การวิจัยทำให้พบว่าเขียดงูบางชนิดอาจมีน้ำลายพิษ
สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายหนอนหรืองูที่เรียกกันว่า “เขียดงู” พวกมันมีผิวเรียบมันวาว แต่สิ่งที่นักวิจัยประหลาดใจก็คือ พวกเขาค้นพบบางส่วนของสายพันธุ์นี้ อาจจะมีพิษในน้ำลาย และนี่คือตัวอย่างแรกที่เคยพบในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างเขียดงู
เท่าที่ทราบในตอนนี้ เขียดงูที่มีเกือบ 200 ชนิด พวกมันเลื้อยผ่านป่าเขตร้อนทั่วโลก มีความยาวตั้งแต่ 9 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดยักษ์ที่มีความยาวเกือบ 150 เซนติเมตร ที่เรียกว่า เคซีเลีย ทอมป์โซนี (Caecilia thompsoni) มันเป็นเขียดงูที่พบในโคลอมเบีย และสัตว์สายพันธุ์นี้ เกือบทั้งหมดจะอาศัยอยู่ใต้ดิน จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกมันจะเป็นสัตว์ที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุด
โดยปกติเขียดงูเป็นสัตว์ที่มีฟันเหมือนเข็มสามแถวอยู่ในปาก สองแถวที่ด้านบนและอีกแถวที่ด้านล่าง มันน่าจะช่วยให้พวกมันสามารถจับและกลืนเหยื่อเช่นไส้เดือนได้ง่าย
แต่ในขณะที่เขียดงูที่ถูกจับได้ในบราซิล นักวิจัยได้ค้นพบชุดของต่อมบริเวณฟันที่ไม่เคยมีใครอธิบายเอาไว้มาก่อน ซึ่งเป็นต่อมที่คอยผลิตน้ำลายและอาจเป็นเอนไซม์พิษ แต่มีคำเตือนว่า! เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า น้ำลายของเขียดงูชนิดนี้ เป็นพิษจริงหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้นมันจะเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก
หากเขียดงูชนิดที่ว่านี้มีพิษ นั้นหมายความว่าพิษมีวิวัฒนาการอย่างอิสระ ทั้งในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน หากเป็นเช่นนี้มันจะกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ใหม่ ที่เรารู้เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของพิษ
การหาตัวอย่างมาศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้ว่าพวกนักวิจัยจะชอบศึกษาสัตว์ประหลาดพวกนี้มาก แต่มันเป็นเรื่องจริงที่เขียดงูนั้นหาได้ยากมาก อาจต้องใช้เวลามากกว่า 20 ชั่วโมง ในการค้นหาที่อยู่ของพวกมัน แล้วยังต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจับพวกมันขึ้นมาจากดินอย่างปลอดภัย
เมื่อหาตัวอย่างใหม่ได้แล้ว ต่อไปก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาชีวเคมีและเภสัชวิทยาตรวจสอบ เพื่อให้รู้ความจริงเกี่ยวกับต่อมน้ำลายในปากของพวกมัน ..แล้วก็มีเรื่องน่าสงสัยว่าน้ำลายของเขียดงู อาจไม่ใช่พิษอย่างที่คิด บางทีน้ำลายอาจถูกใช้เพื่อให้เขียดงูกินไส้เดือนได้ง่ายขึ้น หรืออาจช่วยในกระบวนการย่อยของพวกมัน
แต่ถึงอย่างงั้น พิษจำนวนมากก็มีวิวัฒนาการมาจากน้ำลาย ในช่วงแรกๆ ของเหลวในปากอาจเริ่มจากการหล่อลื่น จากนั้นก็จะเปลี่ยนไปเพื่อช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น และในที่สุดก็พัฒนาความสามารถจนเป็นอันตรายกับสัตว์อื่นๆ ตัวอย่างสัตว์ที่มีน้ำลายมีพิษ ได้แก่ งู, มังกรโคโมโด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างค้างคาวบางชนิด
สุดท้ายหลังจากนำตัวอย่างมาศึกษาในขั้นต้น นักวิจัยก็ได้ข้อสรุปว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างเขียดงู มีผิวหนังที่อุดมไปด้วยสารพิษที่ใช้เพื่อป้องกันตัวแบบพาสซีฟ พวกมันต่างจากงูที่มีการใช้พิษเพื่อป้องกันตัวแบบแอคทีฟ แต่ถึงอย่างงั้น เขียดงูบางชนิดก็มีต่อมที่ฐานของฟัน ซึ่งใช้เพื่อผลิตเอนไซม์ที่มักจะพบในพิษ
และจากการวิเคราะห์ต้นกำเนิดของต่อมเหล่านี้ ก็พบว่ามันคล้ายกับต่อมพิษในสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดการณ์ว่า เขียดงูอาจกำลังพัฒนากลไกการผลิตและการฉีดสารพิษ และอาจอยู่ในช่วงต้นของวิวัฒนาการ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเขียดงูและงูดิน
หลายคนน่าจะคิดว่า เขียดงูและงูดิน เหมือนกัน! ความจริง ไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพื่อแก้ความเข้าใจผิดนี้ ผมจึงทำเรื่องนี้เสริมเข้ามา โดยสัตว์ในกลุ่ม “สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ” ที่มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน สามารถแยกออกได้เป็น 3 อันดับ คือ อันดับกบ (Anura) อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวต์ (Caudata) สุดท้ายคือ อันดับเขียดงู (Gymnophiona)
โดยสัตว์ที่อยู่อันดับเขียดงู จัดเป็นสัตว์ที่ได้รับสนใจน้อยที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าพวกมันไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ถึงอย่างงั้นก็มีความสำคัญในทางวิทยาศาสตร์
และตามข้อมูลเก่าระบุว่า ชื่อ “เขียดงู” ถูกเรียกเป็นครั้งแรกโดย คุณวิโรจน์ นุตพันธุ์ สัตว์ในกลุ่มนี้ แม้จะมีลักษณะคล้ายงู แต่เพราะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จึงไม่ควรเรียกว่า “งูดิน” หรือ “งูปลิง” ซึ่งจะสร้างความสับสนกับงูดินและงูปลิง ซึ่งเป็นงูแท้และเป็นสัตว์เลื้อยคลาน
สำหรับในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเขตร้อนของโลก จึงสามารถพบเขียดงูได้ทั่วประเทศ แต่ก็ต้องเป็นสภาพแหล่งอาศัยที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งบริเวณที่มีความชื่น มีร่มเงาเพียงพอ ตั้งแต่พื้นที่ราบไปจนถึงสูงกว่า 1,800 เมตร อย่างบนดอยอินทนนท์
หากถามว่าจะแยกเขียดงูและงูดินยังไง? ความจริงทั้งสองแยกได้ไม่ยากเท่าไร เพราะถึงแม้พวกมันจะคล้ายกัน แต่งูดินมักจะมีเกล็ดเล็กๆ ที่พอจะสังเกตุเห็นได้ ในขณะที่เขียดงูมักจะมีผิวที่เรียบเป็นมันและมีลักษณะเป็นปล้องๆ หากเห็นตัวที่ดูเป็นปล้องๆ นั้นละเขียดงูแน่นอน
เขียดงูในประเทศไทย
อย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้นว่า เขียดงูที่พบในไทย มีอยู่ 1 วงศ์ 2 สกุล และมีอย่างน้อย 6 ชนิด เช่น เขียดงูหัวแหลม (Ichthyophis acuminatus), เขียดงูดอยสุเทพ (Ichthyophis youngorum), เขียดงูศุภชัย (Ichthyophis supachaii), เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis), เขียดงูดำ (Caudacaecilia larutensis) และ เขียดงูบอร์เนียว (Caudacaecilia asplenia) …ต่อไปเป็นรายละเอียดคร่าวๆ ของเขียดงู แต่ขอยกมาพูดเพียง 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 – เขียดงูดอยสุเทพ (Ichthyophis youngorum)
เขียดงูดอยสุเทพ (Chang Mai Caecilian) มีความยาวประมาณ 24 เซนติเมตร ลําตัวยาวคล้ายงู ไม่มีขา ผิวหนังบริเวณลําตัวเป็นปล้องรอบลําตัว โดยมี 324 ปล้อง หางสั้นมาก ปลายแหลม หัวมนแบน ตาขนาดเล็กอยู่ใต้ผิวหนัง ลําตัวสีน้ำตาลเทา อมม่วง ไม่มีแถบกว้างสีเหลืองข้างลําตัว หัวสีเข้ม บริเวณหน้ามีจุดสีขาว 1 จุด ด้านท้องสีอ่อนกว่าด้านบน
จัดเป็นเขียดงูที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย บนดอยสุเทพ, ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สถานะการอนุรักษ์ = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
ชนิดที่ 2 – เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis)
เขียดงูเกาะเต่า หรือ เขียดงูสวน (Koa Tao Island Caecilian) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลำตัวคล้ายงู มีปล้องลำตัวจำนวน 360 – 366 ปล้อง ระหว่างป้องมีร่องพาดขวางลำตัวเฉพาะด้านหลัง นอกจากร่องทางส่วนท้ายของลำตัวที่พาดโดยรอบ หัวและหางเรียวเล็กกว่าลำตัว ตาเล็กแต่ก็มองเห็นได้ชัด
เขียดงูเกาะเต่า พบในพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ส่วนในประเทศไทยพบได้เกือบทุกภาค ชอบอยู่ใต้กองใบไม้ที่ค่อนข้างชื้น ตามพื้นล่างของป่าดินแล้งที่อยู่ใกล้ลำห้วย หรือในดินค่อนข้างร่วนซุย สถานะการอนุรักษ์ = ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
สุดท้าย! ความจริงผมเองก็อยากจะพูดถึงเรื่องของเขียดงูในไทยมากกว่านี้ เพียงแต่ข้อมูลของพวกมันน้อยมากๆ อาจเพราะพวกมันเป็นสัตว์ที่หายากมาก ยากขนาดที่ว่าพอมีคนถ่ายคลิปของเขียดงูพวกนี้มาได้ บางทีก็ถึงกับกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งเลยทีเดียว และหากถามว่าเขียดงูพวกนี้อันตรายหรือไม่? คำตอบคือไม่! และถึงเป็นชนิดที่น้ำลายมีพิษ มันก็ยังไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์อยู่ดี
หากเดินไปเจอ ก็อย่าไปยุ่งกับพวกมัน หรือ หากมันเข้ามาในพื้นที่ของคุณ ก็แค่จับมันเบาๆ แล้วเอาไปปล่อยแถวๆ ดิน ร่มๆ ถ้ามีความชื่นมากๆ ก็ยิ่งดี หากกลัวก็อย่าไปตีมัน หาอะไรตักมันไปก็ได้ …ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ที่เข้าใจยากพวกนี้ อนาคตจะได้เหลือเอาไว้ในรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นกัน