ชนิดที่ 1 – ปลาซิวข้าวสาร – Oryzias minutillus
ปลาซิวข้าวสาร (Dwarf medaka) เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาว ตาโต จะงอยปากเรียว ปากเล็ก ลำตัวใสและมีสีน้ำตาลอ่อน ในส่วนรอบตาและท้องจะเหลือบสีฟ้าเงิน เป็นปลาที่ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร จัดเป็นหนึ่งในปลาที่เรียกว่าปลาในนาข้าว ซึ่งจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในแหล่งนิ่งที่มีหญ้าและพืชน้ำหนาแน่น รวมถึงพื้นที่ในป่าพรุ และแม้ปลาชิวชนิดนี้จะไม่สวยนัก แ ต่ก็ถูกจับมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 2 – ปลาซิวข้าวสารแม่น้ำสงคราม – Oryzias songkhramensis
สำหรับปลาซิวชนิดนี้ ถือเป็นปลาซิวชนิดใหม่ ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย และถูกอธิบายในปี 2010โดย ดร.วิเชียร มากตุ่น มันเป็นปลาที่ถูกพบในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย นอกจากนี้แล้วยังพบในเขตประเทศลาว
โดยปลาชิวชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก มันมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีลำตัวสีทองแวววาว มักจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในนาข้าว ซึ่งจะกินตัวอ่อนยุงและตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร
ชนิดที่ 3 – ปลาซิวเพชรน้อย – Boraras maculates
ปลาซิวเพชรน้อย (Dwarf rasbora) เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาว หัวโต ตาโต ปากเล็ก มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ เส้นข้างลำตัวดูไม่ค่อยสมบรูณ์ มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีแดงส้ม มีจุดสีคล้ำที่เหนือครีบอก ครีบก้นและที่โคนหาง มีขนาดใหญ่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร
ปลาซิลเพชรน้อยเป็นปลาที่อาศัยกันเป็นฝูงเล็กๆ ชอบปะปนอยู่กับปลาซิวชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณป่าพรุ พบได้น้อยในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นปลาซิวที่สวยและแปลก แต่ก็เลี้ยงได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องปรับคุณภาพน้ำให้ใกล้เคียงกับน้ำในป่าพรุ
ชนิดที่ 4 – ปลาซิวใบไผ่มุก – Danio albolineatus
ปลาซิวใบไผ่มุก หรือ ปลาซิวใบไผ่เล็ก หรือ ปลาซิวเจ็ดสี (Pearl danio) เป็นปลาซิวที่มีขนาดประมาณ 3.5 เซนติเมตร ลำตัวยาวและแบนข้าง ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมชมพู ส่วนท้องดูเป็นประกายสีเขียวสดใส ด้านข้างลำตัวสีชมพูปนเงิน …เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำสาละวิน, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง และแม่น้ำต่าง ๆ ในภาคใต้ รวมถึงแหล่งน้ำในป่าพรุด้วย มักจะหลบอยู่ใต้ซากใบไม้
ชนิดที่ 5 – ปลาซิวใบไผ่ – Devario regina
ปลาซิวใบไผ่ หรือ ปลาจุกกี หรือ ปลาซิวใบไผ่ราชินี (Blue Danio, Queen danio) เป็นปลาที่มีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร มีลำตัวกลมเรียวยาว พื้นลำตัวสีเทาอ่อน มีเส้นเหลืองเข้มยาวตลอดลำตัว กลางตัวเป็นสีเหลือบฟ้า ท้องสีขาววาว ด้านบนสีเหลืองคล้ำ เป็นปลาที่พบในน้ำตก ลำธาร ลำห้วย
ชนิดที่ 6 – ปลาซิวหนวดยาว – Esomus metallicus
ปลาซิวหนวดยาว (Striped flying barb) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน มีหนวดสองคู่ โดยคู่บนขากรรไกรจะยาวมาก ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวไปจนถึงโคนหาง เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดของไทย
ชนิดที่ 7 – ปลาซิวหางแดง – Rasbora borapetensis
ปลาซิวหางแดง หรือ ปลาซิวแถบดำ หรือ ปลาซิวบอระเพ็ด (Blackline rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน มีแถบสีดำพาดตามแนวยาวตลอดลำตัวและยังมีแถบสีทองขนาบด้านบน เป็นปลาที่มีครีบใส แต่ตรงโคนหางจะมีสีแดงสด
ปลาซิวชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงในแหล่งน้ำนิ่ง และบริเวณน้ำหลาก พบได้ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง ภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซียและสิงคโปร์
ชนิดที่ 8 – ปลาซิวทอง – Rasbora einthovenii
ปลาซิวทอง (Brilliant rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 8 เซนติเมตร มีรูปร่างทรงกระบอกเรียวแบนข้างเล็กน้อย มีครีบหลังตั้งอยู่กึ่งกลางลำตัว ครีบหางเว้าลึก ตาโต หลังมีสีเทา ลำตัวสีขาวเงินสะท้อนแสง เกล็ดมีขอบสีดำ มีแถบสีดำพาดยาวผ่านนัยน์ตาไปสิ้นสุดที่ปลายครีบหาง
เป็นปลาที่พบในแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และปัจจุบันจะพบได้ที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม และเป็นหนึ่งในปลาซิวที่พบได้ยากในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ชนิดที่ 9 – ปลาซิวควาย – Rasbora myersi
ปลาซิวควาย (Myer’s silver rasbora) เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำลำธารเกือบทุกภาคในประเทศไทย รวมถึงลุ่มบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เป็นปลาที่ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีลำตัวยาวทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย ปากเล็กไม่มีหนวด ตาโต ลำตัวมีสีเหลืองอ่อนอมทอง มีแถบสีเงินพาดตามความยาวกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ครีบสีเหลืองอ่อนและมีขอบสีคล้ำ
เป็นหนึ่งในปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมนำมาประกอบอาหาร ทำปลาร้าหรือปลาแห้ง และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 10 – ปลาซิวแถบเหลือง – Rasbora pauciperforata
ปลาซิวแถบเหลือง หรือ ปลาซิวแถบทอง (Redstripe rasbora) ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีรูปร่างผอมยาว มีเกล็ดใหญ่ หัวและลำตัวมีสีเหลือง มีแถบสีทองและดำพาดตั้งแต่ส่วนท้ายของหัวไปจนถึงโคนครีบหาง …เป็นปลาที่พบในป่าพรุคันธุลี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และพบได้น้อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ชนิดที่ 11 – ปลาซิวหางกรรไกร – Rasbora trilineata
ปลาซิวหางกรรไกร หรือ ปลาซิวหางดอก (Scissor-tailed rasbora) จัดเป็นหนึ่งในปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร มีรูปร่างเรียวยาวแบนข้างเล็กน้อย ท่อนหางยาว ส่วนหลังโค้ง หัวโต ตาโต ท้องใหญ่ เกล็ดตามลำตัวมีสีขาวเงินปนน้ำตาล หลังมีสีน้ำตาลปนดำ มีแถบสีดำตามลำตัว มีลายดำบนแฉกของครีบหาง โดยหางจะเป็นแฉกเว้าคล้ายกรรไกรอันเป็นที่มาของชื่อ
เป็นปลาที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ตั้งแต่ลุ่มน้ำแม่กลอง แม่น้ำโขงและภาคใต้ของไทย นิยมนำมาบริโภคกันในท้องถิ่น และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ชนิดที่ 12 – ปลาซิวข้างขวานเล็ก – Trigonostigma espei
ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Lambchop rasbora) เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเทาเงิน กลางลำตัวเป็นสีน้ำตาลอมแดง และกึ่งกลางลำตัวจนถึงโคนครีบหาง จะมีแถบสามเหลี่ยมเรียวเล็กจนมีลักษณะคล้ายขวาน
พบในแหล่งน้ำไหลในภาคใต้ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณน้ำตกในภาคตะวันออกของไทย จัดเป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยมีชื่อเรียกที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “ปลาซิวข้างขวานภูเขา”
ชนิดที่ 13 – ปลาซิวข้างขวานใหญ่ – Trigonostigma heteromorpha
ปลาซิวข้างขวานใหญ่ (Red rasbora) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวแบนข้างกว่าปลาซิวทั่วไป หัวและตาโต ปากเล็ก ลำตัวสีส้มแดงเหลือบชมพูหรือม่วง ลำตัวช่วงกลางจนถึงโคนหางมีแต้มสีดำรูปสามเหลี่ยม
เป็นปลาที่มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในประเทศไทยพบเฉพาะแหล่งน้ำไหลเชี่ยว บริเวณภาคใต้แถบจังหวัดตรัง หรือที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และปัจจุบันปลาซิวข้างขวานใหญ่ ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดอีกด้วย
ชนิดที่ 14 – ปลาซิวสมพงษ์ – Trigonostigma somphongsi
ปลาซิวสมพงษ์ เป็นปลาที่ค้นพบโดยนายสมพงษ์ เล็กอารีย์ พ่อค้าปลาสวยงามชาวไทย โดยปลาตัวผู้จะมีรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเหลืองส้มและมีลวดลายด้านข้าง มีสีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ และมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร
ทั้งนี้ ปลาซิวสมพงษ์จัดเป็นปลาที่หายากมาก เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น มีรายงานการส่งออกไปขายยังต่างประเทศในฐานะปลาสวยงาม จนทำให้ปลาซิวสมพงษ์มีสถานะในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
ชนิดที่ 15 – ปลาซิวใบไผ่แม่แตง – Devario maetaengensis
ปลาซิวใบไผ่แม่แตง (Fire bar danio) เป็นปลาที่ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง ส่วนหางเรียวยาว มีหนวดสั้นที่มุมปาก ตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์มีสีสันสดใส โดยท้องและครีบก้นมีสีแดงอมส้ม
พบในลำธารที่มีป่าปกคลุมเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่แตง และพื้นที่รอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว