37 อันดับปลาน้ำจืด ‘หายากมาก’ ในธรรมชาติของประเทศไทย

ปลาทั้งหมดที่อยู่ในเรื่องนี้ เป็นปลาที่พบได้ในน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อย และพบได้ในประเทศไทย ส่วนคำว่า "โคตรหายาก" ก็หมายถึงปลาทั้งหมดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์จนถึงสูญพันธุ์ไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็หาแทบไม่เจอในธรรมชาติของไทย ปลาบางชนิดผมสามารถอธิบายได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีข้อมูลเยอะ บางชนิดชนิดแทบจะไม่มีข้อมูล จึงอธิบายได้สั้นๆ เท่านั้น เดี๋ยวเรามาเริ่มทีละตัวกันเลยดีกว่า

อันดับที่ 37. ปลาเอินฝ้าย (Probarbus labeaminor)

Advertisements

ปลาเอินฝ้าย เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกันยี่สกไทย แต่ลำตัวจะป้อมสั้นกว่า และยังมีเกล็ดที่ใหญ่กว่าด้วย ลายบนลำตัวของปลาอินฝ้ายไม่ชัดเจน พบปลาชนิดนี้ได้ทางตอนกลางของแม่น้ำโขง ในจังหวัดนครพนมจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี เคยมีรายงานว่าพบในแม่น้ำมูล จัดเป็นปลาที่พบได้ยากมากๆ

ปลาเอินฝ้าย (Probarbus labeaminor) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 36. ปลาเอินตาขาว (Probarbus labeamajor)

ปลาเอินตาขาว มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลายี่สกไทย เพียงแต่ส่วนใหญ่จะมีแถบสีดำบนลำตัว 9 แถบ ในขณะที่ยี่สกไทยมี 7 แถบ นอกจากนี้ปลาเอินตาขาวจะมีริมฝีปากหนาและปากล่างจะยื่นออกเป็นแผ่น เป็นปลาที่หายากมากๆ ในไทย มักพบแถวๆ ตอนใต้ของประเทศลาว พบว่าอพยพไปพร้อมๆ กับปลายี่สกไทย จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มแม่น้ำโขง สถานะปัจุบันคือใกล้สูญพันธุ์

ปลาเอินตาขาว (Probarbus labeamajor) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 35. ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese freshwater batfish) เป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และจะพบได้ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร ขึ้นไป

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)
Advertisements

เป็นปลาความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

อันดับที่ 34. ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki)

Advertisements

ปลาหมูอารีย์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย มีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงท้อง มีหนวด 3 คู่ เป็นปลาที่ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki)

พบที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีจนถึงรอยต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดยปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด และมันก็อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน แต่โชคยังดีที่ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว แน่นอนว่าพบได้ยากมากๆ ในธรรมชาติอยู่ดี

อันดับที่ 33. ปลาเล็บมือนางแม่กลอง (Crossocheilus tchangi)

ปลาเล็บมือนางแม่กลอง มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลำตัวที่ยาวแต่ส่วนหัวค่อนข้างสั้น เกล็ดตามลำตัวและครีบมีสีเหลืองหรือทองอ่อน มีแถบสีดำบริเวณโคนหาง ลำตัวส่วนบนมีลายกระทั่วไป มักพบอาศัยในลำธารบริเวณน้ำไหลค่อนข้างแรง ถูกพบครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2478 ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จัดเป็นปลาเล็บมือนางขนาดใหญ่ที่พบได้เฉพาะในลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น

ปลาเล็บมือนางแม่กลอง (Crossocheilus tchangi) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong
Advertisements

อันดับที่ 32. ปลาจิ้งจกติดหินลายทาง (Homalopteroides lineatus)

ปลาจิ้งจกติดหินลายทาง มีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวกลมกว่าปลาจิ้งจกติดหินในสกุลเดียวกัน พื้นลำตัวเป็นสีเทาอ่อนจนเกือบขาว มีลายสีน้ำตาลเข้มตามแนวเส้นข้างลำตัว ครีบทุกครีบจะใส หางมีลายประเล็กน้อย

ปลาจิ้งจกติดหินลายทาง (Homalopteroides lineatus) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ถูกพบครั้งแรกในแม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2480 มีตัวอย่างขนาดเล็กเพียงสองตัวเท่านั้น… หลังจากนั้นก็ไม่พบเจออีกเลย จนผ่านมา 85 ปี ปลาชนิดนี้ถูกพบอีกครั้งในแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย โดยคุณ วุฒิพล ปฐมวัฒนานุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2565 และแม้สถานะของปลาชนิดยังไม่แน่ชัด แต่ก็หายากมากๆ ในประเทศไทย

อันดับที่ 31. ปลาฉลามน้ำจืด (Glyphis siamensis)

Advertisements

ปลาฉลามน้ำจืด หรือ ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี (River sharks, Freshwater sharks) เป็นหนึ่งในฉลามหายากที่สุดในโลก มีชื่อสกุลว่ากลายฟิส (Glyphis) อยู่ในวงศ์ของฉลามครีบดำ โดยฉลามน้ำจืดถือเป็นฉลามเพียงสกุลเดียวเท่านั้นที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ตลอดทั้งชีวิต

โดยปกติฉลามน้ำจืดพวกนี้ จะอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และตามแนวชายฝั่ง กระจายพันธุ์อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย พวกมันมีอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด ซึ่งก็คือปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี

ปลาฉลามน้ำจืด (Glyphis siamensis)

สำหรับ ฉลามแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy river shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyphis siamensis (กลายฟิส สยามเอ็นสิส) ตามที่อ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนเอาไว้ว่า

ฉลามแม่น้ำชนิดนี้มีความยาวประมาณ 300 เซนติเมตร มีลำตัวเพรียวยาวกว่าฉลามหัวบาตร หน้าแหลมยาว ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหลังแรกเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังที่สองมีขนาดเล็กลงกว่าครีบหน้าประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำ

ถูกอธิบายจากตัวอย่างต้นแบบที่พบในแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า ซึ่งมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร แต่ไม่มีบันทึกใดๆ ว่าทำไมจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับฉลามชนิดนี้ โดยมีคำว่า สยามเอ็นสิส (siamensis) ซึ่งหมายความว่าพบในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นปลาที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 30. ปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata)

แต่เดิมปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata) จัดอยู่ในสกุล ปริติส (Pristis) แต่เพราะมันมีจะงอยปากที่แคบ และมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างมากพอที่จะแยกออกมาเป็นอีกสกุล ด้วยเหตุนี้มันจึงอยู่ในสกุล อันออกซีพริสตีส (Anoxypristis) และปลาในสกุลนี้ก็เหลือเพียงปลาฉนากจะงอยปากแคบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แถมมันยังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

ปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata)
Advertisements

สำหรับปลาฉนากชนิดนี้ มีความยาวได้ประมาณ 450 เซนติเมตร มีรูปร่างเหมือนปลาฉนากทั่วไป แต่มีรูปร่างเพรียวกว่า ส่วนหัวแคบกว่า มีจะงอยปากที่ยาวแคบ ขอบขนานไม่ลดขนาดลงจนถึงบริเวณส่วนปลาย มีซี่ฟัน 18 – 25 คู่ ตามบันทึกในหนังสือ Fresh-water fishes of Siam, or Thailand ว่าเคยมีคนจับปลาชนิดนี้ได้ในแม่น้ำท่าจีน โดยมีลำตัวยาว 800 เซนติเมตร มีจะงอยปากยาว 250 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหลือเชื่อ

อันดับที่ 29. ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis)

สำหรับปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis) ซึ่งอยู่ในสกุล ปริติส (Pristis) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 600 เซนติเมตร จัดเป็นปลาฉนากขนาดใหญ่มาก มีจะงอยปากแผ่กว้างที่ฐานและจะค่อยๆ แคบลงจนถึงส่วนปลาย มีซี่ฟัน 14 – 22 คู่ ซึ่งฟันอาจยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร

ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis)

ในประเทศไทยเคยพบบริเวณชายฝั่ง และอาจเข้ามาอาศัยในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เคยมีรายงานการพบในหลายจังหวัด เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ หรือแม้แต่ในกรุงเทพ แต่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว และยังจัดอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 28. ปลาตะพัดสีนาก (Scleropages inscriptus)

ปลาตะพัดลายงู หรือ ปลาตะพัดสีนาก เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร ในปลาขนาดเล็กจะมีลำตัวและแก้มสีน้ำตาลอ่อน ลายบริเวณแก้มอันเป็นเอกลักษณ์จะเริ่มมีให้เห็นเมื่อปลายาวประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนลายบนเกล็ดจะค่อยๆ มีให้เห็นเมื่อปลายาว 30 เซนติเมตรขึ้นไป และเมื่อโตเต็มที่ ปลาจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลทองหรือสีนาก และมีลายขนาดเล็กคดไปคดมาบริเวณเกล็ดและแก้มอย่างเห็นได้ชัด

ปลาตะพัดสีนาก (Scleropages inscriptus)

ปลาตะพัดสีนาก สามารถแยกออกจากปลาตะพัดเขียวได้ง่าย นั้นเพราะปลาตะพัดสีนาก กระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางภาคใต้ฝั่งแม่น้ำที่ไหลลงทะเลอันดามัน ตั้งแต่ทางตอนใต้ของพม่า ลงไปในคาบสมุทรมลายูทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย

สำหรับในประเทศไทยคาดว่าแหล่งที่อยู่สุดท้ายของปลาตะพัดสีนากจะอยู่ที่ คลองละงู จังหวัดสตูล แต่ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว …ปัจจุบันเริ่มมีการเพาะพันธุ์เพื่อนำมาขายเป็นปลาสวยงามมากขึ้น และหวังจะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต

อันดับที่ 27. ปลาตะพัดเขียว (Scleropages formosus)

ปลาตะพัดเขียว หรือ ปลาหางเข้ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร ลำตัวมีเกล็ดสีเขียวอมน้ำตาล ในไทยมีการกระจายพันธุ์ออกเป็น 2 กลุ่ม นั้นคือ ที่ภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด กับอีกกลุ่มคือ เขตภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าตอนนี้ประชากรกลุ่มที่อยู่ทางภาคตะวันออกสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะในเขมร ส่วนที่อยู่ทางภาคใต้ อาจมีเหลืออยู่แถวๆ ต้นแม่น้ำพุมดวง

ปลาตะพัดเขียว (Scleropages formosus)

อย่างไรก็ตาม กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 และได้มีความพยายามในการส่งเสริมให้เอกชนเพาะพันธุ์เป็นปลาสวยงาม แต่เพราะปลาตะพัดเขียวที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาถูกจึงไม่นิยมเพาะพันธุ์กันมากนัก …ด้วยเหตุนี้จึงใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

อันดับที่ 26. ปลาขยุยคลองชมพู (Akysis sp.Klongchompoo)

ปลาขยุยคลองชมพู ยาวได้ประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีลำตัวยาวเพรียว หางเป็นแผ่นขนาดใหญ่และเว้าเล็กน้อย ลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม พบอาศัยอยู่ร่วมกับปลาขยุยเจ้าพระยา บริเวณหัวแก่งที่มีหินกรวดขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นปลาที่ถูกพบครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2555 ในคลองชมพู จังหวัดพิษณุโลก ปกติเป็นปลาที่หายากอยู่แล้ว แต่เพราะในตอนนี้มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นคลองชมพู ซึ่งหากมีการสร้างสำเร็จ จะต้องส่งผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของปลามากมายแน่นอน

ปลาขยุยคลองชมพู (Akysis sp.Klongchompoo) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 25. ปลาตะลุมพุก (Tenualosa toli)

ปลาตะลุมพุก เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้างมาก เกล็ดบริเวณลำตัวมีสีเงิน แนวสันหลังสีเข้ม ท้องเป็นสัน ในปลาที่โตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง แล้วจะว่ายเข้ามาวางไข่ตามแม่น้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เคยพบมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลสาบสงขลา สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา เคยมีรายงานว่าเข้ามาวางไข่ถึงจังหวัดนนทบุรี จนมีการทำประมงเพื่อจับปลาชนิดนี้โดยเฉพาะ

ปลาตะลุมพุก (Tenualosa toli)

เคยพบมากที่สุดบริเวณบางยี่ขัน เชื่อกันว่า ปลาชนิดนี้จะว่ายเข้ามากินส่าเหล้าจากโรงงานสุราที่อยู่ในบริเวณนั้น เป็นปลาเนื้อดี ปัจจุบันจัดเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของไทย

อันดับที่ 24. ปลาสร้อยบู่ (Abbottina rivularis)

ปลาสร้อยบู่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 12 เซนติเมตร บนโลกนี้มีปลาในสกุลนี้อยู่ห้าชนิด พบในประเทศไทยหนึ่งชนิด โดยปกติจะพบได้ทั่วไปในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยถือว่าเป็นปลาที่พบได้ยากมาก ซึ่งจะพบได้ที่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำโขง คาดว่าเป็นปลาที่หลุดมาจากต้นน้ำของประเทศจีน จนมากระจายพันธุ์ถึงทางตอนเหนือของประเทศไทย

ปลาสร้อยบู่ (Abbottina rivularis)

ปลาสร้อยบู่ มีลำตัวที่ยาว เกล็ดสีเงินขุ่น มีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว และมีปานสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่เรียงตามข้างลำตัว 5 จุด หลังยกสูง ท้องแบนเรียบ ครีบหลังมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ชอบหากินตามท้องน้ำ ในไทยมีรายงานการพบไม่กี่ครั้ง

อันดับที่ 23. ปลาแรดเขี้ยว (Osphronemus exodon)

ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว (Elephant ear gourami) เป็นปลาแรดชนิดที่คล้ายกับปลาแรดธรรมดามากที่สุด แต่จะมีขนาดเล็กกว่าซึ่งจะยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เคยพบใหญ่สุดคือ 60 เซนติเมตร เป็นปลาที่เข้าใจว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง

แต่จากการสำรวจของ ดร.ไทสัน อาร์.โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาผู้อนุกรมวิธานปลาแรดชนิดนี้ พบว่าปลาแรดเขี้ยวจะไม่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก แต่จะอาศัยอยู่ตามบึงหรือหนองน้ำที่เป็นสาขามากกว่า โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เว้นแต่จะเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำเหือดแห้ง ปลาจะอพยพลงสู่แม่น้ำสายหลัก ในฝั่งของชายแดนไทยจะพบได้น้อยมาก จะพบได้ในเขตของกัมพูชาและลาวมากกว่า

ปลาแรดเขี้ยว (Osphronemus exodon)

สิ่งที่ปลาแรดเขี้ยวต่างจากปลาแรดธรรมดาคือ มีลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ ครีบก้นแคบและเล็กกว่า ริมผีปากจะไม่สามารถสบกันจนสนิท จนแสดงให้เห็นซี่ฟันตลอดเวลา โดยเฉพาะฟันที่ริมฝีปากบน สันนิษฐานว่าใช้สำหรับงับลูกไม้หรือผลไม้ต่างๆ ที่ตกลงไปในน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักของปลาชนิดนี้

ปลาแรดเขี้ยวจัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ว่าปลาแรดชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงรวมในที่แคบ เพราะปลาอาจจะกัดและทำร้ายกันเองจนตายได้ …สถานะในไทยถือว่าหายากสุดๆ และแม้ในถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสมก็หายากมากอยู่ดี

อันดับที่ 22. ปลาดักแม่โขง (Amblyceps serratum)

ปลาดักแม่น้ำโขง ยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวป้อมสั้นและแบนข้างมากกว่าปลาชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน ที่ฐานครีบไขมันจะกว้างเกือบถึงปลายครีบหลัง เป็นปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำโขง พบได้น้อยมากๆ ในไทย รวมถึงคำอธิบายก็น้อยมากเช่นกัน

ปลาดักแม่โขง (Amblyceps serratum) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 21. ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi)

ปลาซิวสมพงษ์ ในปลาตัวผู้จะมีรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเหลืองส้มและมีลวดลายด้านข้าง มีสีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ และมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่หายากมากๆ เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรี

ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi)

เมื่อกว่า 50 ปีก่อน เคยถูกจัดให้เป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้วโดย IUCN ต่อมาในปี พ.ศ. 2555-2556 ปลาชนิดนี้ถูกพบอาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก ซึ่งจะเข้ามาผสมพันธุ์และวางไข่ในทุ่งน้ำท่วมหรือบริเวณนาน้ำลึก ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว แต่ก็ยังหาได้ยากมากๆ ในธรรมชาติอยู่ดี จึงอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 20. ปลาหวีเกศพรุ (Pseudeutropius indigens)

ปลาหวีเกศพรุ เป็นปลาที่หายาก ถูกพบครั้งแรกในป่าพรุโต๊ะแดง เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นปลาหนังที่มีลักษณะคล้ายปลาแขยง มีหนวด 3 คู่ โดยหนวดจะยาวถึงครีบก้น พื้นลำตัวเป็นสีเขียวอ่อน มีแถบสีดำบริเวณลำตัว เป็นปลาที่มีพฤติกรรมคล้ายปลาก้างพระร่วง มักว่ายรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ พบได้ในป่าพรุโต๊ะแดง และแหล่งน้ำรอบๆ

ปลาหวีเกศพรุ (Pseudeutropius indigens) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 19. ปลาหลดแม่กลอง (Macrognathus meklongensis)

ปลาหลดแม่กลอง มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร อาจเป็นปลาหลดชนิดที่หาได้ยากที่สุดในประเทศไทย มีลำตัวที่ยาวและมีแถบสีดำพาดอยู่ใกล้กับแนวสันหลัง ที่ฐานครีบหลังมีจุดสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่ ในประเทศไทยพบในบริเวณต้นน้ำแม่กลอง แม่น้ำกษัตริย์และสุริยะ พบบริเวณที่น้ำไหลไม่แรงมากนัก

ปลาหลดแม่กลอง (Macrognathus meklongensis) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 18. ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเนื้อ ไม่มีลาย รูปร่างค่อนข้างป้อม ในปลาขนาดเล็กมีตาสีดำอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง และจะจางลงเรื่อยๆ เมื่อปลาโตขึ้น ในปลาเพศผู้จะมีแผ่นหนังบริเวณใต้ตา ในเพศเมียจะไม่มี จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระวังแดง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก อาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำ ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)

อันดับที่ 17. ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า (Schistura oedipus)

ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า เป็นปลาน้ำจืดและเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร พบในระบบถ้ำในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นหนึ่งในปลาถ้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย

ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า (Schistura oedipus)

ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า ส่วนใหญ่จะไม่มีตา มีลำตัวสีเนื้อ ส่วนหัวและครีบต่างๆ เป็นสีเหลืองอ่อน ชอบอาศัยอยู่ในลำธารถ้ำที่น้ำไหลเร็วมาก ซึ่งจะค่อยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ เป็นปลาที่มีความไวต่อการรบกวนสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ …เป็นปลาที่หายากมากๆ

อันดับที่ 16. ปลาจาดถ้ำ (poropuntius speleops)

ปลาจาดถ้ำ (Cave Poropuntius) จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้ในลำธารใต้ถ้ำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ปลาจาดถ้ำ (poropuntius speleops) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

โดยปลาจาดถ้ำจะแตกต่างจากปลาจาดที่อยู่ภายนอกมาก แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับปลาถ้ำชนิดอื่นๆ คือพวกมันไม่มีดวงตา ลำตัวมีชมพูหรือเผือก และถึงจะเป็นปลาจาด แต่พวกมันเกือบจะไม่มีเกล็ดเหลืออยู่เลย สำหรับขนาดของปลาชนิดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร

อันดับที่ 15. ปลาค้อถ้ำสวรรค์บาดาล (Nemacheilus troglocataractus)

ปลาค้อถ้ำ หรือ ปลาค้อถ้ำสวรรค์บาดาล (Blind cave loach) จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในลำธารภายในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพียงแห่งเดียว พวกมันไม่มีดวงตา ยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

ปลาค้อถ้ำสวรรค์บาดาล (Nemacheilus troglocataractus)

อันดับที่ 14. ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)

ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Smart’s Blind Cave Loach) ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระไทรงาม อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

14. ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)

ปลามีลักษณะคล้ายกับปลาค้อทั่วไป แต่จะมีลำตัวสีชมพูเทาๆ และดูโปร่งแสงจนเกือบจะเห็นอวัยวะภายใน มีปากที่เล็ก ปากบนและปากล่างจะมีหนวดอย่างละ 2 เส้น ตาเล็กมากและจมอยู่ภายในหัว ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหิน คอยจับแพลงก์ตอนหรือปรสิตที่อยู่ในถ้ำกิน …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 13. ปลาค้อถ้ำกิตติพงศ์ (Schistura jaruthanini)

ปลาค้อถ้ำกิตติพงศ์ เป็นปลาที่มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบที่ถ้ำคลองงู อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี …เป็นปลาที่ถูกพบโดย คุณกิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจและนักเลี้ยงปลาสวยงามที่มีชื่อเสียงชาวไทย …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

ปลาค้อถ้ำกิตติพงศ์ (Schistura jaruthanini) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 12. ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)

ในประเทศไทยจะมีปลาสะนากอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปลาสะนาก ที่อยู่ในสกุลปลาน้ำหมึกยักษ์ หรือไรอามาส (Raiamas) เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหลของภาคกลาง ภาคเหนือและอีสาน แต่ดูเหมือนสะนากชนิดนี้จะมีเยอะตามคลองแถวๆ ภาคกลางค่อนไปทางเหนือมากกว่า

ส่วนอีกชนิดคือ ปลาสะนากยักษ์ หรือ แซลมอนยักษ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong giant salmon carp) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอปโทไซแอ็กซ์ กริปัส (Aaptosyax grypus) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล แอปโทไซแอ็กซ์ (Aaptosyax)

ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)

ปลาสะนากยักษ์ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มียาวได้ถึง 130 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมของปลาสะนากยักษ์คือ คล้ายกับปลาแซลมอน รูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายตะขอที่จะสบเข้ากับช่องที่อยู่ปากด้านบน มีเกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือๆ

เป็นปลาที่หากินอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เหยื่อของมันจึงเป็นปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น พบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงตอนกลาง แถบประเทศกัมพูชา ลาวและไทย

มีรายงานว่าลูกปลาสะนากยักษ์จะอพยพเข้าไปหากินในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เคยมีรายงานการพบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณปากมูล ปัจจุบันจัดเป็นปลาที่หาได้ยากมากจนถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ..ยังไม่มีความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง นอกจากนี้! เมื่อเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2565 มีรายงานการจับปลาสะนากยักษ์ได้หนึ่งตัว ซึ่งถือเป็นปลาสะนากยักษ์ตัวแรกในรอบ 20 ปี น่าเสียดายที่ตายไปแล้ว

อันดับที่ 11. ปลาสายยูหนวดกระดิก (Ceratoglanis pachynema)

ปลาสายยู (Club-barbel sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่หน้าตาประหลาด มันมีตาที่เล็ก มีหนวดเล็กที่ดูเป็นติ่งใกล้จมูก แถมยังมีพฤติกรรมกระดิกหนวดอย่างรวดเร็วขณะว่ายน้ำ โดยภายในเวลา 1 นาที จะสามารถกระดิกหนวดได้นับร้อยครั้ง นอกจากหนวดแปลกๆ ของมันแล้ว ปลาชนิดนี้ยังเป็นปลาที่มีลำตัวแบนข้าง มีสีชมพู่หรือสีนวล และยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร

ปลาสายยูหนวดกระดิก (Ceratoglanis pachynema) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

เป็นปลาที่พบได้ในธรรมชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั้นก็คือบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีรายงานการพบเพียงไม่กี่ครั้ง ปัจจุบันมีสถานะคือเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 10. ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)

ปลาเสือตอลายใหญ่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองอมน้ำตาล มีลายสีดำขนาดใหญ่พาดในแนวขวางบริเวณลำตัว โดยลายเส้นแรกจะพาดผ่านตา และเส้นสุดท้ายจะไปจบที่โคนหาง โดยนักเลี้ยงจะแบ่งปลาเสือตอชนิดนี้ ออกเป็นสองลักษณะ หนึ่งคือตัวที่มีลายกลางตัวขนาดใหญ่หนึ่งเส้น จะเรียกว่าปลาเสือตอลายใหญ่ และสองคือที่มีลายกลางตัวสองเส้น จะเรียกว่าเสือตอลายคู่ ซึ่งราคาจะถูกกว่าเสือตอลายใหญ่

ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)

ในอดีตสามารถพบปลาเสือตอลายใหญ่ ได้มากมายในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน และ บึงบอระเพ็ด จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดีและยังเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ และเพราะเป็นปลาที่ตลาดปลาสวยงามต้องการตัวเป็นอย่างมาก ปลาเสือตอลายใหญ่จึงถูกจับไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อรวมเข้ากับแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมลง จึงทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ส่วนในลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่มีรายงานการพบเห็นในเขตไทยมานานมากแล้ว แต่ยังพอมีเหลือน้อยมากในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

อันดับที่ 9. ปลาดุกบอนแม่กลอง (Olyra sp.Maeklong)

ปลาดุกบอนแม่กลอง ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาดุกบอนเพียงชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย พบเฉพาะในลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน เป็นปลาที่พบครั้งแรกในระหว่างการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ หรือ เขือนเขาแหลม หลังจากนั้นไม่มีรายงานเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย

ปลาดุกบอนแม่กลอง (Olyra sp.Maeklong) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

จนกระทั่งปี พ.ศ.2552 มีปลาบางส่วนถูกจับมาขายโดยพ่อค้าปลาสวยงามใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยพ่อค้าแจ้งว่า จับมาจากลำธารในเขตต้นแม่น้ำแควน้อย อาศัยอยู่ตามลำธารขนาดเล็ก พบบริเวณริมตลิ่งตรงที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่นหรือตามแอ่งที่มีกิ่งไม้ตกทับใต้น้ำ ปัจจุบันยังไม่มีการอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธาน

อันดับที่ 8. ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง (Incisilabeo sp.Maeklong)

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร จุดเด่นของปลาชนิดนี้คือ บริเวณส่วนหัวจะปูดออกมาคล้ายกับโหนก และยังมีขนาดใหญ่กว่าปลาหว้าหน้านอที่พบในแม่น้ำโขง หางและขอบครีบหลังจะตัดเป็นเส้นเกือบตรง กึ่งกลางไม่เว้าลึก

8. ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง (Incisilabeo sp.Maeklong) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง จัดเป็นปลาในตำนานของไทยอีกตัว เนื่องจากยังไม่ได้รับการอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานอย่างถูกต้อง มันเป็นปลาที่เคยปรากฎอยู่บนนิตยสารตกปลาเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ในตอนนั้นทราบเพียงแค่ถ่ายมาจากจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ และมีเพียงภาพเดียว จนกระทั่งพบภาพอีกชุดซึ่งถ่ายโดยคุณ ประทุมทอง จากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บริเวณต้นน้ำแม่กลอง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย

อันดับที่ 7. ปลาไหลเกล็ดระนอง (Amphipnous sp.Ranong)

ปลาไหลเกล็ดระนอง ยาวได้ประมาณ 12 เซนติเมตร จัดเป็นปลาไหลขนาดเล็ก มีลำตัวกลมยาว ส่วนท่อนหัวไม่มีเกล็ด แต่ส่วนท้ายมีเกล็ด แผ่นหางแบน พบอาศัยอยู่ในลำธารขนาดเล็ก ตามพื้นที่ริมน้ำที่มีน้ำไหลผ่านบางๆ บริเวณที่มีก้อนหินและเศษซากกิ่งไม้ใบไม้ พบในลำธารเพียงแห่งเดียว ในจังหวัดระนอง ปัจจุบันยังไม่มีการอธิบายที่แน่ชัดเกี่ยวกับปลาไหลชนิดนี้

ปลาไหลเกล็ดระนอง (Amphipnous sp.Ranong) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 6. ปลาหางไหม้ (Balantiocheilos ambusticauda)

ปลาหางไหม้ หรือ ปลาฉลามหางไหม้ (Siamese bala-shark) เป็นปลาที่อยู่ในสถานะอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แน่นอนนักเลี้ยงปลาบางคนอาจคิดว่าปลาหางไหม้จะสูญพันธุ์ได้ไง ก็ในเมื่อมีเต็มตลาด แต่! ต้องบอกว่าปลาฉลามหางไหม้ทั้งหมดที่เลี้ยงในตอนนี้ไม่ใช่หางไหม้ไทย นั้นเพราะหางไหม้ไทยอาจจะสูญพันธุ์ไปมากกว่า 40 ปีแล้ว

ปลาหางไหม้ มีรูปร่างเพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง จะมีสีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ

ปลาหางไหม้ (Balantiocheilos ambusticauda)

ปัญหาของปลาหางไหม้ไทยคือ พวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุดง่าย ครีบแตกและตกใจง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก อาจกระโดดได้สูงถึง 2 เมตร สรุปคือเป็นปลาที่มีอัตรารอดที่ต่ำกว่าปลาส่วนใหญ่ หากถูกจับส่วนใหญ่จะตาย ส่วนสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ปลาพวกนี้ต้องสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากการจับที่มากเกินไป การสร้างเขื่อนจำนวนมากก็เป็นเหตุผลหลักเช่นกัน

อันดับที่ 5. ปลาบู่เสือ (Brachygobius sua)

ปลาบู่เสือ มีความยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า บราชี่โกบิอัส ซวล (Brachygobius sua) เป็นปลาบู่ขนาดเล็กในสกุลของปลาบู่หมาจู่ แต่เส้นทางการอธิบายของปลาชนิดนี้ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะปลาชนิดนี้ถูกย้ายไปอยู่สกุลอื่นอยู่หลายครั้ง จนทำให้ข้อมูลเกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย

ปลาบู่เสือ ถูกพบครั้งแรกโดย ดร. สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ คนแรกของประเทศไทย โดยในครั้งแรกปลาบู่เสือ ถูกจัดให้อยู่ในสกุล ไทยโกเบียลา (Thaigobiella) ซึ่งเป็นสกุลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2474

ปลาบู่ที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งใช้ในการศึกษามีอยู่เพียงหนึ่งตัวเท่านั้น ซึ่งถูกจับได้จากคูน้ำในเขตกรุงเทพ โดยในเอกสารระบุว่า ปลาบู่ชนิดนี้ในชื่อ ไทยโกเบียลา ซวล (Thaigobiella sua) และอธิบายว่าเป็นปลาบู่ขนาดเล็ก มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อน มีลายสีดำพาดอยู่ 4 ชุด ลายเด่นที่สุดคือชุดที่อยู่ใต้ครีบหลังที่สอง ซึ่งจะแยกออกเป็นสองเส้นอย่างชัดเจน และยังไม่พบปลาบู่ชนิดอื่นจากสกุลเดียวกัน

ปลาบู่เสือ (Brachygobius sua) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

และเพราะมีเพียงตัวอย่างเดียว จึงมีภาพประกอบเพียงภาพเดียว ก่อนจะส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในปี พ.ศ.2488 ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ก็ได้เขียนหนังสือ The fresh-water fishes of Siam or Thailand เขาได้ระบุว่า ตัวอย่างปลาบู่เสือตัวแรกและตัวเดียวที่มีอยู่ ได้สูญหายไปหลังจากนั้นไม่นาน และได้ย้ายปลาบู่เสือให้มาอยู่ในสกุลปลาบู่หมาจู่ หรือ สกุลบราชี่โกบิอัส (Brachygobius)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ดร.เฮเลน ลาร์สัน นักมีนวิทยา ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ปลาบู่ ได้ย้ายปลาบู่เสือ ไปเป็นชื่อพ้องของปลาบู่หมาจู ชนิด บราชี่โกบิอัส แซนโทโซนัส (Brachygobius xanthozonus) หรือ ปลาบู่บัมเบิลบี (Bumblebee fish) ด้วยเหตุนี้หากค้นหาชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาบู่เสือ ก็จะได้ข้อมูลของปลาบู่บัมเบิลบี

ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ดร.เฮเลน ได้ส่งภาพและข้อความมาบอกผู้เขียนหนังสือปลาน้ำจืดไทย ซึ่งก็คือ ดร.นณณ์ ว่ามีตัวอย่างปลาบู่ตัวหนึ่งจากแม่น้่ำคาบิลี (Kabili River) ซึ่งอยู่ในซานดากัน (Sandakan) รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย โดยปลาตัวดังกล่าวมีรูปร่างและลวดลาย เหมือนกับคำอธิบายและภาพวาดของปลาบู่เสือ มากจนคิดว่าน่าจะมีอยู่จริง และเป็นที่น่าสงสัยว่าปลาบู่เสือในประเทศไทยนั้นหายไปไหนหมด? …สถานภาพในตอนนี้ ปลาบู่เสือ ยังไม่ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ อาจเพราะการมีอยู่ของปลาชนิดนี้ยังไม่ชัดเจน

อันดับที่ 4. ปลาแปบเซี้ยะ (Longiculter siahi)

ปลาแปบเซี้ยะ ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 เป็นปลาที่ถูกจับได้ทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีรายงานการพบเห็นอีกเลย ปัจจุบันมีตัวอย่างเพียง 2 ตัวเท่านั้น ทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่ สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเป็นปลาในตำนานอีกตัว

ปลาแปบเซี้ยะ (Longiculter siahi) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 3. ปลาค้อหัวหิน (Schistura myrmekia)

ปลาค้อหัวหิน ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร จัดเป็นปลาในตำนานของไทยอีกชนิด เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างเพียงตัวเดียว และยังไม่เคยพบเจอปลาชนิดนี้อีกเลย จากคำอธิบายระบุว่า ปลาชนิดนี้มีลายปล้องสีเข้มจำนวน 8 ปล้อง โดยครึ่งหนึ่งอยู่ตรงทอนหางในส่วนที่เลยครีบหลังไปแล้ว ตัวอย่างเพียงตัวเดียวของปลาชนิดนี้ถูกเก็บได้ที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหัวหิน สถานะปัจจุบันไม่สามารถระบุได้

ปลาค้อหัวหิน (Schistura myrmekia) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 2. ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis)

ปลาหวีเกศ หรือ สายยู ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่อยู่ในสกุล พลาตีโทรปิอุส (Platytropius) ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว และพบได้เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปลาน้ำจืดเพียงชนิดเดียวของไทยที่ถูกประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งประกาศเมื่อ ปี พ.ศ. 2554 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เนื่องจากมีการสำรวจอยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยพบปลาชนิดนี้เลย

ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาหวีเกศมีส่วนหัวแบนยาว หนวดมีลักษณะแบน เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีลักษณะของปลาสังกะวาดและปลาเนื้ออ่อนผสมกัน โดย ด.ร.ฮาร์มันด์ (Dr.Harmand) เก็บตัวอย่างได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2426 แล้วก็ไม่มีรายงานการพบอีกเลย

40 ปีต่อมา ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรกของประเทศไทย ได้เขียนไว้ในหนังสือว่า พบปลาชนิดนี้ค่อนข้างมาก ทางตอนบนของแม่น้ำสายเดียวกันรวมถึงแม่น้ำนครนายก มีประวัติการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากบริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นปลาที่มักจะเข้ามาติดกับอุปกรณ์จับปลาขนาดใหญ่ เช่น ลี่ ซึ่งชาวบ้านมักจะสร้างกั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในตอนนี้ไม่ได้พบเห็นมาหลายสิบปีแล้ว

อันดับที่ 1. ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง (Kryptopterus hesperius)

ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวยาว หัวแคบ หลังยกสูงขึ้นเป็นสัน มีหนวดสองคู่ ครีบหลังมีก้านครีบขนาดเล็กเพียงก้านเดียว หางจะเว้าลึก

ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง (Kryptopterus hesperius) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ตัวอย่างของปลาชนิดนี้ได้มาจากแม่น้ำแควน้อย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2505 แต่เพิ่งได้รับการอธิบายลักษณะและแยกออกมาเป็นชนิดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2545 จัดเป็นปลาระดับตำนานที่มีการอธิบายเพียงน้อยนิด และยังไม่เคยพบอีกเลยหลังพบตัวอย่างแรก สถานะปัจจุบันไม่สามารถระบุได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements