นาข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำคืออะไร?
สำหรับนาข้าวน้ำลึกและข้าวขึ้นน้ำ คือการปลูกข้าวในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจะมีน้ำท่วมขังลึกประมาณ 1 – 5 เมตร มันเป็นการปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ต้นข้าวจะเติบโตอยู่ในสภาพน้ำตื้นในระยะ 1 – 3 เดือนแรก และหลังจากนั้นน้ำจะค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งการทำนาได้ลักษณะนี้จะมีระดับน้ำสูงมากพอที่จะเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสัตว์น้ำมากมาย
นาข้าวประเภทนี้ถือเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนและมีบทบาทเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชั่วคราว สำหรับนาข้าวที่ใช้ในการทดลองนี้ เป็นนาข้าว 3 แปลง ขนาด 2, 6 และ 12 ไร่ ที่อยู่ในตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก …โดยพันธุ์ปลาที่พบหลังจากปลูกข้าวมานาน 1 ปี มีดังนี้
1. ปลาสลาด – Notopterus notopterus
ปลาสลาด (Bronze Featherback) เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยปกติจะยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร หรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อย มันมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาตองลาย แต่จะเล็กกว่ามาก และยังมีสีที่เรียบ แต่หากเป็นวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากราย
พบในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศไทย เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ไล่กินลูกกุ้งลูกปลา และยังเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ในอดีตเป็นปลาที่หาง่ายมากๆ แต่สมัยนี้ถือว่าเจอได้ยากขึ้น
2. ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก – Rasbosoma spilocerca
ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก (Dwarf scissortail rasbora) เป็นปลาซิวขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างใสและผอม มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่ที่โคนหาง บริเวณหางมีแต้มสีเหลือสลับดำ ปลาซิวชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น หรืออาจพบได้ในแม่น้ำบริเวณตลิ่งที่มีพืชน้ำจำนวนมาก เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำนครนายก
3. ปลาซิวหางแดง – Rasbora borapetensis
ปลาซิวหางแดง หรือ ปลาซิวแถบดำ (Blackline rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร มีรูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวตลอดลำตัวและยังมีแถบสีทองขนาบด้านบน เป็นปลาที่มีครีบใส แต่ตรงโคนหางจะมีสีแดงสด ปลาซิวชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงในแหล่งน้ำนิ่ง พบได้ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง และภาคใต้ของไทย
4. ปลาซิวกระโดงแดง – Rasbora rubrodorsalis
ปลาซิวกระโดงแดง หรือ ปลาซิวครีบแดง เป็นปลาที่มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลาซิวหางแดง แต่จะต่างกันตรงที่บริเวณโคนครีบหลังมีแต้มสีแดงชัดเจน มีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่า และที่เส้นกลางลำตัวก็ไม่ชัดเท่าปลาซิวหางแดง
เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในน้ำนิ่ง หรือแม่น้ำบริเวณตลิ่ง พบได้มากในลุ่มน้ำโขง แต่จะพบได้น้อยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
5. ปลาซิวหนู – Boraras urophthalmoides
ปลาซิวหนู เป็นปลาซิวขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลาซิวชนิดอื่น หัวโต ตาโต ครีบและเกล็ดมีขนาดใหญ่ หัวและลำตัวมีสีส้มหรือแดงอมส้ม มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวกลางลำตัว โคนหางมีจุดสีคล้ำ ในฤดูผสมพันธฺุ์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม
มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ และว่ายขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ชอบอยู่ในแหล่งน้ำที่นิ่งมีหญ้าและพืชน้ำขึ้นหนาแน่น พบปลาชนิดนี้ได้บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในที่ราบลุ่มภาคกลาง และในป่าพรุ
6. ปลาซิวสมพงษ์ – Trigonostigma somphongsi
ปลาซิวสมพงษ์ ในปลาตัวผู้จะมีรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเหลืองส้มและมีลวดลายด้านข้าง มีสีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ และมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่หายากมากๆ เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรี
เคยถูกจัดให้เป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้วโดย IUCN เมื่อกว่า 50 ปี ก่อน จนในปี พ.ศ. 2555 ก็มีการค้นพบปลาชนิดนี้ที่จังหวัดนครนายก ซึ่งตรงกับการรายงานการทดลองปลาในนาข้าวพอดี และในตอนนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
7. ปลาซิวหนวดยาว – Esomus metallicus
ปลาซิวหนวดยาว (Striped flying barb) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน มีหนวดสองคู่ โดยคู่บนขากรรไกรจะยาวมาก ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวไปจนถึงโคนหาง เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดของไทย
8. ปลาซิวเจ้าฟ้า – Amblypharyngodon chulabhornae
ปลาซิวเจ้าฟ้า ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร มีสีโปร่งใสจนเห็นแกนดำของกระดูกสันหลังชัดเจน ตาโต หลังค่อม ท้องเป็นสีเงินแวววาว บริเวณส่วนหัวด้านบนมีสีเขียวเหลือบทอง เป็นปลาที่ใช้บริโภคในท้องถิ่น นิยมทำเป็นปลาจ่อม มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “ปลาแตบแก้ว” เป็นปลาที่ค้นพบในปี พ.ศ. 2533 ที่บึงบอระเพ็ด ภายหลังพบในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของภาคเหนือ ภาคกลาง และพบมากในภาคอีสานของประเทศไทย
9. ปลาตะเพียนทราย – Puntius brevis
ปลาตะเพียนทราย เป็นปลาตะเพียนขนาดเล็ก ที่ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับตะเพียนขาว มีเกล็ดสีเงินปกคลุมลำตัว มีจุดสีเทาจนถึงดำอยู่ที่ครีบหลังและโคนหาง ในฤดูผสมพันธุ์ปลาเพศผู้จะแถบสีส้มผ่านกลางลำตัว เป็นปลาที่มีพฤติกรรมรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ตามแหล่งน้ำนิ่งที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น พบในแม่น้ำ ลำคลอง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลองและภาคใต้ของไทย
10. ปลาไส้ตันตาแดง (ชนิดที่ 1) – Cyclocheilichthys apogon
ปลาไส้ตันตาแดง หรือ ปลาหยา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีจุดเด่นตรงที่เมื่อโตเต็มวัย ที่ขอบตาด้านบนจะมีสีแดง ปากเล็ก ริมฝีปากบาง ไม่มีหนวด ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำ ลายบนเกล็ดชัดและมีขนาดใหญ่ จนคล้ายเรียงกันเป็นเส้น มีแต้มสีดำอยู่ที่โคนหาง ครีบเป็นสีส้มหรือแดง มักอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ในแม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วประเทศ
11. ปลาไส้ตันตาแดง (ชนิดที่ 2) – Cyclocheilichthys armatus
ปลาไส้ตัวตาแดงชนิดที่สอง ต่างจากชนิดแรกที่เพิ่งพูดถึงไปตรงที่ มีลำตัวดูป้อมกว่า ลายสีดำบนเกล็ดก็มีขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีแต้มสีดำที่โคนหาง เส้นข้างลำตัวก็ไม่แตกแขนง และยังมีหนวด 1 คู่ ซึ่งชนิดแรกไม่มีหนวด พบในแม่น้ำและแหล่งน้ำเกือบทั่วประเทศ
12. ปลาสร้อยนกเขา – Osteochilus vittatus
ปลาสร้อยนกเขา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างป้อม ครีบท้อง ครีบก้น และครีบหางเป็นสีส้นหรือแดง เกล็ดบริเวณลำตัวบางเกล็ดจะมีแต้มสีส้ม อาจมีแถบสีดำพาดตั้งแต่มุมปากไม่จนถึงโคนหาง หรือ ที่โคนหางอาจมีแต้มสีดำขนาดใหญ่ ชอบหากินอยู่กับปลาเกล็ดชนิดอื่น พบกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
13. ปลาสร้อยลูกกล้วย – Labiobarbus siamensis
ปลาสร้อยลูกกล้วย หรือ ปลามะลิเลื้อย เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวเพรียวยาว มีเกล็ดขนาดเล็ก หัวเล็ก หางคอด และปากเล็ก มีหนวดที่ยาวกว่าปลาสร้อยลูกกล้วยลายอย่างเห็นได้ชัด บริเวณแผ่นปิดเหงือกมีปื้นรูปเพชร ครีบสีจางหรือเหลืองอ่อน ครีบหลังเป็นแผงยาวถึงโคนหาง ครีบหางเว้าลึก สีเหลืองออกแดงเรื่อๆ บางตัวมีแต้มจุดที่หลังครีบอกและโคนหาง ในไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในแม่น้ำสายหลักและสาขาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง
14. ปลาอีดหางส้อม – Lepidocephalichthys furcatus
ปลาอีดหางส้อม เป็นปลาอีดขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีลำตัวป้อมสั้น แผ่นหางมีขนาดใหญ่และเว้าลึกกว่าปลาอีดชนิดอื่นๆ ที่พบได้ในไทย มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีดำ ปกติจะพบได้ที่ภาคใต้ของไทย
15. ปลาดุกอุย – Clarias macrocephalus
ปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกนา (Broadhead catfish) เป็นปลาดุกไทยแท้ ปัจจุบันเป็นปลาที่หาได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ เพราะมันถูกแทนที่ด้วยปลาดุกชนิดอื่น โดยปลาดุกอุยเป็นปลาที่มีรสชาติดี เนื้อนุ่มมีมันมาก ปลาดุกอุยจะลำตัวสีค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว 9 – 10 แถบ เมื่อโตขึ้นจะเลือนหายไป มีหัวค่อนข้างทู่ ส่วนกะโหลกท้ายทอยจะดูโค้งมน
16. ปลาซิวข้าวสาร – Oryzias minutillus
ปลาซิวข้าวสาร (Dwarf medaka) เป็นปลาที่ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีรูปร่างเรียวยาว ตาโต จะงอยปากเรียว ปากเล็ก ลำตัวใสหรือสีน้ำตาลอ่อน ในส่วนรอบตาและท้องจะเหลือบสีฟ้าเงิน จัดเป็นหนึ่งในปลาที่เรียกว่าปลาในนาข้าว ซึ่งจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในแหล่งนิ่งที่มีหญ้าและพืชน้ำหนาแน่น รวมถึงพื้นที่ในป่าพรุ และแม้ปลาชิวชนิดนี้จะไม่สวยนัก แต่ก็ถูกจับมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
17. ปลาหัวกั่ว – Aplocheilus panchax
ปลาหัวตะกั่วที่พบในไทย บางทีก็เรียก หัวกั่ว หัวงอน หัวเงิน เป็นปลาเกล็ดขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร ลำตัวกลมยาว แผ่นหางกลม หากมองจากด้านบนจะเห็นเป็นจุดสีเงินบริเวณส่วนหัวอย่างชัดเจน ในปลาเพศผู้จะมีขนาดใหญ่และสีสวยกว่าเพศเมีย
ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพค่อนข้างดี มีพืชน้ำหรือพืชตามชายน้ำมากพอสมควร พบได้ทั้งในลำธารน้ำไหล ในแหล่งน้ำนิ่ง รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำที่น้ำค่อนข้างกร่อย
18. ปลาไหลนา – Monopterus albus
ปลาไหลนา หรือ ปลาไหลบึง (Asian Swamp Eel) มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร รูปร่างเรียวยาวคล้ายงู ตามีขนาดเล็ก คอป่องออก มีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ในคอหอย ซึ่งช่วยให้หายใจได้โดยไม่ต้องผ่านซี่กรองเหงือกเหมือนปลาทั่วไป และยังสามารถขุดรูในดินเพื่อจำศีลในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย
ปลาไหลนาจัดเป็นปลาในวงศ์ปลาไหลนาที่พบมากที่สุดในไทย พบได้ทุกภาค เกือบทุกแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสัตว์รุกรานที่มีมากมายในฟลอริดา
19. ปลาหมอช้างเหยียบ – Pristolepis fasciata
ปลาหมอช้างเหยียบ (Striped tiger leaffish) ถือเป็นปลาเนื้อดีที่คนไทยนิยมกิน แต่ก็หากินได้ยากเช่นกัน ปลาชนิดนี้มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อม ลำตัวด้านข้างแบน พื้นลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลปนเหลืองจนถึงดำ มีเกล็ดแบบสากและขอบหยักปกคลุมทั่วตัว มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 8-12 แถบ เป็นปลาที่พบได้ทุกสภาพแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค
20. ปลาบู่ทราย – Oxyeleotris marmorata
ปลาบู่ทราย ถือเป็นปลาน้ำจืดราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งที่พบในไทย ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างโต ด้านบนหัวแบนราบ หัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้าง ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมนใหญ่ มีลวดลายดำและสลับขาว ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง มีรอยปื้นสีดำกระจายไปทั่วตัว ในบางตัวสีอาจกลายเป็นสีเหลืองทองได้ จึงทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ปลาบู่ทอง” ในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลองและสาขาทั่วทุกภาค
21. ปลากริมสี – Trichopsis pumila
ปลากริมสี หรือ ปลากริมมุก ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร จัดเป็นปลากริมขนาดเล็กที่สุดในสกุลปลากริม มีรูปร่างเรียวยาว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็ก พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว เกล็ดข้างลำตัวสะท้อนแสงแวววาว ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำพาดยาวตามความยาวลำตัว เหนือแถบมีจุดสีน้ำตาลกระจายเรียงเป็นแถว เป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและต้องการน้ำคุณภาพค่อนข้างดี มีพืชหนาแน่น ในไทยพบได้ทั่วทุกภาค
22. ปลากริมควาย – Trichopsis vittata
ปลากริมควาย ยาวได้ประมาณ 4.5 เซนติเมตร จัดเป็นปลากริมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำตัวแบนข้างมาก ส่วนหัวโค้ง ปากงอนเชิดขึ้น ในปลาเพศผู้ ปลายหางและครีบก้นอาจมีครีบเปียยื่นยาวออกมา โดยส่วนเปียจะมีสีเขียว ดำ หรือ ขาว สำหรับสีบนลำตัวของปลากริมควายค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่สีน้ำตาล ชมพู ไปจนถึงสีออกเขียว แต่สีจะออกจางๆ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งขนาดเล็ก เช่น หนองหรือบึงน้ำที่มีหญ้าหรือวัชพืชปกคลุม
23. ปลากระดี่นาง – Trichopodus microlepis
ปลากระดี่นาง (Moonlight gourami) เป็นปลากระดี่ขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวสีเงินวาว ในปลาบางตัวจะมีแถบสีเทาเรื่อๆ พลาดผ่านกลางลำตัว พบได้ในแหล่งน้ำจืด ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย เป็นปลาที่พบเห็นได้ยากกว่าปลากระดี่หม้อ เนื่องจากต้องการน้ำที่สะอาดกว่า แต่จะพบเห็นได้ง่ายหากเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสม
24. ปลากระดี่หม้อ – Trichopodus trichopterus
ปลากระดี่หม้อ เป็นปลากระดี่ที่มีลักษณะคล้ายกับปลากระดี่นาง มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง เกล็ดสีเงินหม่น มีจุดสีดำกลางลำตัวและโคนหางตำแหน่งละจุด มีลายบั้งเฉียงจางๆ ตลอดทั้งตัว เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทุกภาคของประเทศไทย
สำหรับปลากระดี่หม้อเป็นปลาที่มีสีสันหลากหลาย ซึ่งต่างออกไปตามพันธุกรรมและถิ่นอาศัย เช่น ปลาที่พบในพื้นที่ภาคใต้จะมีลำตัวสีฟ้าเข้มกว่าปลาที่พบในที่อื่น และยังมีปลาที่นำไปพัฒนาสายพันธุ์ให้มีพื้นลำตัวสีฟ้าและเหลือง ที่เรียกว่า “ปลากระดี่นางฟ้า” หรือ “ปลากระดี่เหลือง”
25. ปลาสลิด – Trichopodus pectoralis
ปลาสลิด เป็นปลาน้ำจืดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดาปลากระดี่และปลาสลิดของไทย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีดำพาดผ่านลำตัวตามแนวนอน และมีลายเฉียงพาดไม่เป็นระเบียบซึ่งแลดูคล้ายหนังงู ปลาสลิดชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งหรือตามแม่น้ำลำคลองที่ในบริเวณน้ำนิ่ง เป็นปลาที่คนไทยนิยนนำมาประกอบอาหาร และยังมีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
26. ปลาหมอ – Anabas testudineus
ปลาหมอ เป็นปลาที่ชอบปีนขึ้นจากบ่อน้ำเพื่อหาที่อยู่ใหม่โดยเฉพาะหลังฝนตกใหม่ๆ …ความจริงนิสัยนี้ก็คล้ายกับปลาช่อนนา ที่เมื่อฝนตกพวกมันก็ชอบโดดไปหาบ่อใหม่เช่นกัน เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง มีเกล็ดขนาดใหญ่ พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง หรือเขียวมะกอกอมเหลืองจนถึงดำ
แม้ปลาชนิดนี้จะอร่อยและดูไม่มีพิษมีภัย แต่เพราะมีก้านครีบที่แข็งบริเวณหลังและก้น แถมยังมีเงี่ยงที่แหลมคมบริเวณเหงือก หากจับปลาแบบไม่ระวัง อาจจะโดนเงี่ยงหรือก้านครีบแข็งๆ แทงจนเป็นแผลแถมยังเจ็บปวดด้วย แม้จะไม่เจ็บปวดเท่ากับปลาแขยงก็ตาม
27. ปลากระสง – Channa lucius
ปลากระสง (Blotched snakehead) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน แต่มีส่วนหัวที่แบนกว่า สีสันบริเวณลำตัวเป็นสีเขียวมะกอกมีลวดลายคล้ายลายไม้ ยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย รวมถึงในบริเวณพื้นที่ป่าพรุ แต่จะพบได้น้อยกว่าปลาช่อนมาก
28. ปลาชะโด – Channa micropeltes
ปลาชะโด (Giant Snakehead) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 100 – 150 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาช่อน มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว เป็นปลาที่ดุร้าย ไม่นิยมกินในประเทศไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านนิยมมาก พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของไทย
29. ปลาช่อน – Channa striata
ปลาช่อน (striped snakehead) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6-7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน มีขนาดลำตัวประมาณ 30-40 เซนติเมตร
เป็นปลาที่สามารถแถกไถตัวไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูแล้งได้เป็นเวลานาน และยังเป็นปลาช่อนชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด จึงเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับแรกของไทย
ขอสรุปส่งท้ายซะหน่อย สำหรับปลา 29 ชนิดที่พูดถึงไปนี้ เป็นปลาที่พบในนาข้าวของจังหวัดนครนายก ซึ่งบางชนิดก็หายากสุดๆ อย่างเช่น ปลาซิวสมพงษ์ ซึ่งคงจะไม่ได้เห็นง่ายๆ ในธรรมชาติอีกแล้ว ส่วนปลาทั่วไปอย่าง ปลาช่อน ปลากระสง ปลาหมอ ปลาสลิด อะไรพวกนี้ก็น่าจะพบเห็นได้ทั่วประเทศ แต่มีเรื่องแปลกในอยู่อย่างคือ ไม่มีปลานิล?
และหากถามว่าในตอนนี้จังหวัดนครนายก ยังมีปลาพวกนี้อยู่หรือไม่? ผมว่าก็มีนั้นล่ะ เพียงแต่คงจะน้อยลงไปมากจริงๆ เพราะแม้จะผ่านมาแค่ 10 กว่าปี แต่! 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ จังหวัดนครนายก ก็เปลี่ยนไปมากจริงๆ แหล่งน้ำหลายแห่งหายไป หลายแห่งก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สมัยก่อนผมชอบเดินตกปลาตามลำธารที่จังหวัดนครนายก แต่มาถึงตอนนี้แทบไม่ได้ไปแล้ว ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปมาก และผมเองก็หวังว่ามันจะดีขึ้นในอนาคต แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม