ย้อนไปก่อนวันเกิดเหตุ 3 – 4 วัน
ก่อนวันเกิดเหตุโคลนถล่ม 3 – 4 วัน เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องกันมาหลายวัน จนทำให้พื้นดินรวมทั้งเชิงเขาที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกยางพารา ซึ่งพื้นที่มีความเอียงมาก มันจึงทำหน้าที่ซับน้ำได้ไม่มากเท่าที่ควร จนถึงวันที่พื้นดินรับไม่ไหว
ในวันที่ 22 พ.ย. 2531 พื้นดินส่วนบนบางส่วนพังทลายลงมา ซึ่งมีสภาพเป็นโคลนถล่มพร้อมกับต้นไม้ในป่าและต้นยางพาราไหลทับถมลงมาอย่างรวดเร็ว พื้นที่ลาดชันบางส่วนแม้จะแข็งแรงรับนำหนักตัวเองได้พอควร ก็ไม่อาจรับน้ำหนักโคลนและท่อนไม้ที่ไหลทะลักรุนแรงยิ่งขึ้น
เหตุโคลนถล่มครั้งนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและมีชาวบ้านตายกว่า 230 คน บ้านเรือนเสียหาย 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 6,150 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้แอ่งตำบลกระทูนมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีทางน้ำและลำธารหลายสายซึ่งรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบที่เรียกว่าพื้นที่รับน้ำ ที่ประมาณจากแผนที่ภูมิประเทศเพียง 200-300 ตารางกิโลเมตร ไหลมารวมที่ช่องระบายน้ำออกจากแอ่งเขาพิปูนที่กว้างเพียงประมาณ 70 เมตร ทำให้โคลนและซุงมารวมจุดขวางทางอยู่ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเกิดสูงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ในตอนนี้ พื้นที่ ต.กะทูน ถูกสร้างเป็น ‘อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน’ ซึ่งสร้างขึ้นจากแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อกักเก็บน้ำและบรรเทาน้ำท่วม หลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2531
นับตั้งแต่อ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จ ก็ไม่มีใครได้เห็นสภาพของหมู่บ้านอีกเลย จนในปี 2561 น้ำภายในอ่างเก็บน้ำลดลงจนซากกะทูนหมู่บ้านวิปโยคโผล่พ้นน้ำ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี และเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นใหม่จะได้เห็นซากหมู่บ้านที่หลงเหลือจากมหาวิปโยคโคลนถล่ม ต.กะทูน