สำหรับประกาศมีบังคับใช้ในวันที่ 16 ส.ค.2564 เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยอย่างมาก
ยกตัวอย่างกรณีปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ซึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก
กรมประมจึงได้กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ส.ค.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่
- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
- ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- ปลาเทราท์สายรุ้ง (ปลาเรนโบว์เทราต์)
- ปลาเทราท์สีน้ำตาล
- ปลากะพงปากกว้าง
- ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- ปลาเก๋าหยก
- ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
- ปูขนจีน
- หอยมุกน้ำจืด
- หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
เพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศ
สำหรับเกษตรกรหรือหน่วยงานใดที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มนี้ ทั้งเพื่อจำหน่ายหรือศึกษาวิจัย ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วัน หลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้
โดยสัตว์น้ำที่จับได้ สามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่การจำหน่ายจะต้องทำให้ตายก่อน รวมถึงห้ามมีการปล่อยสัตว์น้ำลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว ขอให้นำสัตว์น้ำส่งมอบให้หน่วยงานกรมประมงใกล้บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
“บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron)
ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาเพื่อทดลองเลี้ยงตั้งแต่ปี 2553 มันได้หลุดออกจากฟาร์มทดลองเลี้ยงในปีเดียวกัน ขณะนี้ได้ระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในวงกว้าง จนทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องลงไปแก้ปัญหากันเลย
การระบาดของปลาหมอสีคางดำเริ่มส่งผลกระทบประมาณปี 2555 ในพื้นที่ อ.เขาย้อย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และพื้นที่ อ.อัมพวาและ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ทั้งนี้ เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด ทำให้กุ้งและปลาชนิดอื่นที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ถูกกินและสูญหายไปจำนวนมาก
ปลาหมอ มายัน (Cichlasoma urophthalmus)
ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) เป็นปลาที่หากินได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย หากินตามพื้นท้องน้ำ ชอบอยู่เขตร้อน เป็นปลาขนาดกลาง มีขนาดตั้งแต่ 8 – 22 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุด 600 กรัม เป็นปลาที่อยู่ได้แม้ออกซิเจนต่ำ ปลาชนิดนี้กินเนื้อ เช่นลูกปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก มีนิสัยดุร้าย หวงถิ่น
พบการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยจับได้ที่คลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางขุนเทียน และมีการจับได้โดยชาวประมงในปี 2549 โดยใช้ลอบ ข่าย และเบ็ดตกปลา จัดเป็นปลาที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศไทยอย่างมาก
ปลาหมอ บัตเตอร์ (Heterotilapia buttikofe)
ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นหนึ่งในปลาหมอที่นักตกปลารู้จักกันดี เพราะกันค่อนข้างบ่อย จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ มีสีสันลวดลายสวยงาม ลำตัวเป็นเส้นขีดสีคล้ำพาดขวางตลอดทั้งตัวสีเหลืองหรือขาว สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์และสภาวะแวดล้อม
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร โดยลายจะจางลงไปเมื่อปลาโตเต็มที่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก และพบมากที่สุดที่ประเทศไลบีเรีย มีอุปนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว สำหรับในประเทศไทย ปลาหมอบัตเตอร์นับว่าเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีผู้เลี้ยงแล้วนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งไปแล้ว เช่นเดียวกับปลานิล