14 ปลาน้ำจืดไทย ที่มีคำว่า ‘สยามเอ็นซิส’ อยู่ในชื่อ

บางคนอาจสงสัยว่า สยามเอ็นซิส (siamensis) คืออะไร แล้วมันมีความพิเศษอย่างไร? จะว่ามันก็ไม่ได้พิเศษอะไร แต่หากในชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต มีคำว่าสยามเอ็นซิสอยู่ในชื่อ มันก็จะเป็นการแสดงถึงว่าเป็นปลาที่พบครั้งแรกในไทย อธิบายตัวอย่างแรกที่ไทย หรือ ถึงขนาดพบตัวได้เฉพาะที่ไทย ...แต่! ก็มีปลาบางชนิดที่ไม่ได้พบครั้งแรกที่ไทย แถมตัวอย่างก็มาจากที่อื่น ก็ยังแปะชื่อสยามเอ็นซิสเช่นกัน ...และนี่คือ ปลาไทยที่ 14 ชนิดที่มีชื่อสยามเอ็นซิสแปะติดอยู่ หากตกชนิดไหนไปก็บอกกันได้นะครับ คิดว่ายังไม่น่าจะครบ ...ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่ง หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ทำได้เช่นกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาฉลามแม่น้ำ (Glyphis siamensis)

Advertisements

ปลาฉลามแม่น้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyphis siamensis (กลายฟิส สยามเอ็นซิส) และมีอีกชื่อว่า ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี จัดเป็นฉลามน้ำจืดแท้ที่หาได้ยากมาก ตัวอย่างแรกของปลาชนิดนี้พบที่แม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า ซึ่งมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร แต่ไม่มีบันทึกใดๆ ว่าทำไมจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับฉลามชนิดนี้ โดยมีคำว่า สยามเอ็นซิส (siamensis) ซึ่งหมายความว่าพบในประเทศไทย

ฉลามแม่น้ำชนิดนี้มีความยาวประมาณ 300 เซนติเมตร มีลำตัวเพรียวยาวกว่าฉลามหัวบาตร หน้าแหลมยาว เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำ

โดยปกติฉลามน้ำจืดพวกนี้ จะอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และตามแนวชายฝั่ง กระจายพันธุ์อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย พวกมันอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด ซึ่งก็คือ ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ชนิดที่ 2 – ปลาแขยงหิน (Pseudomystus siamensis)

ปลาแขยงในประเทศไทยมีอยู่หลายสิบชนิด ซึ่งผมเคยทำเรื่องของปลาแขยงที่พบในไทยไปแล้ว 24 ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่มีคำว่าสยามเอ็นซิส โดยปลาแขยงหิน หรือ ปลากดหิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พีโดมายสตัส สยามเอ็นสิส (Pseudomystus siamensis)

แขยงหินมีความยาวประมาณ 9 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่มีสีและลวดลายสวยมากชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลแดง มีแถบสีอ่อน 3 แถบ ความกว้างของแถบ จะขึ้นอยู่กับอายุของปลา เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทั่วประเทศไทย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 3 – ปลาหวีเกศ (Platyropius siamensis)

ปลาหวีเกศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พลาตีโทรปิอุส สยามเอ็นซิส (Platyropius siamensis) เป็นปลาที่พบได้เฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเป็นปลาของไทยชนิดเดียวที่ได้รับการประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการไปเมื่อปี พ.ศ. 2554

Advertisements

ปลาหวีเกศ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีลักษณะของปลาสังกะวาดและปลาเนื้ออ่อนผสมกัน ลำตัวเรียวยาว มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนหลังเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กมาก มีลักษณะเด่นคือ มีหนวดยาวแต่จะแบน ดูไม่เป็นเส้น แต่คล้ายกับเส้นผมของผู้หญิง จึงเป็นที่มาของชื่อ “หวีเกศ” เป็นปลาที่กินแมลงเป็นอาหาร

ชนิดที่ 4 – ปลาค้างคาวติดหินสยาม (Oreoglanis siamensis)

Advertisements

ปลาค้างคาวติดหินสยาม หรือ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออรีโอกลานิส สยามเอ็นซิส(Oreoglanis siamensis) เป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และจะพบได้ที่ระดับความสูง 1,200 เมตรขึ้นไป

ปลาค้างคาวติดหินสยามยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ชนิดที่ 5 – ปลาหมอแคระสยาม (Badis siamensis)

ในธรรมชาติประเทศไทย พบปลาหมอแคระ 3 ชนิด หนึ่งคือ ปลาหมอแคระพม่า (Badis ruber) สองคือ ปลาหมอแคระแม่กลอง (Badis khwae) และสามคือ ปลาหมอแคระขี้เซา หรือ ปลาหมอแคระสยาม ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า บาดิส สยามเอ็นซิส (Badis siamensis)

Advertisements

โดยปลาหมอแคระสยาม เป็นปลาหมอน้ำจืดขนาดเล็กมาก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร เป็นปลาที่พบครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต แต่มีการกระจายพันธุ์ตามแหล่งน้ำที่ไหลลงแนวชายฝั่งด้านทะเลอันดามันของไทย เริ่มตั้งแต่จังหวัดระนองลงไป ข้อมูลจากเว็บไซด์ fishbase.org ระบุว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย

ชนิดที่ 6 – ปลาหลดจุด (Macrognathus siamensis)

ในประเทศมีปลาหลดที่ได้รับการอธิบายแล้ว 9 ชนิด และยังมีปลาที่หน้าตาคล้ายกันอีก 7 ชนิด ในปลาเหล่านี้ มีเพียง ปลาหลดจุดเท่านั้นที่มีคำว่าสยามเอ็นซิสอยู่ในชื่อ ซึ่งปลาชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มาโครนาทัส สยามเอ็นซิส (Macrognathus siamensis) โดยปลาหลดจุดถือเป็นปลาหลดที่หาได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย และตัวอย่างแรกก็พบในไทยเช่นกัน

ปลาหลดจุด เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำตัวยาว พื้นลำตัวสีเหลืองอมเทา บริเวณฐานครีบหลังมีลายจุดสีดำขอบขาว โดยจำนวนจุดของแต่ละตัวจะต่างกัน เป็นปลาที่พบได้เกือบทั่วประเทศไทย ยกเว้นลุ่มน้ำสาละวิน และทางภาคตะวันออก

ชนิดที่ 7 – ปลาลิ้นหมา (Brachirus siamensis)

Advertisements

ปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมามีอยู่ 18 ชนิด แต่พบในไทยเพียง 3 ชนิด และมีเพียงชนิดเดียวที่มีคำว่าสยามเอ็นซิสอยู่ในชื่อ สำหรับปลาลิ้นหมา ชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แบร็คอิรัส สยามเอ็นซิส (Brachirus siamensis) มีลำตัวยาวแบน พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล มีจุดกระขนาดเล็กสลับกับลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่้วไป เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง แต่จะพบได้ยากกว่าปลาลิ้นหมาน้ำโขง เป็นปลาที่พบในตลาดปลาสวยงาม

ชนิดที่ 8 – ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis)

ตามข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า ปลาสร้อยขาว เป็นหนึ่งในสิบปลาน้ำจืดที่ถูกจับมากที่สุดในไทย โดยคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของปลาน้ำจืดที่จับในแต่ละปี

Advertisements

ปลาสร้อยขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เฮนิโครินคัส สยามเอ็นซิส (Henicorhynchus siamensis) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร มีครีบที่โปร่งแสง ได้รับการอธิบายจากตัวอย่างที่พบในเขตกรุงเทพ จัดเป็นปลาที่พบเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ของไทย

ชนิดที่ 9 – ปลาสร้อยลูกกล้วย (Labiobarbus siamensis)

ปลาสร้อยลูกกล้วย หรือ ปลามะลิเลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เลบิโอบาร์บัส สยามเอ็นซิส (Labiobarbus siamensis) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวเพรียวยาว มีเกล็ดขนาดเล็ก หัวเล็ก ปากเล็ก บริเวณแผ่นปิดเหงือกมีปื้นรูปเพชร ครีบสีจางหรือเหลืองอ่อน ครีบหลังเป็นแผงยาวถึงโคนหาง ครีบหางเว้าลึก สีเหลืองออกแดงเรื่อๆ บางตัวมีแต้มจุดที่หลังครีบอกและโคนหาง ในไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในแม่น้ำสายหลักและสาขาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ในอดีตจัดเป็นหนึ่งในปลาที่พบได้มากในนาข้าว

ชนิดที่ 10 – ปลากระโห้ไทย (Catlocarpio siamensis)

ปลากระโห้ไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คาโลคาร์ปิโอ สยามเอ็นซิส (Catlocarpio siamensis) เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นปลาประจำจังหวัดกรุงเทพอีกด้วย จริงๆ ปลาชนิดนี้เรียกปลากระโห้เฉยๆ ก็ได้ แต่เพราะสมัยนี้มีปลากระโห้อินเดียหลุดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีคนจำนวนมากคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน

ปลากระโห้ไทย เป็นปลาขนาดใหญ่ในวงศ์ปลาตะเพียน และเป็นปลาเพียงชนิดเดียวในสกุลคาโลคาร์ปิโอ (Catlocarpio) โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม

ในอดีตปลากะโห้พบเฉพาะในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในหลายจังหวัด ในต่างประเทศพบได้ที่ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม แต่ปัจจุบันจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถูกจับเป็นจำนวนมาก จัดเป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ชนิดที่ 11 – ปลาเข็ม (Dermogenys siamensis)

ในประเทศไทยมีปลาเข็มอยู่หลายชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่มีชื่อสยามเอ็นซิส โดยปลาเข็มชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดอร์โมจีนี่ส์ สยามเอ็นซิส (Dermogenys siamensis) จัดเป็นปลาเข็มที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาคของไทย

ตามข้อมูลจากหลังสือปลาน้ำจืดไทย ระบุว่าเป็นปลาที่คนไทยเพาะเลี้ยงมานานนับร้อยปี ซึ่งเป็นไปตามบันทึกของ ด.ร. สมิธ ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยช้อนปลาเข็มมาเลี้ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 หลังจากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาเป็นปลาเข็มหม้อ ซึ่งมีขนาดใหญ่ หรือจะเป็นปลาเข็มแพลตตินั่มที่มีสีสันสวยงาม

ชนิดที่ 12 – ปลาเสือพ่นน้ำสยาม (Toxotes siamensis)

ก่อนอืนต้องบอกไว้ก่อนว่า ปลาเสือพ่นน้ำ มิใช่ ปลาเสือตอ และในไทยก็มีปลาเสือพ่นน้ำอยู่หลายชนิด ทั้งนี้ปลาเสือพ่นน้ำสยาม หรืออีกชื่อคือ เสือพ่นน้ำนครสวรรค์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ทอกโซเตส สยามเอ็นซิส (Toxotes siamensis)

ปลาเสือพ่นน้ำสยาม ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีเกล็ดที่เล็ก พื้นลำตัวและหางจะเป็นสีเหลืองเข้ม มีลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว แต่ส่วนใหญ่ลายจะอยู่กลางลำตัว ชอบอาศัยในน้ำจืดสนิท พบมากในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พบขายในตลาดปลาสวยงาม จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย

ชนิดที่ 13 – ปลาท้องพลุ (Laubuka siamensis)

ปลาท้องพลุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เลาบูก้า สยามเอ็นซิส (Laubuka siamensis) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 6 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเงินอมทอง มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ มีจุดสีดำเหลือครีบอก มีแถบสีดำยาวผ่านกลางลำตัว จัดเป็นปลาที่พบได้น้อยมากในธรรมชาติ พบในแหล่งน้ำภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย

ชนิดที่ 14 – ปลาบู่ปากกว้างสยาม (Eugnathogobius siamensis)

ปลาบู่ปากกว้างสยาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ยูนาโทโกเบียส สยามเอ็นซิส (Eugnathogobius siamensis) จัดเป็นปลาบู่ขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร จากข้อมูลหนังสือปลาน้ำจืดไทย ระบุว่าพบครั้งแรกในคลองสีลม กรุงเทพ หลังจากสำรวจเพิ่มเติม จึงพบว่าเป็นปลาที่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ได้ทั้งในน้ำนิ่งและน้ำไหล เป็นปลาสันโดษ นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements