อัพเดทล่าสุด ’20 สัตว์ป่าสงวนของไทย’ ห้ามเลี้ยง ห้ามซื้อขาย กระดูกก็ห้ามครอบครอง

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อของ "สัตว์ป่าสงวนของไทย" ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 20 ชนิด โดยชนิดที่ 20 คือ "นกชนหิน" ที่เพิ่งได้รับการรับรองไปในช่วงปีก่อน และหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จึงยังเป็นสัตว์ป่าสงวน เหตุผลก็เพื่อปกป้องชิ้นส่วนของสัตว์เหล่านี้ แม้พวกมันจะไม่มีชีวิตอยู่บนโลกแล้วก็ตาม

20 สัตว์ป่าสงวนของไทย

ตัวที่ 1 – แรดชวา – Rhinoceros sondaicus

Advertisements

แรดชวา หรือ ระมาด หรือ แรดซุนดา (Javan Rhinoceros) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ หนึ่งในห้าชนิดของแรดที่ยังเหลืออยู่ ลำตัวยาว 3.1–3.2 เมตร และสูง 1.4–1.7 เมตร มีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ เหนือจมูกมีนอสั้นๆ หนึ่งนอมีขนาดเล็กกว่าแรดทุกชนิด จึงได้อีกชื่อว่า “แรดนอเดียว” …โดยแรดชวาเป็นแรดเอเชียที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดตั้งแต่เกาะในอินโดนีเซีย ตลอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และจีน

ปัจจุบันแรดชวาถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังมีประชากรหลงเหลืออยู่ในป่า จัดเป็นหนึ่งในสัตว์หายากที่สุดในโลก คาดว่ามีประชากรแรดน้อยกว่า 40-50 ตัวในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 2 – กระซู่ – Dicerorhinus sumatrensis

กระซู่, แรดสุมาตรา (Sumatran rhinoceros) กระซู่เป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็นแรดเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Dicerorhinus มีลักษณะเด่นคือมี 2 นอ เหมือนแรดแอฟริกา โดยนอจะไม่ตั้งยาวขึ้นมาเหมือนแรดชวา นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง โดยทั่วไปยาว 15-25 ซม. ลำตัวมีขนหยาบและยาวปกคลุม เมื่อโตเต็มที่สูง 120–145 ซม. จรดหัวไหล่ ยาว 250 ซม. และมีน้ำหนัก 500-800 กก.

กระซู่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และ ป่าเมฆในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเสฉวน ปัจจุบัน กระซู่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ

กระซู่, แรดสุมาตรา

ในตอนนี้เหลือประชากรเพียงหกแหล่งในป่า มีสี่แหล่งในสุมาตรา หนึ่งแหล่งในบอร์เนียว และอีกหนึ่งแหล่งในมาเลเซียตะวันตก จำนวนกระซู่ในปัจจุบันยากที่จะประมาณการได้เพราะเป็นสัตว์สันโดษที่มีพิสัยกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง แต่คาดว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 3 – สมเสร็จมลายู – Tapirus indicus

สมเสร็จมลายู หรือ สมเสร็จเอเชีย (Malayan tapir, Asian tapir) บ้างเรียก ผสมเสร็จ นับเป็นสมเสร็จชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นชนิดเดียวที่พบในทวีปเอเชีย โดยสมเสร็จมลายูเป็นสัตว์มีหน้าตาประหลาด คือมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน มีจมูกที่ยื่นยาวออกมาคล้ายงวงของช้าง รูปร่างหน้าตาคล้ายหมูที่มีขายาว หางสั้นคล้ายหมีและมีกีบเท้าคล้ายแรด

ลักษณะเด่น คือ บริเวณส่วนหัวไหล่และขาทั้งสี่ข้างมีสีดำ ส่วนกลางลำตัวเป็นสีขาว ใบหูกลม ขนปลายหูและริมฝีปากมีสีขาว มีแผ่นหนังหนาบริเวณสันก้านคอเพื่อป้องกันการโจมตีของเสือโคร่ง ที่จะตะปบกัดบริเวณก้านคอ

สมเสร็จมลายู หรือ สมเสร็จเอเชีย

Advertisements
ลูกที่เกิดใหม่จะมีลวดลายคล้ายแตงไทยและขนยาว และลายนี้จะค่อย ๆ จางลงเมื่ออายุได้ 6-8 เดือน ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย โตเต็มที่ความยาวลำตัวและหัว 220-240 เซนติเมตร ความยาวหาง 5-10 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 100 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 250-300 กิโลกรัม (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้สูญพันธุ์)

ตัวที่ 4 – กูปรี – Bos sauveli

Advertisements

กูปรี หรือ โคไพร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos sauveli เป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน ตัวผู้ มีขนสีดำ ขนาดความสูง 1.71 – 1.90 เมตร ขนาดลำตัว 2.10 – 2.22 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 700 – 900 กิโลกรัม เขาตัวผู้จะโค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า

ตัวเมีย มีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา มีเขากลวงแบบ Horns ขนาดเท่ากัน โคนเขาใหญ่ ปลายเขาแหลม ไม่มีการแตกกิ่ง ยาวประมาณ 1 เมตร

กูปรี หรือ โคไพร ปัจจุบันไม่มีการรายงานการพบมานานแล้ว จนครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันเชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยกับกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงบริเวณชายแดนระหว่างลาวตอนใต้และเวียดนามด้วย เพราะมักจะมีข่าวว่าพบสัตว์ลักษณะคล้ายกูปรีบ่อย ๆ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือพอ นอกจากคำเล่าลือเท่านั้น (สถานะการอนุรักษ์ = สูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 5 – ควายป่า – Bubalus arnee

ควายป่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bubalus arnee มีลักษณะคล้ายควายบ้าน (B. bubalis) แต่ควายป่าแต่มีลำตัวขนาดลำตัวใหญ่กว่า มีนิสัยว่องไวและดุร้ายกว่าควายบ้านมาก สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี (V) ควายป่ามีเขาทั้ง 2 เพศ

ควายป่า

Advertisements
ตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่เกือบ 2 เมตร ความยาวหัวและลำตัว 2.40–2.80 เมตร ความยาวหาง 60–85 เซนติเมตร น้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลกรัม

มีการกระจายพันธุ์จากประเทศเนปาลและอินเดีย ไปสิ้นสุดทางด้านทิศตะวันออกที่ประเทศเวียดนาม ในประเทศไทยในอดีตเคยมีอยู่มากและกระจัดกระจายออกไป โดยพบมากที่บ้านลานควาย หรือบ้านลานกระบือ ปัจจุบัน คือ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้สูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 6 – เลียงผา – Capricornis sumatraensis

เลียงผา หรือ เลียงผาใต้ (common serow, Sumatran serow, southern serow) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์เดียวกับแพะ, แกะ และวัว มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนมีเส้นเล็กและหยาบ ขนตามลำตัวมีสีเทาอมดำ บริเวณท้องจะมีสีอ่อนกว่า สีของเลียงผาวัยอ่อนจะมีสีเข้ม แต่จะอ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อโตตามวัย จนดูคล้ายกับสีเทา

โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่าเลียงผาเหนือ มีขนาดความยาวลำตัวและหัว 140-155 เซนติเมตร ความยาวหาง 115-160 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 85-94 เซนติเมตร น้ำหนัก 85-100 กิโลกรัม (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้สูญพันธุ์)

ตัวที่ 7 – กวางผา – Naemorhedus griseus

Advertisements

กวางผา หรือ กวางผาจีน หรือ กวางผาจีนถิ่นใต้ (Chinese goral, South China goral) มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ มีหูยาว ขนตามลำตัวหยาบและหนามีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง ตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณลำคอด้านในมีขนสีอ่อน ริมฝีปากและรอบ ๆ ตาสีขาว เขาสั้นมีสีดำ ตัวผู้จะมีเขาที่หนาและยาวกว่าตัวเมีย

กวางผา หรือ กวางผาจีน มีความยาวลำตัวและหัว 82–120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5–20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50–60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22–32 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญานเตือนภัยถึงตัวอื่นๆ ในฝูง ใช้ประสาทการมองมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชทั่วไป

มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของรัฐสิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคกลางและภาคใต้ของจีน, พม่า, ภาคเหนือของไทยและลาว (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มั่นคง)

ตัวที่ 8 – สมัน – Rucervus schomburgki

สมัน หรือ เนื้อสมัน (อังกฤษ: Schomburgk’s deer) เป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางเป็นสีขาว มีลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ ดูสวยงาม จึงได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก มีกิ่งรับหมาหรือกิ่งเขาที่ยื่นออกไปข้างหน้ายาวกว่ากิ่งรับหมาของกวางชนิดอื่นๆ

สมัน หรือ เนื้อสมัน

Advertisements
สมันมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความยาวหาง 10 เซนติเมตร มีความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 100-110 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม สมันนั้นวิ่งเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยเท่านั้น รวมถึงในบริเวณกรุงเทพมหานครปัจจุบันด้วย ..เพราะชอบอยู่ที่โล่ง จึงเป็นสัตว์ที่ถูกล่าได้ง่ายมาก (สถานะการอนุรักษ์ = สูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 9 – ละมั่ง – Panolia eldii

ละมั่ง หรือ ละองละมั่ง (Panolia eldii) เป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง แต่สีขนจะอ่อนลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ขนหยาบและยาว ในฤดูหนาวขนจะยาวมาก แต่จะร่วงหล่นจนดูสั้นลงมากในช่วงฤดูร้อน

ละมั่ง หรือ ละองละมั่ง ในตัวผู้จะเรียกว่า ละอง ตัวเมียซึ่งไม่มีเขาจะเรียกว่า ละมั่ง แต่จะนิยมเรียกคู่กัน สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษาเขมรคำว่า “รมัง” (រមាំង)

ละองตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยจะมีขนแผงคอที่ยาว ลูกแรกเกิดจะมีจุดสีขาวกระจายอยู่รอบตัว และจุดนี้จะจางหายเมื่ออายุมากขึ้น ขอบตาและริมฝีปากล่างมีสีขาว มีความยาวลำตัวและหัว 150–170 เซนติเมตร ความยาวหาง 220–250 เซนติเมตร น้ำหนัก 95–150 กิโลกรัม (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์)

ตัวที่ 10 – เก้งหม้อ – Muntiacus feae

เก้งหม้อ หรือ กวางเขาจุก (Fea’s muntjac, Tenasserim muntjac) มีลักษณะคล้ายเก้งธรรมดา (M. muntjac) แต่ต่างกันเก้งหม้อจะมีขนบริเวณลำตัวที่เข้มกว่า ใบหน้ามีสีน้ำตาลเข้ม บริเวณกระหม่อมและโคนขามีสีเหลืองสด ด้านล่างของลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ขาทั้ง 4 ข้างมีสีดำ จึงเป็นที่มาของอีกชื่อสามัญที่เรียก

ด้านหน้าด้านหลังมีสีขาวเห็นได้ชัดเจน หางสั้น หางด้านบนมีสีเข้ม แต่ด้านล่างมีสีขาว มีเขาเฉพาะตัวผู้ เขาของเก้งหม้อสั้นกว่าเก้งธรรมดา ผลัดเขาปีละ 1 ครั้ง มีความยาวลำตัวและหัว 88 เซนติเมตร ความยาวหาง 10 เซนติเมตร น้ำหนัก 22 กิโลกรัม

เก้งหม้อ หรือ กวางเขาจุก เป็นเก้งที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าเหลือเพียงตัวเดียวในโลก ที่สวนสัตว์ดุสิต แต่ปัจจุบัน ยังพอหาได้ตามป่าธรรมชาติและวัดในพรมแดนไทยพม่า ที่พระสงฆ์เลี้ยงอยู่ (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มีข้อมูล)

ตัวที่ 11 – พะยูน – Dugong dugon

พะยูน (Dugong dugon) เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น พะยูนมีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลมเทอะทะ ครีบมีลักษะคล้ายใบพายซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากขาหน้าใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีใบหู ตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อแย่งคู่กับใช้ขุดหาอาหาร

พะยูน

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ถึง 3 เมตร น้ำหนักเต็มที่ได้ถึง 300 กิโลกรัม พะยูนสามารถกลั้นหายใจใต้น้ำได้นานราว 20 นาที เมื่อจะนอนหลับพักผ่อน พะยูนจะทิ้งตัวลงในแนวดิ่ง และนอนอยู่นิ่ง ๆ กับพื้นทะเลราว 20 นาที ก่อนจะขึ้นมาหายใจอีกครั้งหนึ่ง (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มั่นคง) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 12 – แมวลายหินอ่อน – Pardofelis marmorata

แมวลายหินอ่อน (Marbled cat) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์เสือ ที่มีขนาดเท่ากับแมวบ้าน แต่มีหางยาวกว่าและมีขนที่หางมากกว่า หัวมีขนาดเล็ก กลมมน สีขนมีลวดลายเป็นแถบหรือเป็นดวงคล้ายลวดลายของเสือลายเมฆ หรือลวดลายบนหินอ่อน ได้รับการอนุกรมวิธานโดยตัวอย่างต้นแบบเป็นตัวเมียที่ได้ตัวอย่างจากประเทศไทย

แมวลายหินอ่อน ถิ่นอาศัยของแมวลายหินอ่อนอยู่ในรัฐอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา เมื่ออยู่ในป่าทึบตามธรรมชาติจะพบเห็นได้น้อย

ปัจจุบันยังมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแมวชนิดนี้อยู่น้อย และยังไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอน ขณะเดียวกันป่าที่เป็นถิ่นอาศัยก็มีพื้นที่ลดลง (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้ถูกคุกคาม) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 13 – นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร – Pseudochelidon sirintarae

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกนางแอ่นตาพอง (White-eyed River-Martin) เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น พบบริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก แต่อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกนางแอ่นตาพอง นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง

บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์) .. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

ตัวที่ 14 – นกแต้วแร้วท้องดำ – Hydrornis gurneyi

นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และบางส่วนในประเทศพม่า

นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1875 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยชื่อสามัญในภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นเป็นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น เฮนรี เกอนีย์ นายธนาคารและนักปักษีวิทยาสมัครเล่นชาวอังกฤษ

นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ

มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี ค.ศ. 1914 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์)

ตัวที่ 15 – นกกระเรียนไทย – Grus antigone sharpii

นกกระเรียนไทย หรือ นกกระเรียน เป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่นกอพยพ พบในบางพื้นที่ของอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศออสเตรเลีย เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก เมื่อยืนจะสูงถึง 1.8 เมตร สังเกตเห็นได้ง่าย

นกกระเรียนไทย หรือ นกกระเรียน นกกระเรียนไทยเป็นนกขนาดใหญ่ มีลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวเป็นหนังเปลือยสีแดงไม่มีขน ตรงกระหม่อมเป็นสีเทาหรือเขียว คอยาวเวลาบินคอจะเหยียดตรงไม่เหมือนกับนกกระสาซึ่งจะงอพับไปด้านหลัง ขนปลายปีกและขนคลุมขนปลายปีกสีดำ ขนคลุมขนปีกด้านล่างสีเทา ขนโคนปีกสีขาว ขายาวเป็นสีชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง ปากแหลมสีดำแกมเทา (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มั่นคง)

ตัวที่ 16 – เต่ามะเฟือง – Dermochelys coriacea

เต่ามะเฟือง หรือ เต่าเหลี่ยม (Leatherback turtle) เป็นเต่าทะเล จัดเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน

เต่ามะเฟือง หรือ เต่าเหลี่ยม

เต่ามะเฟืองสามารถแยกออกจากเต่าประเภทอื่นได้โดยการสังเกตที่กระดองจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับผลมะเฟือง และครีบคู่หน้าไม่มีเล็บ ตั้งแต่ออกจากไข่ ความลึกที่เต่ามะเฟืองสามารถดำน้ำได้ถึง 1,280 เมตร

เนื่องจากเต่าทะเล ส่วนใหญ่จะมีการเดินทางตามกระแสน้ำอุ่น จึงสามารถพบเต่ามะเฟืองได้ตามทวีป หรือ ประเทศที่มีกระแสน้ำอุ่นพัดผ่าน รวมถึงประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย หมู่เกาะอินดีส ปาปัวนิวกินี และ ในฝั่งทะเลแคริบเบียน (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มั่นคง)

ตัวที่ 17 – ปลาฉลามวาฬ – Rhincodon typus

ปลาฉลามวาฬ (whale shark) เป็นฉลามเคลื่อนที่ช้าที่กินอาหารแบบกรองกิน เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ยาวถึง 12.65 เมตร หนัก 21.5 ตัน ยังไม่มีรายงานการพบฉลามวาฬที่ใหญ่กว่านี้

ฉลามวาฬ จัดเป็นสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่นักดำน้ำต้องการจะพบเห็นตัวและถ่ายรูปมากที่สุด จัดเป็น 1 ใน 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งท้องทะเล

ปลาฉลามวาฬ

ทว่าไม่ใช่เป็นสัตว์ทะเลที่จะพบเห็นได้ง่ายๆ แม้กระทั่งนักดำน้ำในทริปเดียวกัน แต่ดำในคนละจุด จุดหนึ่งจะเห็น แต่อีกจุดก็จะไม่เห็น จนเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่นักดำน้ำว่า หากใครเคยพบเห็น ก็จะพบตลอด แต่ใครที่ไม่เคยพบ ก็จะไม่พบเลย (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้สูญพันธุ์)

ตัวที่ 18 – วาฬบรูด้า – Balaenoptera edeni

วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ (Bryde’s whale, Eden’s whale) เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15.5 เมตร หนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา จำนวน 250-370 ซี่ อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน, เคย, ปลาขนาดเล็ก และหมึก

วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ โดยชื่อ วาฬบรูด้า เป็นการตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติ แก่กงสุลชาวนอร์เวย์ ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ชื่อโยฮัน บรูด้า พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี มีอายุยืนได้ถึง 50 ปี (สถานะการอนุรักษ์ = ใกล้ถูกคุกคาม)

ตัวที่ 19 – วาฬโอมูระ – Balaenoptera omurai

วาฬโอมูระ (Omura’s whale) เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ. 2003

วาฬโอมูระ

เมื่อพิจารณาจากซากแล้วจึงพบว่ามีความต่างจากวาฬบรูด้าคือวาฬโอมูระนั้นมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ที่โตเต็มวัยยาวเพียง 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า คือ 80 – 90 รอยจีบ และมีครีบหลังที่สูงกว่าและมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า (สถานะการอนุรักษ์ = ไม่มีข้อมูล)

ตัวที่ 20 – นกชนหิน – Rhinoplax vigil

นกชนหิน (Helmeted hornbill) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก พบในประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว โหนกบนหัวมีน้ำหนักประมาณ 11% ของน้ำหนักตัว ใช้สำหรับต่อสู้แบบเอาหัวชนกันระหว่างตัวผู้โหนกนี้ต่างจากของนกเงือกชนิดอื่นๆ ตรงที่มีลักษณะทึบตันแทบทั้งชิ้น ชาวปูนันเชื่อว่านกชนหินตัวใหญ่เป็นผู้พิกษ์แม่น้ำที่แบ่งกั้นระหว่างความเป็นและความตาย

นกชนหิน

“นกชนหิน” นกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของไทย จากสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 จนในที่สุดวันนี้ 8 มี.ค. 2564 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ผ่านความเห็นชอบให้นกชนหิน (Helmeted Hornbill) เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 (สถานะการอนุรักษ์ = เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์).. กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม

Advertisements