อยนิยมกินในไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านนิยมมาก พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของไทย
ชนิดที่ 16. ปลาช่อน (Channa striata)
ปลาช่อน (striped snakehead) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6-7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน มีขนาดลำตัวประมาณ 30-40 เซนติเมตร
ชนิดที่ 17. ตะเพียนทราย (Puntius brevis)
ปลาตะเพียนทราย เป็นปลาตะเพียนขนาดเล็ก ที่ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร มีเกล็ดสีเงินปกคลุมลำตัว มีจุดสีเทาจนถึงดำอยู่ที่ครีบหลังและโคนหาง ในฤดูผสมพันธุ์ปลาเพศผู้จะแถบสีส้มผ่านกลางลำตัว เป็นปลาที่มีพฤติกรรมรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ตามแหล่งน้ำนิ่งที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น
ชนิดที่ 18. ปลาไส้ตันตาแดง (Cyclocheilichthys apogon)
ปลาไส้ตันตาแดง หรือ ปลาหยา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีจุดเด่นตรงที่เมื่อโตเต็มวัย ที่ขอบตาด้านบนจะมีสีแดง ปากเล็ก ริมฝีปากบาง ไม่มีหนวด ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำ ลายบนเกล็ดชัดและมีขนาดใหญ่ จนคล้ายเรียงกันเป็นเส้น มีแต้มสีดำอยู่ที่โคนหาง ครีบเป็นสีส้มหรือแดง มักอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ในแม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วประเทศ
ชนิดที่ 19. ปลากริมควาย (Trichopsis vittata)
ปลากริมควาย ยาวได้ประมาณ 4.5 เซนติเมตร จัดเป็นปลากริมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำตัวแบนข้างมาก ส่วนหัวโค้ง ปากงอนเชิดขึ้น ในปลาเพศผู้ ปลายหางและครีบก้นอาจมีครีบเปียยื่นยาวออกมา โดยส่วนเปียจะมีสีเขียว ดำ หรือ ขาว สำหรับสีบนลำตัวของปลากริมควายค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่สีน้ำตาล ชมพู ไปจนถึงสีออกเขียว แต่สีจะออกจางๆ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งขนาดเล็ก เช่น หนองหรือบึงน้ำที่มีหญ้าหรือวัชพืชปกคลุม
ชนิดที่ 20. ปลาแขยงหิน (Pseudomystus siamensis)
ปลาแขยงหิน หรือ ปลากดหิน ยาวได้ประมาณ 9 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีและลวดลายสวยมากชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลแดง มีแถบสีอ่อน 3 แถบ ความกว้างของแถบ จะขึ้นอยู่กับอายุของปลา เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทั่วประเทศไทย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 21. ปลาแขยงข้างลาย (Mystus atrifasciatus)
ปลาแขยงข้างลาย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่าเมื่อเทียบกับปลาแขยงชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน มีหัวกลมสั้น ฐานครีบไขมันยาว ลายแถบสีดำจะอยู่บริเวณกลางลำตัว ซึ่งอยู่แนวเดียวกับเส้นข้างลำตัว เป็นปลาที่พบได้ไม่มากนักใน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง แต่จะพบได้มากในลุ่มแม่น้ำโขง
ชนิดที่ 22. ปลาแขยงใบข้าว (Mystus singaringan)
ปลาแขยงใบข้าว ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างยาว ฐานครีบไขมันกว้าง พื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเหลือง และไม่มีลวดลายบนตัว จัดเป็นปลาแขยงที่พบได้มากที่สุดในไทย พบได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทุกที่ ยกเว้นลุ่มน้ำสาละวิน และ ลุ่มน้ำตะนาวศรี เป็นปลาอยู่ได้ทั้งในน้ำไหลและน้ำนิ่ง
ชนิดที่ 23. ปลาแขยงธง (Mystus bocourti)
ปลาแขยงธง มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จุดเด่นที่สุดของปลาชนิดนี้คือ มีก้านครีบหลังยาวมากซะจนดูคล้ายธง หางและส่วนฐานครีบไขมันยาวกว่าปลาแขยงส่วนใหญ่ ลำตัวมีลายแถบสีจางๆ แลดูไม่ชัดเจน เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็พบได้ไม่มากนัก อาจพบมากในบางพื้นที่และในฤดูกาลที่เหมาะสม
ชนิดที่ 24. ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ (Doryichthys martensii)
ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้น เป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ มันมีขนาดประมาณ 14 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีลำตัวที่ยาว มีสีค่อนข้างซีด ปากก็สั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และยังหาได้ยากกว่าด้วย
ชนิดที่ 25. ปลาพรมหัวเหม็น (Osteochilus melanopleura)
ปลาพรมหัวเหม็น มีลักษณะลำตัวกว้างและแบนข้าง หลังโค้ง ท่อนหางสั้น เกล็ดเล็ก ตัวสีเทาปนเงิน ลำตัวเหนือครีบอกมีลายดำลางๆ ขวางลำตัว สำหรับชื่อของปลาพรมหัวเหม็นนั้นมาจาก เป็นปลาที่ชอบกินตะไคร่น้ำและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่ขึ้นตามโขดหิน ซึ่งมีสารจีออสมิน (Geosmin) และสารประเภท เมททริลไลโซบอเนียล (Methylisoborneol) ที่มีกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาบ ทำให้ตัวปลามีกลิ่นสาบ และส่วนหัวมีกลิ่นสาบมากเป็นพิเศษ จึงเป็นปลาที่ไม่นิยมนำมากิน …แต่ถึงงั้นก็ยังเป็นปลาที่มีจำนวนลดลงอย่างหน้าใจหาย
ชนิดที่ 26. ปลาน้ำเงิน (Phalacronotus apogon)
ปลาน้ำเงิน เป็นปลาเนื้ออ่อนที่มีราคาแพง มีความยาวประมาณ 15 – 70 เซนติเมตร มีลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีดำอมเขียว หัวแบนสั้นและตาเล็ก ปากค่อนข้างกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง และหากเทียบกับปลาแดงแล้ว ปลาน้ำเงินมีตาที่เล็กกว่าปลาแดง และปลาน้ำเงินก็มีสันหลังบริเวณต้นคอสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ชนิดที่ 27. ปลาชะโอน (Ompok bimaculatus)
ปลาชะโอน หรือ ปลาสยุมพร (Butter catfish) มีความยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลและเป็นลวดลายกระดำกระด่างจ่างๆ เหนือครีบมีจุดสีดำขนาดใหญ่ข้างละจุด มีหนวด 2 คู่ เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่กลอง จันทบุรี พัทลุง และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
ชนิดที่ 28. ปลาขาไก่ (Kryptopterus cryptopterus)
ปลาขาไก่ (blue sheatfish) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาว 10 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้างและเรียวไปทางด้านท้าย หัวเล็ก ปากเล็ก ตาค่อนข้างโต มีหนวด 2 คู่ ลำตัวสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียวและตัวค่อนข้างใส เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นฝูง โดนจะพบพวกมันได้ในลุ่มน้ำแม่กลอง เจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำในภาคใต้
ชนิดที่ 29. ปลาหลดจุด (Macrognathus siamensis)
ปลาหลดจุด อาจเป็นปลาหลดที่หาได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย และตัวอย่างแรกก็พบในไทยเช่นกัน เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีเหลืองอมเทา บริเวณฐานครีบหลังมีลายจุดสีดำขอบขาว โดยจำนวนจุดของแต่ละตัวจะต่างกัน เป็นปลาที่พบได้เกือบทั่วประเทศไทย
ชนิดที่ 30. ปลาหลดทราย (Macrognathus semiocellatus)
ปลาหลดทราย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือเขียวมะกอก ลายบนตัวจะเป็นลายแถบสีน้ำตาลดูไม่เป็นระเบียบ บริเวณสันหลังและฐานครีบหลังมีลายทรงกลม ในไทยพบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขง แม่กลอง ชอบอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ เป็นปลาที่พบได้น้อย
ชนิดที่ 31. ปลากระทิงลาย (Mastacembelus favus)
ปลากระทิงลาย ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นปลากระทิงที่แยกได้ค่อนข้างยาก นั้นเพราะมีลายที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมีลายเป็นตาข่ายสีน้ำตาลเข้มบนพื้นลำตัวที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมเหลือง เป็นปลาที่พบได้ทั่วประเทศไทย ยกเว้นในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ซอกหลืบ อย่างซากไม้จมน้ำ ตามตลิ่งที่มีก้อนหินขนาดใหญ่
ชนิดที่ 32. ปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง (Toxotes mekongensis)
แต่เดิมปลาเสือพ่นน้ำชนิดนี้ถูกอธิบายในชื่อ เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus) จนในปี พ.ศ. 2561 ก็ได้รับการแก้ไขใหม่ในชื่อปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง เสือพ่นน้ำชนิดนี้จัดเป็นปลาขนาดค่อนข้างเล็ก มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 36 – 39 เกล็ด ลายกลางลำตัวมักจะเป็นเส้นยาวจากสันหลังจนถึงท้อง เป็นปลาเสือพ่นน้ำเพียงชนิดเดียวที่พบในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่ไหลผ่านประเทศไทย
ชนิดที่ 33. ปลาสวาย (Pangasianodon hypophthalmus)
ปลาสวาย (Striped catfish) ที่กำลังพูดถึงนี้จะไม่รวมปลาสวายลูกผสมที่เรียกว่า “บิ๊กหวาย” เนื่องจากบิ๊กหวายไม่ได้เกิดขึ้นในธรรมชาติ และแม้ปลาสวายจะดูเหมือนว่าพวกมันจะมีอยู่มากมายในแม่น้ำ แต่จริงๆ แล้วพวกมัน “ใกล้สูญพันธุ์” …และปลาสวายในแม่น้ำส่วนใหญ่ก็เป็นปลาที่ผสมเทียมและปล่อยลงมา
ปลาสวายเป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะคล้ายกับปลาบึก แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามากและมีปากที่แคบกว่า มันเป็นปลากินพืชแต่บางทีก็กินเนื้อได้เช่นกัน ในปลาขนาดใหญ่จะมีสีเทาหรือคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวมีสีจาง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดอยู่ที่ 1.5 เมตร เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศไทย
ชนิดที่ 34. ปลาแค้ยักษ์ (Bagarius yarrelli)
จริงๆ ในไทยมีปลาแค้อยู่สองถึงสามชนิดที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง หากให้ยกตัวอย่างก็มี ปลาแค้วัว ปลาแค้หัวแบน และที่กำลังพูดถึงคือ ปลาแค้ยักษ์ หรือ ปลาแค้ควาย ซึ่งอาจจะพบได้ยากอยู่บ้าง โดยปลาแค้ยักษ์มีรูปร่างคล้ายปลาแค้วัว (B. bagarius) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า สิ่งที่ต่างคือครีบท้องของปลาแค้ยักษ์ จะอยู่เยื้องด้านท้ายของครีบหลัง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 70 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุดอยู่ที่ 2 เมตร เราสามารถพบพวกมันได้ในแม่น้ำหลายสายของลุ่มแม่น้ำโขง
ชนิดที่ 35. ปลาสังกะวาดขาว (Laides longibarbis)
แม้ชื่อของปลาสังกะวาดจะทำให้นึงถึงปลาที่คล้ายปลาสวายแต่ตัวเล็กและมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ต้องบอกว่า ปลาสังกะวาดขาว นั้นพิเศษหน่อยๆ ไม่เพียงจะหายาก ข้อมูลน้อย มันยังเป็นปลาเพียงชนิดเดียวในสกุลเลเดส (Laides) และบนโลกตอนนี้ก็รู้จักปลาในสกุลนี้เพียงสองชนิด
ปลาสังกะวาดขาว ยาวได้ประมาณ 14 เซนติเมตร มีหนวดสองคู่ คู่แรกที่ริมฝีปาก ซึ่งจะยาวจนเกินฐานครีบก้น และอีกคู่จะอยู่ใต้คาง เป็นปลาที่ตาโต มีครีบหางค่อนข้างใหญ่ ครีบไขมันเล็กมาก พบอาศัยอยู่เกือบทุกลุ่มน้ำ แต่ในตอนนี้จัดเป็นปลาที่พบตัวได้ยาก
ชนิดที่ 36. ปลากดคัง (Hemibagrus wyckioides)
ปลากดคัง (Asian Redtail Catfish) ซึ่งเป็นปลาที่มีหางสีแดง และมักถูกเข้าใจผิดกับชื่อปลาเรดเทล แต่ความจริงทั้งสองชนิดนี้ต่างกันมาก โดยปากดคังถือเป็นปลาดั่งเดิมของไทย ในขณะที่ปลาเรดเทล เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอน แน่นอนว่าปลากดคังของเราตัวเล็กกว่า
ปลากดคังถือเป็นน้ำจืดราคาค่อนข้างแพง นิยมนำมาบริโภค พวกมันมีลักษณะทั่วไปเหมือนปลากด แต่จะมีหาง และครีบส่วนอื่นๆ เป็นสีแดงหรือส้มที่โดดเด่น มีลำตัวสีเทาอ่อนอมฟ้าหรือเขียวมะกอก ท้องสีจาง โตเต็มที่ได้ประมาณ 1.5 เมตรและหนักเกือบ 100 กิโลกรัม แต่มีบันทึกว่าเคยพบตัวใหญ่สุดที่ยาวถึง 2.3 เมตร เป็นปลาที่พบในแม่น้ำของไทยทุกภาคและดูเหมือนแม่น้ำมูลจะมีปลากดชนิดนี้อาศัยอยู่ค่อนข้างมาก
ชนิดที่ 37. ปลาเทพา (Pangasius sanitwongsei)
แม้ปลาเทพา (Chao Phraya Catfish) จะมีหน้าตาคล้ายกับสวาย แต่ตัวใหญ่กว่าและยังเป็นปลานักล่าที่ดุร้าย มันเป็นปลาที่มีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ซึ่งรวมถึงปลาบึกด้วย เป็นปลาที่มีฟันเล็กและแหลมคม รูปร่างป้อม ที่ปลายก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอกและครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว
ปลาเทพามีฉายาว่า “เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อโตเต็มวัยมันจะมีความยาวประมาณ 1.25 เมตร แต่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 3 เมตร และหนักเกิน 100 กิโลกรัม ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปลาชนิดนี้ถือว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว คงเหลือแต่ปลาที่ถูกปล่อยจากปลาผสมเทียม ที่เป็นปลาธรรมชาติ จะเหลืออยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่สถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
ชนิดที่ 38. ปลาเทโพ (Pangasius larnaudii)
ปลาเทโพ อยู่ในวงศ์ปลาสวาย จึงไม่แปลกที่มันจะคล้ายกับสวาย แต่จริงๆ มันคล้ายเทพามากกว่า แต่รูปร่างจะป้อมและสั้นกว่า ส่วนหัวและจะงอยปากดูกลมมน ในปลาขนาดใหญ่ ลำตัวส่วนท้องจะลึก มีแต้มสีดำเห็นชัดเจนที่ฐานครีบอก มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร
ประเทศไทยพบว่าปลาเทโพอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล หรือแม้แต่สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติดี ราคาแพงจึงเป็นที่ต้องการของตลาด …ตอนนี้กรมประมงสามารถผสมเทียมได้แล้ว
ชนิดที่ 39. ปลาสะนาก (Raiamas guttatus)
ปลาสะนาก ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาล่าเหยื่อที่ว่องไว ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลค่อนข้างแรง มีลำตัวเพียวยาว เกล็ดเป็นสีเงินอมเขียวและมีแต้มสีน้ำเงินเข้ม ในเรื่องความชัดของลวดลายจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลารวมถึงแหล่งน้ำที่อาศัย ในปลาขนาดใหญ่อาจจะไม่มีแต้มเช่นกัน
ปลาสะนาก เป็นปลาที่พบได้มากในแหล่งน้ำที่เหมาะสมในเกือบทุกลุ่มน้ำ ยกเว้นภาคใต้ อาศัยในน้ำแรงและตื้นแค่หน้าแข้งได้ ไม่ชอบอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นพื้นหินก้อนใหญ่ ซึ่งต่างจากกระสูบ แต่จะชอบพื้นที่มีลักษณะเป็นหาดทราย
ชนิดที่ 40. ปลานิล (Oreochromis niloticus)
ปลานิล เป็นปลาต่างถิ่นที่พบมากที่สุดในไทย และยังเป็นปลาน้ำจืดปลาเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยด้วย มันเป็นปลาที่อาจพบเจอในแหล่งน้ำไหลบนเขาเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่จะได้เจอกับปลานิลในแม่น้ำมูล แต่รู้หรือไม่ว่า ปลานิลไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว เพราะงั้นในแม่น้ำมูลจะต้องมี ปลาหมอเทศ, ปลาหมอเทศข้างลาย, ปลานิลอกแดง รวมอยู่ในนั้นด้วย
ชนิดที่ 41. ปลาแรด (Osphronemus goramy)
ปลาแรด (Giant gourami) ถือเป็นปลาแรดธรรมดา นับเป็นปลาแรดชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร จึงถือว่าใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว โดยปลาแรดถือเป็นสัตว์กินพืชแต่ก็สามารถกินปลาขนาดเล็กได้เช่นกัน
ปลาแรดมีลักษณะ ลำตัวป้อมและแบนข้าง ที่เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก ก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็กๆ ส่วนหัวเล็ก เมื่อโตขึ้นโดยเฉพาะปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อยๆ จนดูคล้ายนอแรด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไทย เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำเกือบทั่วไทย
ชนิดที่ 42. ปลาซวยหางเหลือง (Pangasius krempfi)
ปลาซวยหางเหลือง จัดเป็นปลาเนื้อดีมากและแพงที่สุดในปลาวงศ์นี้ เป็นปลาในวงศ์ปลาสวายเพียงชนิดเดียวที่ออกไปเติบโตในทะเล จนเรียกว่าปลาสวายทะเล พบพวกมันไปไกลถึงเกาะไหหลำ ในประเทศจีน และจะว่ายทวนน้ำกลับมาวางไข่ที่ต้นน้ำแม่น้ำโขง ซึ่งมันคล้ายกับปลาแซลมอนในธรรมชาติมาก
ปลาซวยหางเหลือง เป็นปลาที่ยาวประมาณ 40 – 80 เซนติเมตร ในประเทศไทยจะพบได้ในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดหนองคายถึงอุบลราชธานี จึงไม่แปลกหากปลาจะหลงเข้ามาในแม่น้ำมูล แต่! ถึงงั้นก็อาจจะพบได้บริเวณรอยต่อของแม่น้ำ
ก็ขอสรุปก่อนจบเล็กน้อย และก็เป็นอย่างที่บอก แม่น้ำมูลมีปลามากมายหลายจริง แต่ผมก็เอามาเล่าได้แค่ 42 ชนิด และยังมีอีกหลายชนิดที่ผมขอพูดถึงเฉพาะชื่อและเอาภาพมาให้ดู ดังเช่น ปลาแดงน้อย, ปลาตามิน, ปลาตะโกก, ปลาไส้ตันตาขาว, ปลาหนามหลัง, ปลาเกล็ดถี่, ปลาตะเพียนจุด, ปลาเสือสุมาตรา, ปลาตะเพียนทอง, ปลาตะเพียนขาว, ปลาน้ำฝาย, ปลากระมัง, ปลากระมังครีบสูง, ปลาสร้อยขาวหางเหลือง, ปลาสร้อยขาวปีกแดง, ปลากาดำ, ปลากาแดง, ปลาร่องไม้ตับ, ปลาเล็บมือนาง, ปลาค้อ, ปลารากกล้วย, ปลารากกล้วยแคระ, ปลาหมูจุด, ปลาหมูข้างลาย, ปลาหมูสัก, ปลาหมูขาว, ปลาหมูคอก, ปลากดเหลือง, ปลาสวายหนู, ปลาเข็ม, ปลากระทุงเหวเมือง, ปลาแป้นแก้ว, ปลาดุมชี, ปลาบู่หิน สุดท้าย! ปลาแปบควาย …แน่นอนว่ายังมีหลายชนิดมาก ซึ่งผู้ชมสามารถเสริมมาได้ในคอมเมนท์นะครับ เอาไว้มีโอกาสจะเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ให้สมบรูณ์มากยิ่งขึ้น