ชนิดที่ 1 – ปลาไหลในบ่อน้ำปิดตาย
นอกจากปลาชนิดนี้จะประหลาดแล้ว แต่บริเวณที่พบนั้นประหลาดกว่า เพราะปลาชนิดนี้ถูกพบในบ่อเก็บน้ำเก่าในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งถูกปิดตายมานาน บ่อน้ำแห่งนี้ไม่ควรจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้เลย
ตามรายงานปลาไหลน้ำจืดชนิดนี้ถูกเรียกว่า รักทามิคธีส มุมไบ (Rakthamichthys Mumba) มันถูกพบในบ่อน้ำเก็บเก่าที่ลึกประมาณ 40 ฟุต ซึ่งด้านบนถูกปิดด้วยแผ่นปูนขนาดใหญ่ ใช่แล้วนี่ไม่ใช่บ่อธรรมชาติ มันเป็นบ่อขุดเพื่อเก็บน้ำใต้ดินและถูกปิดตายเป็นเวลานาน
ปลาไหลชนิดนี้แปลกประหลาด และยังไม่เหมือนชนิดอื่นในสกุลของมันเพราะ ปลาไหลตัวนี้มีลำตัวยาวสีชมพู ไม่มีตา ไม่มีครีบ ไม่มีเกล็ด และขากรรไกรก็เท่ากันโดยจะอยู่ด้านหน้า มันมีกระโหลกศีรษะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว …มันเป็นปลาน้ำจืดชนิดแรกที่ตาบอดโดยสมบูรณ์ที่พบในรัฐมหาราษฏระ และในตอนนี้เราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องของมันมากนัก
ชนิดที่ 2 – ปลาช่อนมังกร (Dragon Snakehead)
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยค้นพบปลาที่มีลักษณะคล้ายปลาไหล แล้วยังมีลักษณะคล้ายปลาช่อนเช่นกัน จึงทำให้มันถูกเรียกว่า Dragon Snakehead (Aenigmachanna) มันเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำใต้ดินทางตอนใต้ของอินเดีย โดยปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้
ปลาช่อนมังกร เป็นปลาที่มีลำตัวยาวจนดูผิดปกติ พวกมันอาศัยอยู่ในถ้ำที่เป็นชั้นหินอุ้มน้ำซึ่งเป็นหินที่มีรูพรุน ในช่วงฤดูน้ำหลากพวกมันแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ขึ้นมาหายใจได้เลย
สำหรับปลาช่อนมังกร เป็นปลาที่มีลักษณะดั้งเดิมของปลาโบราณ โดยนักวิจัยกล่าวว่า ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ ได้แก่ กระเพาะที่สั้น กระดูกสันหลังที่มีซี่โครงน้อย ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าปลาช่อนมังกรมีพัฒนาการน้อยกว่าปลาช่อนทั่วไปมาก
นอกจากนี้ มันยังขาดโครงสร้างพิเศษที่อยู่บริเวณเหนือศีรษะ ซึ่งช่วยให้ปลาช่อนในสกุลชานนา (Channa) สามารถหายในเอาอากาศได้โดยตรง แต่ถึงแม้ปลาช่อนมังกรจะอยู่ในถ้ำ แต่มันกลับมีดวงตาขนาดใหญ่ที่เหมือนกับปลาช่อนทั่วไป และลำตัวก็มีสีน้ำตาลแดง ซึ่งผิดปกติอย่างมากในปลาที่อาศัยอยู่ใต้ดิน เพราะส่วนใหญ่ควรเป็นสีชมพูหรือขาวและไม่มีดวงตา
แต่เพราะลักษณะที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกมันไม่ได้อยู่ใต้ดินเพียงอย่างเดียวแน่นอน ปลาพวกนี้มีวิธีที่ไม่เหมือนใครในการเคลื่อนที่ในน้ำ มันมีครีบเหมือนปลาไหล ใช้เพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและข้างหลัง สิ่งนี้อาจช่วยให้พวกมันไปไหนมาไหนตามชั้นหินที่เป็นรูพรุนได้
และในตอนนี้ นักวิจัยสงสัยว่า พวกมันมีชีวิตจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่ไม่มีการกระจายพันธุ์มากนัก ทั้งหมดยังคงเป็นปริศนาที่ต้องใช้เวลาศึกษาต่อไป
ชนิดที่ 3 – ปลามีเขาชนิดใหม่ในสกุล – Sinocyclocheilus
Sinocyclocheilus (ซิโนไซโคลเชอิลัส) เป็นชื่อสกุลปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ซึ่งประกอบไปด้วยปลาไน ปลาตะเพียน ปลาทองและปลาซิว พวกมันถือเป็นปลาเฉพาะถิ่นของประเทศจีน โดยปลาในสกุลนี้ก็ได้รับการอธิบายเป็นครั้งแรกในปี 1936 และพวกมันประกอบด้วย 76 สายพันธุ์
ปลาในสกุลนี้เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในหรือรอบๆ ถ้ำ และส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวให้เข้ากลับถ้ำที่พวกมันอาศัยอยู่ เช่น กลายเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ไม่มีสี และมีดวงตาที่เล็กลง มีหลายชนิดถึงกับมี “เขา” แปลกๆ อยู่บนศีรษะ ซึ่งในตอนนี้นักวิจัยก็ยังไม่ทราบว่าเขาพวกนี้ช่วยอะไรพวกมันได้
ในทางตรงกันข้าม ปลาที่อาศัยอยู่เหนือพื้นดินและบางสายพันธุ์ที่อยู่ใต้ดิน ก็ไม่ได้แสดงถึงการปรับตัวให้เข้ากลับถ้ำอย่างชัดเจน ทั้งนี้นักวิจัยกล่าวว่า ปลาในกลุ่มเส้นสีทอง (golden-line fish) ที่อยู่ในสกุล Sinocyclocheilus (ซิโนไซโคลเชอิลัส) พวกมันส่วนใหญ่จะกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่หินปูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงมณฑลกว่างซี กุ้ยโจว ยูนนาน และหูเป่ย์
เพราะการกระจายตัวที่แคบ ความคล้ายคลึงกันทางสัณฐานวิทยา และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในถ้ำ เช่น การเสื่อมหรือสูญเสียดวงตาและเกล็ดของร่างกาย ทำให้การจำแนกสกุลเป็นเรื่องยากและมักจะเป็นที่ถกเถียงกันเสมอ
และสายพันธุ์ที่อยู่ในสกุล Sinocyclocheilus (ซิโนไซ โคลเชอิลัส) มักจะมีการพัฒนาตาและโครงสร้างคล้ายเขาที่แตกต่างกันที่ด้านหลังศีรษะ หรือก็คือพวกมันไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด โดยโครงสร้างคล้ายเขาจะพบมากในสายพันธุ์ Sinocyclocheilus angularis (ซิโนไซโคลเชอิลัส แองกูลาริส) และ Sinocyclocheilus microphthalmus (ซิโนไซโคลเชอิลัส ไมโครพทาลมัส)
และสำหรับ Sinocyclocheilus longicornus (ซิโนไซโคลเชอิลัส ลองกิคอร์นัส) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งได้รับการอธิบายใหม่ ในปี 2023 มันเป็นที่รู้กันว่าเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ที่จะพบในถ้ำในมณฑลกุ้ยโจวของจีน ที่ระดับความสูง 2,276 เมตร …ภายในนั้นไม่มีแสงสว่าง
นักวิจัยพบปลาชนิดนี้ตัวหนึ่งในสระน้ำเล็กๆ ที่ห่างจากปากถ้ำเพียง 25 เมตร โดยสระน้ำมีขนาดเพียง 1.8 เมตร และลึก 80 เซนติเมตร โดยในวันที่เก็บตัวอย่าง อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียส และมีค่า pH อยู่ที่ 7.4
Sinocyclocheilus longicornus (ซิโนไซโคลเชอิลัส ลองกิคอร์นัส) เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ไม่มีสี แต่จริงๆ จะบอกว่ามันสีเทาชมพูอ่อนก็ได้ และก็ดูโปร่งแสง มันมีดวงตาที่เล็กมากและดูเหมือนจะใช้งานไม่ได้แล้ว …นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างคล้ายเขาที่ค่อนข้างยาวที่ด้านหลังศีรษะของมันอีกด้วย และในตอนนี้นักวิจัยกำลังตามหาตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจพวกมันมากขึ้น
สุดท้ายก็อย่างที่เห็นครับ ปลาที่อยู่ในใต้ดินส่วนใหญ่มักจะแปลกประหลาด และพวกมันก็มีมากมายกว่าที่พวกเราคิดมาก โดยในตอนนี้ตามข้อมูลระบุว่า มนุษย์อย่างเราค้นพบปลาถ้ำมากกว่า 250 สายพันธุ์แล้ว โดยปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุด ถูกพบเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน ในถ้ำอุมลาดอว์ (Um Ladaw Cave) รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ใต้ดินลึกกว่า 300 ฟุต
หากนับเฉพาะในประเทศไทย ก็จะมีปลาถ้ำเป็นสิบชนิดหรือมากกว่านั้นอีก โดยหลายชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อย่างเช่น ปลาจาดถ้ำที่พบในจังหวัดชัยภูมิ ปลาผีเสื้อถ้ำที่พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปลาค้อถ้ำพระวังแดงที่พบในจังหวัดพิษณุโลก หรือจะเป็นปลาชะโอนถ้ำที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี …และแม้แต่ปลาธรรมดาอย่างปลาในวงศ์ปลาสวายก็ยังมีการค้นพบใหม่เช่นกัน นี่แสดงให้เห็นว่า ยังมีสัตว์อีกมากมายที่เรายังไม่เคยพบเจอ