กลยุทธและเทคนิควิธีต่างๆ ที่ทใช้ในการตกปลาตามฟิชชิ่งปาร์กโดยเฉพาะกับปลาสวายนับเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความละเอียดพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบชุดปลายสาย หรือการเลือกใช้เหยื่อที่มีรูปแบบแตกต่างกัน ที่ซ่อนเร้นไปด้วยประสิทธิภาพให้เหล่านักตกปลาต้องพยายามค้นหา
โดยนักตกปลา (สวาย) บ่อที่คลุกคลีอยู่กับการตกปลามานาน มักจุรู้จักวิธีพลิกแพลงเทคนิคเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในขณะนั้น ที่จะช่วยให้บังเกิดผลแห่งความสำเร็จในการออกตกปลา (ล่ารางวัล) ในแต่ละแมตซ์
เทคนิควิธีในการตกปลาบ่อจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้การตกปลาตามหมายธรรมชาติ เพราะการตกปลาบ่อมิใช่เป็นเพียงการตกปลาที่อาศัยดวงเพียงอย่างดังที่หลายคนเข้าใจ แต่ท่านต้องรู้จักปรับเปลี่ยนกลยุทธกับชุดปลายสายอยู่ตลอดเวลา เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะการหากินเหยื่อของปลาในช่วงเวลานั้น เพราะการกินเหยื่อของปลาที่เลี้ยงอยู่ในฟิชชิ่งปาร์กแต่ละที่จะมีระดับความลึกที่แตกต่างกัน
และชนิดของเหยื่อที่ใช้เหยื่อเลี้ยงในแต่ละบ่อก็แตกต่างกันไปด้วย บ้างก็กินเหยื่อในระดับหน้าดินบ้างก็กินในระดับกลางน้ำ หรือบางครั้งก็ขึ้นมาอยู่ในระดับผิวน้ำเลย ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้นักตกปลาต้องเป็นคนช่างสังเกตแล้วจับจุดให้ได้ หลังจากนั้นก็มาคัดเลือกใช้อุปกรณ์ชุดปลายสายให้เหมาะสม แล้วโอกาสที่จะทำให้ปลาฉวยเหยื่อเร็วขึ้นก็จะเป็นไปได้สูง
เรื่องนี้พี่ คะนอง กิตติโกวิท ได้นำเสนอรายละเอียดคร่าวๆ ของเทคนิคตกปลาแบบ “จานบิน” ให้น้องๆ มือใหม่ได้รับทราบกันแล้ว มาในฉบับนี้ผมจะขอแนะนำการตกปลา (สวาย) ด้วยทุ่นลอยในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “กระสือ” ให้น้องๆ และเพื่อนๆ นักตกปลามือใหม่ได้รู้จักกันบ้างครับ
ลักษณะของทุ่น “กระสือ”
การตกปลาด้วยทุ่นลอยที่เรียกว่า “กระสือ” นี้เป็นการตกปลาในระดับผิวน้ำ เพราะการตกปลาในรูปแบบนี้ชุดอุปกรณ์ที่ใช้ในส่วนของสายหน้า จะประกอบไปด้วยทุ่นลอยหรือตะกร้อ ที่ได้มีการออกแบบจัดวางตำแหน่งของขดลวดที่เรียกว่า “ตะกร้อ” ไว้ใต้ทุ่นลอยแบบแนบชิดติดกันด้วยการยืดทุ่นลอยและตะกร้อให้ติดกันด้วยการร้อยลวดผ่านกลางของอุปกรณ์ทั้งสองชิ้น แล้วยึดติดอุปกรณ์ทั้งสองด้วยการร้อยลูกปัดและลูกหมุนทั้งทางด้านบนและด้านล่าง แต่ทุ่นกระสือบางรุ่นก็จะมีการร้อยตะกั่วไว้ในตะกร้อเพื่อเป็นการช่วยถ่วงน้ำหนักไม่ให้ทุ่นขยับเขยื้อนในช่วงที่ลมพัดแรง
จากลักษณะของทุ่นกระสือดังกล่าว หลายท่านคงพอจะนึกออกแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมถึงได้มีชื่อเรียกอุปกรณ์ชุดนี้ว่า “การตกปลาแบบกระสือ” ก็เนื่องมาจากลักษณะของชุดอุปกรณ์ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับผีในตำนานของไทยเราชนิด ที่มีแต่ศีรษะและพวงอวัยวะภายในห้องโตงเตงลอยไปลอยมา ที่เรารู้จักกันในนาม “ผีกระสือ” นั่นไง แต่ถ้าเป็นในวงการตกปลาคำว่า “กระสือ” ก็หมายถึงการตกปลาแบบทุ่นลอยที่มีลักษณะของการประกอบชุดปลายสายแบบที่ว่ามานั่นแหละครับ ซึ่งทุ่นลอยแบบกระสือนี้ท่านสามารถหาซื้อได้มาจากตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตกปลาโดยทั่วไป โดยไม่ต้องมานั่งประกอบเองให้ยุ่งยาก เพียงเอ่ยชื่อว่า “กระสือ” รับรองไม่มีร้านไหนที่ไม่รู้จัก
วิธีประกอบชุดกระสือ
หลังจากที่ท่านซื้อทุ่นกระสือมาแล้ว ก็นำมาผูกชุดลีดเดอร์เพื่อนำไปใช้งานอีกที ซึ่งอุปกรณ์ที่จะต้องหามาเพิ่มก็คือลีดเดอร์สายเอ็นหรือจะเป็นสายเดครอนก็ได้ ลูกหมุนและตัวเบ็ด โดยใช้สายเอ็นหรือสานเดครอนผูกเชื่อมกับลูกหมุนที่อยู่ใต้ตระกร้อ กะความยาวประมาณ 30-70 ซม. หลังจากนั้นจึงค่อยมาผูกต่อกับตัวเบ็ด ส่วนทางด้านบนใช้สายเดครอนที่มีขนาดปอนด์เทสต์ที่มากกว่าสายลีดเดอร์ ต่อขึ้นไปเหนือทุ่นยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ประโยชน์ของการใช้สายเดครอนผูกต่อเหนือทุ่นก็เพื่อเป็นการป้องกันการเสียดสีที่อาจเกิดจากการย้อนขึ้นมาพันของสายลีดเดอร์
สำหรับรูปแบบของทุ่นกระสือที่ใช้ส่วนตัวนั้น ผู้เขียนได้ทำการดัดแปลงเล็กน้อยตามประสบการณ์ที่ได้สังเกตุและศึกษาการตกปลาสวายตามบ่อมานานโดยลักษณะของทุ่นจะถูกตัดออกจนเหลือให้เห็นอยู่เล็กน้อยประมาณ 2-3 ซม. หลังจากนั้นจะใช้ไฟลนที่ขดลวด (ตะกร้อ) จนร้อน แล้วดันให้ฝังเข้าไปในตัวทุ่นหยอดกาวตราช้างยึดติดให้แน่นอีกที เหตุที่ต้องทำการดัดแปลงทุ่นกระสือให้ออกมาในลักษณะนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า ทุ่นกระสือแบบเดิมที่ทำออกมาจากจำหน่ายทั่วไปมักมีขนาดใหญ่ จึงมีพื้นที่ในการปะทะลมที่มากกว่า เมื่อตีเหยื่อในช่วงที่มีลมพัดแรงก็จะส่งผลทำให้ทุ่นลอยออกห่างจากฝูงปลา แต่ถ้าเป็นทุ่นที่โมขึ้นมาใหม่นี้โอกาสที่ถูกลมพัดให้ลอยออกห่างจากฝูงปลาตรงหมายที่เราตีเหยื่อลงไปก็จะน้อยลง
และจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการแตกตัวของเหยื่อ เพราะการตกปลาด้วยทุ่นกระสือนี้ มักจะต้องตีเหยื่อให้ตกลงตรงบริเวณที่มีฝูงปลาขึ้นน้ำ หากเหยื่อแตกตัวได้เร็วปลาก็ย่อมฉวยเหยื่อได้เร็วกว่าคนอื่น ผู้เขียนจึงได้ออกแบบทุ่นกระสือขึ้นมาอีกลักษณะหนึ่งด้วยการตัดยางโฟมหรือเศษทุ่นที่เหลือมาเหลาให้ได้รูปทรงคล้ายตะกั่วโอ่ง แล้วร้อยใส่เข้าไปในตระกร้อ เหตุผลก็เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อยึดติดกับขดลวดจนแน่นเกินไป และในส่วนของเหยื่อนั้น ท่านก็ควรเลือกใช้เหยื่อประเภทลอยน้ำ อย่างเช่นขอบขนมปังที่จะใช้ได้ผลดีกว่าเหยื่อชนิดอื่นๆ
ลักษณะการใช้งาน
จากประสบการณ์ที่สะสมมานานพอควร ผู้เขียนคิดว่าการเลือกใช้ชุดปลายสายให้ถูกต้องกับสถานการณ์ในแต่ละครั้งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะในสนามแข่งขันนั้นจะมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้ปลาเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการกินเหยื่อต่างไปจากในวันปกติธรรมที่มีคนตกน้อย ดังนั้นนักตกปลาทุกท่านจึงต้องรู้จักเป็นคนช่างสังเกต แล้วตามให้ทันเกมส์ที่เปลี่ยนไป
หลังจากที่ได้สังเกตเห็นว่าการตีเหยื่อหน้าดินในช่วงเช้าใช้ไม่ค่อยได้ผล มีปลาเข้าฉวยเหยื่อห่างตัวเกินไป ดังนั้นสิ่งที่ผิดปกติก็คงอยู่ที่ชุดปลายสายนั่นเอง ทำให้การเปลี่ยนวิธีการมาตกแบบทุ่นลอยก็น่าจะเวิร์กมากกว่า เพราะการตกแบบทุ่นลอยธรรมดาหรือที่เรียกว่า “จานบิน” นั้นสามารถที่จะปรับเปลี่ยนระดับความลึกของเหยื่อได้ (ซึ่งระดับลึกของเหยื่อจะอยู่ในตำแหน่งใดนั้น ทุกคนในทีมจะช่วยกันค้นหา)
แต่หากลองเลื่อนไลน์สต๊อปเปอร์ไปหลายระดับความลึกก็แล้วแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเสียที คราวนี้แหละจึงต้องลองมาตกแบบ “กระสือ” ดู เพราะบางครั้งฝูงปลาอาจจะขึ้นมาหากินอยู่ใกล้ๆ กับระดับผิวน้ำเลย ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้โดยเราอาจจะสังเกตุเห็นได้จากการที่ตีเหยื่อตกถึงผิวน้ำแล้วฝูงปลามันจะตกใจแตกตัวว่ายหนี ก่อนที่จะหันกลับมาฉวยเหยื่ออย่างเร็ว ทั้งและทั้งนั้นทุ่นกระสือจะใช้ได้ผลดีกับบ่อตกปลาที่มีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1-2 เมตรเท่านั้น หากบ่อไหนมีระดับน้ำลึกมากกว่านี้ก็ควรเลือดตกแบบจานบินที่น่าจะได้ผลกว่า เพราะเราสามารถเลื่อนไลน์ปรับเปลี่ยนระดับความลึกได้ตามต้องการนั่นเอง
สำหรับการเลือกใช้ “ทุ่นกระสือ”
ยังมีเทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 : สภาพลมนิ่ง
หากสถานการณ์ที่เป็นใจให้ท่านเลือกใช้ “ทุ่นกระสือ” ในการตกปลาและสภาพอากาศในขณะนั้นมีลมพัดเลาๆ หรือสงบนิ่ง ท่านก็ไม่ต้องไปเพิ่มเติมอุปกรณ์อะไรให้กับชุดทุ่นกระสือ เพียงแต่กำเหยื่อมาหุ้มตะกร้อแล้วก็หวดคันเบ็ดส่งเหยื่อให้ตกลงตรงฝูงปลา จากนั้นก็ถือคันรอปลาเข้าฉวยเหยื่อ แต่สิ่งที่ควรใจเพื่อเพิ่มโอกาสให้ปลากินเหยื่อเร็วขึ้น คือ การปั้นเหยื่อที่ท่านควรปั้นเหยื่อแบบหลวมๆ เพื่อให้แตกตัวได้เร็วที่สุด โดยมีเคล็ดไม่ลับดังนี้
– ให้เลือกใช้เหยื่อประเภทขอบขนมปังเพราะแตกตัวได้ดี
– การปั้นเหยื่อในชั้นแรกควรบีบเหยื่อหุ้มตะกร้อให้แน่น
– ส่วนการปั้นเหยื่อในชั้นที่สองนั้นให้กำหุ้มกับชั้นแรกแบบหลวมๆ พร้อมกับเหน็บขนมปังแผ่นชิ้นเล็กๆ ที่เกี่ยวกับตัวเบ็ดลงบนก้อนเหยื่อ เพื่อการป้องกันสายลีดเดอร์ย้อนขึ้นไปพ้นกับสายจากรอกขณะเหวี่ยงตีเหยื่อออกไป
กรณีที่ 2 : สภาพลมแรง
ถ้าหากตกปลาต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีลมพัดแรง ซึ่งจะทำให้ทุ่นขยับเขยื้อนเห็นเหตุให้เหยื่อแตกหลุดเร็วเกินไป และทุ่นลอยออกห่างจากฝูงปลา วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยให้ท่านเลือกใช้ท่านกระสือที่มีตะกั่วอยู่ในตะกร้อ หรืออาจจะใช้ตะกั่วโอ่งเม็ดเล็กๆ ร้อยเข้าไปให้อยู่เหนือท่านปล่อยให้วิ่งเป็นอิสระก็ได้ เพื่อทำหน้าที่สมอถ่วงไม่ให้ทุ่นขยับเขยื้อนจนลอยเลยฝูงปลาขณะที่ต้องเผชิญกับสภาพลมแรง และในช่วงของการปั้นเหยื่อ เราจะปั้นเหยื่อชั้นที่สองให้แน่นกว่าเดิมเล็กน้อยก็น่าจะดี
เรื่องราวที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นเทคนิคตกปลาที่เรียกว่า “กระสือ” โดยมีลักษณะการใช้งานที่เป็นแบบเฉพาะตัวที่เพื่อนักตกปลาต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เพราะการตกปลาตามฟิชชิ่งปาร์กนั้นมีเทคนิคอย่างอื่นอีกมากมายที่ต้องใช้ความคิดในการอ่านเกมส์ แล้วนำมาพลิกแพลงเทคนิคประกอบชุดปลายสายของท่าน แต่ไม่ว่าจะเป็นการประกอบชุดปลายสายแบบใดวิธีใด ต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปโดยไม่มีกฎเกณฑ์การใช้งานที่ตายตัว ท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดเอง อ่านมาถึงตรงนี้ทั้งน้องๆ และเพื่อนๆ มือใหม่ก็คงได้รู้จักกับ “ทุ่นกระสือ” กันแล้วใช่ไหมครับ