สำหรับ “วงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Sheatfish)” จะหมายถึงปลาหนังที่มีรูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้าง และใช้ชื่อวงศ์ว่า Siluridae (/ไซ-เลอร์-อิ-ดี้/) โดยปลาในวงศ์นี้มีอยู่มากมายหลายชนิด เฉพาะที่พบในไทยก็มีประมาณ 30 ชนิด
ปลาเนื้ออ่อนชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดของไทยคือ ปลาก้างพระร่วง (Krytopterus vitreolus) ที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ส่วนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในไทย ก็คงเป็นปลาเค้าขาวหรือไม่ก็เค้าดำ ที่ยาวได้ถึง 2 เมตร ส่วนปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ ปลาเวลส์ (Silurus glanis) พบได้ในยุโรป
ชนิดที่ 1 – ปลาสายยู – Ceratoglanis pachynema
ปลาสายยู (Club-barbel sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่หน้าตาประหลาด มันมีตาที่เล็ก มีหนวดเล็กที่ดูเป็นติ่งใกล้จมูก แถมยังมีพฤติกรรมกระดิกหนวดอย่างรวดเร็วขณะว่ายน้ำ โดยภายในเวลา 1 นาที จะสามารถกระดิกหนวดได้นับร้อยครั้ง นอกจากหนวดแปลกๆ ของมันแล้ว ปลาชนิดนี้ยังเป็นปลาที่มีลำตัวแบนข้าง มีสีชมพู่หรือสีนวล และยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร
เป็นปลาที่พบได้ในธรรมชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั้นก็คือบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันมีสถานะเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงปลาเช่นกัน ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูงมาก
แต่ยังมีอีกสิ่งที่คุณต้องรู้คือ ในไทยยังมีปลาอีกชนิด 2 ชนิดที่ใช้ชื่อว่า “ปลาสายยู” ชนิดแรกคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาหวีเกศ และมันก็สูญพันธุ์ไปแล้ว อีกชนิดคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาสวาย ซึ่งยังพบได้มากมาย และชนิดนี้เองที่มักเอาข้อมูลของสายยูที่เป็นปลาเนื้ออ่อนไปผสมจนมั่ว จนไปสู่การสอนแบบผิดๆ
ชนิดที่ 2 – ปลาคางเบือน – Belodontichthys truncatus
ปลาคางเบือน (Twisted-jaw catfish) เป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะส่วนหัวแบนข้างมากซึ่งเป็นเช่นเดียวกับลำตัว มีรูปร่างเพรียวยาว หัวและจะงอยปากงอนขึ้นด้านบน ปากกว้างมาก คางเชิดขึ้น อันเป็นที่มาของชื่อ “คางเบือน” ใกล้มุมปากมีหนวด 1 คู่ยาวจนถึงครีบอก ลำตัวมีสีเงินวาว มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร
ในไทยพบปลาชนิดนี้ได้ในแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ ยกเว้นแม่น้ำสาละวินและในภาคตะวันออก เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่แหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเวียนที่ดี โดยเฉพาะตามตอม่อสะพานหรือประตูน้ำ ถ้าอยากจะจับปลาชนิดนี้คงต้องไปรอแถวนั้น
ชนิดที่ 3 – ปลาชะโอนถ้ำ – Pterocryptis buccata
ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย อาศัยอยู่ในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
โดยปลาชะโอนถ้ำจะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวมีสีขาวเผือก ดวงตามีขนาดเล็กและเป็นสีแดง เป็นปลาที่หายากมาก ตามข้อมูล ในปี 2002 ได้มีคณะสำรวจชาวไทยเข้าไปสำรวจ และจับปลากลับมาได้ประมาณ 10 ตัว จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบปลาชนิดนี้อีก แม้จะมีการสำรวจอีกหลายครั้งก็ตาม …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะข้อมูลไม่เพียงพอ
ชนิดที่ 4 – ปลาดังแดง – Hemisilurus mekongensis
ปลาดังแดง เป็นปลาที่ส่วนหัวแบนข้างเล็กน้อย มีปากที่เล็ก ตาเล็ก มีหนวดหนึ่งคู่ โดยหนวดของตัวผู้จะเรียวสั้น ในขณะที่ตัวเมียจะมีหนวดเส้นใหญ่กว่าและยังแบนที่ปลาย สีของลำตัวมีสีเทาอ่อนอมฟ้า หนังบางค่อนข้างใส ครีบสีจางขอบครีบหางสีคล้ำ ส่วนหัวมีสีแดงเรื่อโดยเฉพาะบริเวณจะงอยปาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดัง ภาษาอีสานแปลว่า จมูก”
ปลาดังแดงมีขนาดประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยปกติมักจะถูกจับได้ในหลายจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงอุบลราชธานี เนื้อมีรสชาติดี มักบริโภคโดยการปรุงสด
ชนิดที่ 5 – 6 – ปลาน้ำเงิน และ ปลาแดง
สำหรับปลาน้ำเงิน (Phalacronotus apogon) และปลาแดง (Phalacronotus bleekeri) ขอพูดถึงพร้อมกันไปเลย เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดนี้ค่อนข้างคล้ายกัน พวกมันเป็นปลาที่พบเห็นได้ง่ายในสมัยก่อน แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ต้องบอกว่า ทั้งปลาแดงและน้ำเงินเป็นปลาที่พบได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ตามข้อมูลระบุว่าปลาน้ำเงิน ยาวได้ถึง 1.5 เมตร ซึ่งทำไมมันตัวใหญ่จัง ผมเคยเห็นอย่างมากก็ตัวเท่าแขน ส่วนปลาแดงยาวได้ประมาณ 80 เซนติเมตร ก็ยังใหญ่เกินไปอยู่ดี ข้อมูลส่วนนี้อาจใช้ไม่ได้ในตอนนี้ และแม้พวกมันจะดูเหมือนกัน แต่ถ้ามองดูดีๆ ปลาทั้ง 2 ตัวนี้ มีจุดที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน เพียงแต่อาจต้องรู้จักลักษณะของปลาทั้ง 2 ชนิดก่อน
หากดูที่บริเวณส่วนหัว ให้ดูที่ตาของปลา จะเห็นว่า “ปลาน้ำเงินมีตาที่เล็กกว่าปลาแดง” หากดูที่ตำแหน่งปาก “ปลาแดงจะมีปากล่างยืนออกมามากกว่าปลาน้ำเงิน” และปลาน้ำเงินก็มีสันหลังบริเวณต้นคอสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
หากดูที่สีของลำตัว “ปลาน้ำเงิน จะมีพื้นลำตัวสีขาวเงินและมีหลังสีดำอมเขียว” ในขณะที่ “ปลาแดง จะมีพื้นลำตัวจะออกใส สีเงินวาวอมแดง และด้านบนจะมีสีออกเหลือบเขียวคล้ำๆ” นอกจากนี้ครีบก้นของปลาแดงจะสีจาง ไม่มีแถบสีคล้ำซึ่งต่างจากปลาน้ำเงิน ..และนี่ก็เป็นความแตกต่างหลักๆ ของปลาแดงและปลาน้ำเงิน แน่นอนว่าพวกมันเป็นปลาเนื้ออ่อนที่มีราคาแพงทั้งคู่ และก็รสชาติดีด้วย
ชนิดที่ 7 – ปลาเค้าขาว – Wallago attu
ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish) เป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ยาวได้ถึง 2 เมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 80 เซนติเมตร มีส่วนหัวและจะงอยปากปากยื่นแหลม ปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยด้านหลังของลูกตา มีฟันแหลมเล็กบนขากรรไกร ตาเล็กและมีหนวดที่ริมฝีปาก ลำตัวมีสีเงินวาวอมเขียวอ่อนที่ด้านหลัง ในปลาบางตัวมีแถบยาวสีคล้ำที่ด้านข้างลำตัว ด้านท้องสีจาง บางตัวอาจมีครีบสีคล้ำอมเหลืองอ่อน
ปลาเค้าขาว ชอบอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึกตามแม่น้ำ ในที่ๆ กระแสน้ำไม่แรงมาก และยังชอบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืมริมฝั่งแม่น้ำที่มีสภาพเป็นดินโคลน เป็นปลาที่ชอบอยู่ตัวเดียว เพราะมีนิสัยก้าวร้าวห่วงที่ และยังเป็นปลาประจำถิ่นไม่ค่อยจะย้ายไปไหน หากคุณเจอมันขึ้นน้ำตรงไหน มันก็มักจะอยู่แถวนั้นเป็นเวลานาน
ชนิดที่ 8 – ปลาเค้าดำ
ในประเทศไทยมีปลาเค้าดำอยู่ 2 ชนิด หนึ่งคือ ปลาเค้าดำ (Black Sheatfish) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในภาคกลางขึ้นไปทางเหนือและพบในแม่น้ำโขง มันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ วอลลาโกเนีย ไมโครโพกอน (Wallagonia micropogon) เป็นปลาเค้าดำที่คนไทยส่วนใหญ่พูดถึง และมันก็ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว
ส่วนตัวที่สองคือ ปลาเกรตทาปาห์ (Great Tapah) ที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ วอลลาโกเนีย ลีเรีย (Wallagonia leerii) ชนิดนี้พบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป และจะพบมากในมาเลเซีย จนถึงอินโดนีเซีย มันเป็นชนิดที่ใหญ่กว่าปลาเค้าขาวบ้านเราซะอีก
และจุดต่างของปลาเค้าดำกับเกรตทาปาห์ หลักๆ เลยคือ เกรตทาปาห์ ดูคล้ายกับเค้าขาวมากกว่า มีลายยาวสีขาวเหลืองจางๆ สองถึงสามเส้นพาดไปตามยาวของลำตัวที่เป็นสีดำของมัน ส่วนเค้าดำก็มีลายเช่นกันแต่จะไม่ชัดเจนและตัวก็ป้อมสั้นกว่า แต่ถึงอย่างงั้น ทั้งสองชนิดนี้ก็ดูคล้ายกันจนน่าสับสน
ชนิดที่ 9 – ปลาชะโอน – Ompok bimaculatus
ปลาชะโอน หรือ ปลาสยุมพร (Butter catfish) มีความยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลและเป็นลวดลายกระดำกระด่างจ่างๆ เหนือครีบมีจุดสีดำขนาดใหญ่ข้างละจุด มีหนวด 2 คู่ เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่กลอง จันทบุรี พัทลุง และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
ชนิดที่ 10 – ปลาขาไก่ – Kryptopterus cryptopterus
ปลาขาไก่ (blue sheatfish) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาว 10 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้างและเรียวไปทางด้านท้าย หัวเล็ก ปากเล็ก ตาค่อนข้างโต มีหนวด 2 คู่ ลำตัวสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียวและตัวค่อนข้างใส เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นฝูง โดนจะพบพวกมันได้ในลุ่มน้ำแม่กลอง เจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำในภาคใต้
ปลาขาไก่ สามารถนำมาบริโภคโดยการปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย หรือนำไปทำเป็นปลาแห้ง ปลารมควันก็ดี และยังจัดเป็นหนึ่งในปลาที่ถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ก็เลี้ยงค่อนข้างยากเนื่องจากขี้ตกใจ
ชนิดที่ 11 – ปลาก้างพระร่วง – Kryptopterus bicirrhis
ปลาก้างพระร่วง (Glass catfish) ถือเป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย พวกมันเคยมีอยู่มากมายในแม่น้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรง โดยในภาคกลางพบที่จังหวัดนครนายก จันทรบุรีจนถึงตราด ภาคใต้พบในสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุงและสงขลา นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นที่รัฐปีนังของมาเลเซียด้วย แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน
ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นจนเกือบจะมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง ลำตัวใสจนมองเห็นก้างภายในตัว เป็นปลาที่ไม่เหมาะที่จะเอามาทำอาหาร แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามโดยใช้ประกอบในตู้ไม้น้ำ
สำหรับปลาก้างพระร่วงเป็นปลาสวยงานที่ได้รับความนิยมสูง แต่ปลาส่วนใหญ่ยังคงเป็นปลาที่จับมาจากธรรมชาติ เนื่องจากยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ในปริมาณมาก และปลาก้างพระร่วงซึ่งอยู่ในสกุลปลาเพียว ก็มีอีก 19 ชนิด เช่น ปลาเพียวขุ่น และ ปลาผี เป็นต้น …เอาไว้วันหลังจะรวบรวมมาให้ดูกัน